สำรวจศึกเลือกตั้ง 2554 เส้นทางเงินสะพัด 3.9 หมื่นล้านบาท ไม่รวมงบใต้ดิน "อีสาน"เม็ดเงินสะพรั่งสุด

การเมือง
16 มิ.ย. 54
10:12
12
Logo Thai PBS
สำรวจศึกเลือกตั้ง 2554 เส้นทางเงินสะพัด 3.9 หมื่นล้านบาท ไม่รวมงบใต้ดิน "อีสาน"เม็ดเงินสะพรั่งสุด

ศึกษาพบยุทธการกลุ่มการเมือง สร้างกระแสปลุกเร้ากลุ่มคนหาเสียงก่อกวนฝ่ายตรงข้าม คู่ขนานกันไป เป็นวิธีที่ยังไม่เคยมีมาก่อน

หลังจากที่มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 และกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม 2554 แล้ว จะเห็นได้ว่าพรรคการเมืองต่างๆ ก็ลงมือรณรงค์หาเสียงกันอย่างเข้มข้นทันที

เป็นที่น่าสังเกตว่าการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ทุกพรรคการเมืองต่างมีความพร้อมในการลงสนามแข่งขันเลือกตั้งมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ทั้งนี้ เนื่องจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้ประกาศไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 2554 ว่าจะมีการยุบสภาในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม 2554 ทำให้หลายพรรคการเมืองเริ่มวางแผนในการรณรงค์หาเสียงหลายรูปแบบมาเป็นเวลานานพอสมควร

รูปแบบการหาเสียงที่ใช้กันมากก็คือ การระดมติดแผ่นป้ายโฆษณากลางแจ้งขนาดเล็กและขนาดกลาง เพื่อช่วงชิงพื้นที่ตามเสาไฟฟ้า ต้นไม้ บริเวณสี่แยก บนถนนสายหลัก สายรอง ตามตรอก ซอกซอยต่างๆ โดยแผ่นป้ายที่ปิดช่วงแรกจะมีเฉพาะรูป ชื่อผู้สมัคร และพรรคการเมือง แต่ยังไม่มีหมายเลยประจำตัว และหมายเลขพรรค สำหรับรูปแบบหาเสียงที่พรรคการเมืองนิยมใช้กันรองลงมาได้แก่ การแจกแผ่นพับชื่อผู้สมัครและหมายเลขพรรคการเมือง

แต่หลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรับสมัครพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้ง พร้อมกับมีการจับสลากได้เบอร์ประจำพรรค จะเห็นว่าทุกพรรคการเมืองต่างก็ติดหมายเลขพรรคเพื่อหาเสียงกันทันทีเต็มไปทั้งในกรุงเทพมหานครและในต่างจังหวัดทั่วประเทศ

ทั้งนี้ยังไม่นับรวมการใช้แผ่นป้ายหาเสียงล่วงหน้าขนาดใหญ่กลางแจ้งของหลายพรรคการเมืองในต่างจังหวัดที่มีการติดตั้งไว้เป็นเวลานานนับปี เพื่อรอสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้

ส่วนรูปแบบการหาเสียงแบบใหม่ๆ จะพบได้ว่าหลายพรรคการเมืองมีการใช้อินเตอร์เน็ต และสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เพื่อการเผยแพร่นโยบายของพรรคการเมืองไปยังกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในกลุ่มของคนรุ่นใหม่และผู้ที่ใช้อินเตอร์เน็ตมากขึ้น

ศึกเลือกตั้งปี 2554 ยังมีรูปแบบการรณรงค์ที่แตกต่างไปจากในอดีต นั่นก็คือ มีการรณรงค์ของกลุ่มการเมืองเพื่อการสร้างกระแสปลุกเร้ากลุ่มคนที่สนับสนุนพรรคการเมือง ซึ่งการรณรงค์ของกลุ่มการเมืองจะมีคู่ขนานไปกับการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองเป็นรูปแบบใหม่ที่ยังไม่เคยมีมาก่อน

อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งครั้งนี้รูปแบบการหาเสียงโดยทั่วไปก็จะคล้ายๆกับการเลือกตั้งในอดีตที่ผ่านมา ได้แก่ การปราศรัยหาเสียง เดินสายพบประชาชน โฆษณานโยบายพรรคการเมือง  การใช้ระบบหัวคะแนน  เป็นต้น

สำหรับในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดประมาณ 39,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งปี 2550 ที่มีเม็ดเงินประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการหาเสียงที่เพิ่มสูงขึ้น รวมไปถึงการเน้นการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ของพรรคการเมืองที่มุ่งชิงตำแหน่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลทำให้เม็ดเงินในศึกเลือกตั้งครั้งนี้เพิ่มสูงตามไปด้วย

โดยเม็ดเงินส่วนใหญ่จะกระจายอยู่ในพื้นที่ภาคอีสานที่มีตำแหน่ง ส.ส. มากที่สุดในประเทศไทย และรองลงมาได้แก่ พื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นศูนย์รวมของระบบสื่อสารโทรคมนาคม โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ โรงพิมพ์ขนาดใหญ่ นอกจากนั้นเม็ดเงินเลือกตั้งยังกระจายลงไปยังจังหวัดขนาดใหญ่ที่มีการแข่งขันกันสูงในแต่ละภาค

ระบบหัวคะแนนของพรรคการเมืองต่างๆ มีส่วนสำคัญในการกระจายเงินเม็ดเงินเลือกตั้งผ่านเครือข่ายจัดตั้งต่างๆ เช่น เจ้ามือหวย โต๊ะพนันบอล และระบบขายตรง (Direct Sale) รวมไปถึงธุรกิจสิ่งพิมพ์ รถยนต์รับจ้าง และธุรกิจให้เช่าเครื่องขยายเสียง ธุรกิจให้เช่าเต็นท์และเวที ร้านขายดอกไม้ ธุรกิจผ้าใบ ไวนิล และอิงค์เจ็ท จะได้รับเม็ดเงินจากการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง