บทสรุปการวิเคราะห์มุมมองเศรษฐกิจไทย ไตรมาสที่ 2 ปี 2556

3 พ.ค. 56
07:08
143
Logo Thai PBS
บทสรุปการวิเคราะห์มุมมองเศรษฐกิจไทย  ไตรมาสที่ 2 ปี 2556

โดย ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ Chief Economist และ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC)

 ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) ประเมินเศรษฐกิจไทยมีศักยภาพที่จะขยายตัวได้ 5.1% ในปี 2556 โดยแรงขับเคลื่อนหลักยังคงมาจากการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนที่แข็งแกร่ง และการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐ ซึ่งการลงทุนนอกงบประมาณในส่วนของแผนบริหารจัดการน้ำ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานนั้นจะเป็นส่วนสำคัญของการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไป สำหรับการส่งออกของไทยในปีนี้ยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และผู้ส่งออกจะ

 
ต้องพบกับความท้าทายจากทั้งความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลก และการแข็งค่าของเงินบาท ทั้งนี้ EIC คาดว่าความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกที่ต้องให้ความสำคัญในปีนี้ได้แก่ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากการตัดลดงบประมาณรายจ่าย (Automatic Sequestration), ความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะลดขนาดหรือยุติการดำเนินนโยบายผ่อนคลายเชิงประมาณ (Quantitative Easing: QE) ของสหรัฐฯ รวมไปถึงการชะลอมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลังของกลุ่มประเทศยูโรโซน
 
การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ เป็นปัจจัยที่ควรให้ความสำคัญ EIC ประเมินว่าการลงทุนจากภาครัฐจะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ และการขยายตัวอาจได้รับผลกระทบหากการเบิกจ่ายที่เกี่ยวข้องกับแผนบริหารจัดการน้ำ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมีความล่าช้า สำหรับผลกระทบในระยะต่อไปจากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐต่อความเพียงพอของสภาพคล่องนั้น EIC ประเมินว่าผลกระทบจะมีไม่สูงมากนัก เนื่องจากลักษณะของการลงทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป และการเข้าสู่งบประมาณสมดุลของรัฐบาลภายในปี 2560 จะส่งผลให้ความต้องการเงินกู้ของภาครัฐในระยะข้างหน้าไม่แตกต่างจากระดับที่ผ่านมามากนัก
 
EIC ประเมินค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าไปอยู่ที่ระดับ 28.5 - 29 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ ในช่วงสิ้นปีนี้ ซึ่งการที่ค่าเงินบาทมีการแข็งค่าอย่างรวดเร็วในช่วงต้นปีนี้นั้น มีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจาก 1) ภาวะเงินทุนไหลเข้าจากการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินในปริมาณมากของธนาคารกลางของสหรัฐฯ และญี่ปุ่น และ 2) การชะลอการแทรกแซงค่าเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 
 
สำหรับแนวโน้มในระยะต่อไปของปีนั้น EIC ประเมินว่าการแข็งค่าของเงินบาทซึ่งสวนทางกับค่าเงินสกุลหลักอื่นๆในอาเซียนน่าจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น และในระยะต่อไป ทางธปท.น่าที่จะมีการดูแลค่าเงินบาทให้กลับมาเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินสกุลหลักอื่นๆของอาเซียนเนื่องด้วยปัจจัยพื้นฐานที่คล้ายคลึงกัน 
 
นอกจากนี้การแข็งค่าของเงินบาทจะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกแตกต่างกันไปในแต่ละภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเมื่อพิจารณาจากปัจจัยต่างๆอันได้แก่สัดส่วนการพึ่งพาการส่งออก อัตรากำไรสุทธิ ความอ่อนไหวของปริมาณการส่งออกต่อระดับราคา และผลประโยชน์จากต้นทุนน้ำเข้าที่ลดลงแล้ว EIC ประเมินว่าภาคอุตสาหกรรมที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดได้แก่ ยางพารา อาหารทะเลแปรรูป ผักและผลไม้แปรรูป เครื่องนุ่งห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ และข้าว
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง