การฟื้นตัวของวงการเพลง

Logo Thai PBS
การฟื้นตัวของวงการเพลง

หลังต่อสู้กับการละเมิดลิขสิทธิ์กว่าทศวรรษ วันนี้อุตสาหกรรมดนตรีโลกกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง จากศิลปินที่สร้างปรากฏการณ์แก่วงการเพลง แต่ปัญหาใหญ่ยังคงอยู่ที่การดาวน์โหลดเพลงแบบผิดกฎหมาย ที่แก้ได้อย่างยากเย็นจนทุกวันนี้

Skyfall บทเพลงที่เปี่ยมพลัง ส่งให้นักร้องสาว อาเดล และคู่หูนักประพันธ์เพลง พอล เอปเวิร์ธ คว้ารางวัลออสการ์สาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม นับเป็นหนึ่งในเกียรติยศที่นักร้องสาวอังกฤษวัย 24 ปีได้รับตลอดปีที่ผ่านมา จากผลสำรวจของสมาพันธ์ผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียงระหว่างประเทศหรือ IFPI พบว่าผลประกอบการของอุตสาหกรรมดนตรีทั่วโลกมีการเติบโตเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี หลังซบเซามาตลอดเพราะปัญหาการดาวน์โหลดเพลงละเมิดลิขสิทธิ์

ข้อมูลของ IFPI เผยว่าปลายยุค 90 ผู้ฟังยังนิยมฟังเพลงจากแผ่นเสียง หรือซีดี ทำให้วงการดนตรีมีรายได้ปีละเกือบ 30,000 ล้านดอลลาร์ แต่เมื่อ napster เว็บไซต์แชร์ไฟล์เอ็มพี 3 ต้นยุค 2000 มาถึง กลับทำให้วงการดนตรีต้องสูญเสียรายได้เฉลี่ยกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ทุกปี จึงหันมาหาช่องทางทำรายได้ใหม่กับการจำหน่ายเพลงแบบดิจิตอล และการเก็บค่าลิขสิทธิ์เผยแพร่บทเพลงผ่านสื่อ และการแสดง ทำให้รายได้ตลอดปี 2012 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 0.3 หรือประมาณ 100 ล้านดอลลาร์

ปัจจัยของการฟื้นตัวมาจากความสำเร็จของบริการวิทยุอินเทอร์เน็ตที่สร้างความสะดวกสบายใแก่ผู้ฟัง ทั้งในสหรัฐฯ บราซิล เม็กซิโก และอินเดีย จนจำนวนผู้ฟังเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดจากปี 2011 ถึงร้อยละ 44 โดยเฉพาะในสวีเดน แดนกำเนิดของ Spotify วิทยุอินเทอร์เน็ตชั้นนำของโลก ประเมินว่าประชากร 1 ใน 3 ต่างเป็นสมาชิกของ Spotify

ทุกวันนี้อุตสาหกรรมดนตรีทุ่มงบประมาณกว่า 1 ใน 4 ของรายได้หรือกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อผลักดันศิลปินหน้าใหม่กระตุ้นความสนใจของแฟนเพลง เห็นได้จากความสำเร็จของศิลปินหน้าใหม่ของอังกฤษในอเมริกาตลอดปีที่ผ่านมา ทั้ง อาเดล ที่ส่ง 21 เป็นอัลบั้มด้วยยอดขายสูงสุดกว่า 8 ล้านชุด ขณะที่ One Direction ผู้นำกระแสบอยแบนด์ ทำยอดขายกว่า 9 ล้านชุดจากผลงาน 2 อัลบั้ม ยังมีเพลงดังระดับนานาชาติ ทั้ง Gangnam Style จากเกาหลีใต้ หรือ Ai Se Eu Te Pego เพลงดังจากบราซิล ก็ล้วนมาจากศิลปินที่เพิ่งเป็นที่รู้จักของแฟนเพลงทั่วโลกทั้งสิ้น

แม้รายได้หลักจะมาจากซีดี และแผ่นเสียง แต่ยอดจำหน่ายที่ลดลงอย่างต่อเนื่องก็ไม่ได้สร้างความกังวลแก่อุตสาหกรรมดนตรีมากไปกว่าการละเมิดลิขสิทธิ์บนโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นอนาคตของวงการเพลง เพราะประเมินกันว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 1 ใน 3 ทั่วโลกยังคงดาวน์โหลดเพลงแบบผิดกฎหมาย โดยตัวแทนของ IFPI ได้ขอร้องไปยังกูเกิลให้ช่วยแก้ปัญหาด้วยการกลั่นกรองผู้ใช้เซิร์ชเอ็นจินเข้าถึงเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ได้ยากกว่าที่เป็นอยู่ในวันนี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง