ย้อนอดีต "ไฟฟ้าดับทั่วประเทศ" พ.ศ.2521 อีกครั้งกับประวัติศาสตร์ในเมืองไทย

สังคม
22 พ.ค. 56
02:12
10,744
Logo Thai PBS
ย้อนอดีต "ไฟฟ้าดับทั่วประเทศ" พ.ศ.2521 อีกครั้งกับประวัติศาสตร์ในเมืองไทย

วันที่ 5 เมษายน 2556 คนกรุงเทพฯ และคนส่วนใหญ่ รับรู้และเกาะติดสถานการณ์กันว่า ประเทศไทยเผชิญวิกฤตไฟฟ้า หลังพม่าหยุดจ่ายก๊าซให้ไทย จนเกรงกันว่า อาจเกิดปัญหาไฟตก หรือไฟดับ เพราะอยู่ในช่วงหน้าร้อน ที่มีการทำลายสถิติใช้ไฟฟ้ายอดพุ่งปรี๊ด พอๆ กับอุณหภูมิที่ไต่ระดับระอุ ตามความร้อนแรงทีเดียว

 แต่แล้วเมื่อช่วงใกล้ค่ำ เวลา 18.52 น. วันที่ 21 พฤษภาคม 2556 ที่ไม่เคยมีใครนึกถึง จาก "อุบัติเหตุไฟดับเป็นวงกว้าง" ก็เกิดขึ้นใน 14 จังหวัดภาคใต้ เมื่อกระแสไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง ตั้งแต่จ.ชุมพร มืดไปจนถึง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทบทั้ง ยะลา นราธิวาส ปัตตานี ชนิดทำเอาลือกันหึ่งว่า เป็นฝีมือของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบโจมตี หลังมีการสะพัดก่อนหน้าจะลงมือทำก่อกวนสถานการณ์ใหญ่ ควบคู่มากับ ลือว่าเกิดการปฎิวัติในไทยขึ้นอีกครั้ง

 
พื้นที่ด้ามขวานของไทย มืดมิดเกือบทั้งหมด มีตั้งแต่ไฟดับประมาณ 20 นาที ไปจนถึง 2 ชั่วโมงกว่า จนกระทั่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) สามารถกู้สถานการณ์กลับมาได้ทั้งหมด ก็ปาเวลาเข้าไป 5 ทุ่มกว่าๆ 
 
มีการประมาณการกันว่า ไฟดับวงกว้าง ใน14 จังหวัดนี้ มีผลกระทบและสร้างความสูญเสียไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท ทั้งพื้นที่เศรษฐกิจ แหล่งท่องเที่ยว ฯลฯ
 
ย้อนดูกันว่า เหตุการณ์ไฟฟ้าดับแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว และถูกจารึกเป็นประวัติการณ์เลยทีเดียว แม้เคยเกิดขึ้น "ครั้งเดียว" ก็ตาม
 
จากสถิติไฟฟ้าดับทั่วประเทศไทย พ.ศ. 2521 ทำเอาประเทศไทย ตกอยู่ในสภาพไร้ไฟฟ้าใช้กันถ้วนหน้า นั่นคือ วันเสาร์ที่ 18 มีนาคม 2521
ซึ่งเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ ภาษาอังกฤษเรียกว่า  Blackout ทั่วประเทศไทย เป็นระยะเวลายาวนานที่สุด นับแต่ก่อตั้งการไฟฟ้าขึ้นในเมืองไทย สาเหตุเกิดจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ของโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ซึ่งเป็นกำลังการผลิตสำคัญของประเทศ เกิดเหตุขัดข้องขึ้น ทำให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าอื่นๆ ทั่วประเทศ ซึ่งมีระบบการทำงานต่อเนื่อง เป็นอันขัดข้องตามกันไปด้วย 
 
เหตุของการเกิดไฟฟ้าดับ ในทุกภูมิภาคของประเทศ เริ่มตั้งแต่เวลา 07:40 น. สำหรับในเขตภาคเหนือ ประมาณ 1 ชั่วโมง เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 15 นาที เขตภาคกลาง ประมาณ 1 ชั่วโมง และเขตนครหลวง ประมาณ 2 ชั่วโมง จึงสามารถกลับมาเริ่มจ่ายไฟฟ้าได้ในบางพื้นที่ จนกระทั่งครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศตามปกติ เมื่อเวลา 17:00 น. รวมเป็นระยะเวลานานถึง 9 ชั่วโมง 20 นาที โดยหลังจากคราวนั้นแล้ว ก็ไม่เคยเกิดเหตุเช่นนี้ขึ้นอีกจนเมื่อค่ำวันที่ 21 พฤษภาคม 
 
ปัญหาไฟฟ้าดับ สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  มีข้อมูลระบุว่า เหตุการณ์ไฟฟ้าดับทั่วประเทศ (Black Out) ถือว่าเป็นเหตุการณ์รุนแรง ซึ่งมีความเสียหายมากมายมหาศาลต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ ซึ่งมีสาเหตุจากระบบการผลิตไฟฟ้า คล้ายคลึงกับการแข่งขันชักเย่อที่มีผู้เล่นทั้งสองฝ่ายจำนวนเท่า ๆ กัน ต่างดึงด้วยกำลังใกล้เคียงกันจะทำให้การดึงนั้นอยู่ในสภาวะสมดุล แต่ถ้าผู้เล่นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดล้มลงกระทันหันเพียงคนเดียวก็จะทำให้ผู้เล่นทั้งหมดลองฝ่ายนั้นล้มลง และถูกกระชากไปทั้งหมด
 
การผลิตไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลาจะต้องสมดุลกับความต้องการใช้ในขณะนั้น ถ้าโรงไฟฟ้าแห่งใดแห่งหนึ่งเกิดความขัดข้องและหลุดออกจากระบบการผลิตโดยมิได้คาดคิดหากไม่มีระบบป้องกันที่ดีและมีประสิทธิภาพก็อาจทำให้ระบบการผลิตของโรงไฟฟ้าทั้งหมดหลุดออกจากระบบได้เกิดเป็นความเสียหายเป็นวงกว้าง หรือถึงกับเกิดไฟฟ้าดับทั่วประเทศ
 
สาเหตุของแบล๊กเอาท์นี้แม้ว่าจะเกิดขึ้นเพียงเวลาไม่กี่นาที หรือ ไม่กี่ชั่วโมงก็สามารถสร้างความเสียหายมหาศาลต่อเศรษฐกิจ สังคม หรือความมั่นคงของประเทศได้ โดยเฉพาะอย่างยื่งในโลกปัจจุบันที่มีการเชื่อมโยงกันด้วยระบบสื่อสารคอมพิวเตอร์และระบบอิเลคทรอนิคส์ต่าง ๆ วงจรชีวิตตลอด 24 ชั่วโมง จึงผูกพันกับกระแสไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็นในเวลาหลับหรือตื่นก็มีประแสไฟฟ้าเข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันทั้งสิ้น แม้เพียงเกิดไฟฟ้าขัดข้องเพียงเล็กน้อย เช่น การกระเพื่อม หรือ กระพริบของกระแสไฟฟ้าเพียงวินาทีเดียวก็สามารถก่อให้เกิดความเสียหายต่อการทำงานของอุปกรณ์ไฟฟ้า หรือการใช้ชีวิตประจำวันของมษุษย์เราได้
 
สำหรับประเทศไทยค่อนข้างโชคดีกว่าประเทศอื่น ๆ เพราะว่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2512 หรือเป็นปีที่ก่อตั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ก็มีเหตุการณ์ไฟฟ้าดับทั้งประเทศเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว คือ
 
เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2521 เวลา 07.45 น. โดยมีสาเหตุจากโรงไฟฟ้าพระนครใต้ซึ่งมีกำลังจ่ายอยู่ที่ 1,030 เมกกะวัตต์ ทั้ง 4 เครื่อง เกิดขัดข้องในขณะจ่ายกระแสไฟฟ้าซึ่งเป็นกำลังการผลิตหลักที่จ่ายให้กับระบบไฟฟ้าทั้งหมดร้อยละ 77 ของความต้องการในขณะนั้น และทำให้โรงไฟฟ้าที่เหลือเกิดความขัดข้องและหลุดไปจากระบบไปด้วย หรือเกิด BlackOut นั่นเอง ซึ่งจากเหตุการณ์ครั้งนั้นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยต้องใช้เวลาถึง 9 ชั่วโมง 20 นาที จึงสามารถนำระบบให้กลับสู่สภาวะปกติ
 
ในต่างประเทศก็มีเหตุการณ์ไฟ้าดับทั่วประเทศเช่นเดียวกันและค่อนข้างจะรุนแรงกว่าในประเทศไทยเสียด้วยซ้ำ และได้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ การลงทุน และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในประเทศนั้นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น การเกิดแบล๊คเอาท์ในประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2539 ได้เกิดกระแสไฟฟ้าดับทั่วประเทศเป็นเวลานานถึง 16 ชั่วโมง สร้างความเสียหายไม่น้อยกว่า 1,250 ล้านบาท โดยได้เกิดความขัดข้องจากโรงไฟฟ้า PAKAR ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนซึ่งมีกำลังผลิต 900 เมกกะวัตต์ เกิดหลุดออกจากระบบขณะกำลังจ่ายไฟ ซึ่งหากศูนย์ควบคุมการจ่ายไฟฟ้าของมาเลเซียสามารถตัดการจ่ายกระแสไฟฟ้าในบางพื้นที่ได้ทัน ก็จะไม่เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับทั่วประเทศ หรือ BlackOut ขึ้น จะมีก็เพียงแต่การเกิดไฟฟ้าขัดข้องในบางพื้นที่ (Patia Blackout) เท่านั้น 
 
แต่เนื่องจากคราวนั้นได้เกิดความผิดพลาดทางเทคนิคที่ศูนย์ควบคุมไม่สามารถควบคุมการตัดจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ จึงทำให้ระบบการจ่ายไฟล่มสลาย โรงไฟฟ้าทั้งหมดจึงหลุดออกจากระบบทันทีและทุกอย่างก็สายเกินกว่าการแก้ไขได้ทัน ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าดับทั่วประเทศมาเลเซียนานถึง 16 ชั่วโมง สร้างความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน ประชาชนจำนวนมากต้องอยู่ท่ามกลางความมืด บ้างก็ติดอยู่ในลิฟต์โดยสาร บ้างก็เสียชีวิตเนื่องจากเครื่องช่วยชีวิตในโรงพยาบาลไม่ทำงาน ความเสียหายที่เกิดขึ้นสร้างความไม่เชื่อมั่นต่อการลงทุนที่นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนต่างต้องการความเชื่อมั่นของระบบไฟฟ้าที่เชื่อถือได้ด้วย
 
ในปัจจุบันหากเกิดกระแสไฟฟ้าดับทั่วประเทศอย่างเช่นเมื่อ 19 ปีก่อนจะสร้างความเสียหายและความสูญเสียทางเศรษฐกิจมหาศาลประมาณค่ามิได้ เพราะในปี พ.ศ.2521 มีความต้องการกระแสไฟฟาเพียง 2,000 เมกกะวัตต์ แต่ในปัจจุบันทั้งทางภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการไฟฟ้าในปริมาณที่สูง แต่อย่างไรก็ดีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบการผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ 
โดยปัจจุบันระบบของ กฟผ.เป็นระบบที่มีความมั่นคงมีกำลังการผลิตถึง 15,500 เมกกะวัตต์ ขณะที่เครื่องผลิตที่มีกำลังผลิตสูงที่สุดอยู่ที่โรงไฟฟ้าพลังความร้อนบางปะกง ซึ่งมีขนาดเครื่องละ 600 เมกกะวัต์ ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของระบบทั้งหมดแล้วจะเห็นว่า หากเครื่องใหญ่ที่สุดหลุดจากระบบก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อระบบมากนักในการตัดกระแสไฟฟ้าบางพื้นที่หรือการนำโรงไฟฟ้าสำรองเข้ามาในระบบ 
 
นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงระบบให้มีความเชื่อถือได้สูง โดยลงทุนปรับปรุงระบบและอุปกรณ์ให้ทำงานได้อย่างต่อเนื่องมากขึ้น หรือเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันและจัดการเพื่อให้จำนวนครั้งและระยะเวลาของกระแสไฟฟ้าขัดข้องน้อยลง อีกปัจจัยหนึ่งที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ดำเนินการคือด้านกำลังการผลิตสำรอง โดยในประเทศไทยสามารถรักษาระดับการผลิตสำรองได้ที่ร้อยละ 15 มีความมั่นคงของระบบในเชิงปริมาณค่อนข้างสูง และได้มีโรงไฟฟ้าสำรองที่สามารถเดินเครื่องได้ในเวลาอันรวดเร็ว คือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำและโรงไฟฟ้ากังหันแก๊ส ซึ่งมีสัดส่วนเกินกว่าร้อยละ 30 ของกำลังการผลิตทั้งระบบ โดยโรงไฟฟ้าจำพวกนี้สามารถเดินเครื่องเพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ในเวลาอันสั่นคือ เพียง 10 - 15 นาที ซึ่งหากโรงไฟฟ้าในระบบโรงใดขัดข้องกระทันหันก็จะสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าเสริมได้ในเวลาอันรวดเร็วละเพียงพอต่อความต้องการกระแสไฟฟ้า
 
อย่างไรก็ดี ความจำเป็นต้องมีการควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าด้วยเทคนิคและเทคโนโลยีที่ทันสมัยและประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่ที่จะต้องควบคุมสถานการณ์และจำกัดขอบเขตของความเสียหายได้อย่างทันท่วงทีเมื่อเกิดโรงไฟฟ้าขัดข้องในระบบหรือหลุดออกจากระบบ เพราะจะสามารถช่วยให้การเสียหายทางเศรษฐกิจและชีวิตทรัพย์สินของประชาชนน้อยลง และสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนของชาวต่างประเทศที่ต้องการความเชื่อมั่นของแหล่งพลังงานที่จะไม่ถูกรบกวนและได้รับความเสียหายหากเกิดไฟฟ้าดับหรือขัดข้อง
 
อีกด้านหนึ่ง กฟผ. เคยมีแคมเปญรณรงค์ เรื่องของการใช้พลังงานไฟฟ้า โดยยกกรณี ไฟฟ้าดับ สร้างการรับรู้เป็นวงกว้าง โดยให้ข้อมูลในลักษณะถามตอบ ดังนี้
 
Q : Blackout คืออะไร
A : Blackout คือการเกิดไฟฟ้าดับในวงกว้าง ครอบคลุมพื้นที่เป็นจังหวัด เป็นภาค (Partial Blackout) หรือทั้งประเทศ อาจเกิดเป็นระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมงจนถึงเป็นวัน เป็นสัปดาห์ ส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก และส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ
 
Q : สาเหตุการเกิด Blackout
A : มีสาเหตุหลัก 4 ประการด้วยกันคือ
1. การไม่มีระบบป้องกันที่ดีเมื่อความถี่ของระบบไฟฟ้าลดต่ำลง
2. มีโรงไฟฟ้าเป็นจำนวนมากหลุดออกจากระบบไฟฟ้า
3. ระบบส่งไฟฟ้าไม่มีเสถียรภาพ 
4. ระบบจ่ายเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าขัดข้อง
 
Q : ประเทศไทยเคยเกิดเหตุ Blackout ทั่วประเทศหรือไม่ เมื่อใด
A : ประเทศไทยเคยเกิดเหตุการณ์ Blackout ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2521 เวลา 07.40 น. สาเหตุเกิดจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนพระนครใต้ซึ่งเป็นกำลังผลิตสำคัญ เกิดขัดข้องด้านเทคนิค ส่งผลทำให้ไฟดับทั่วประเทศ โดยเกิดไฟฟ้าดับในภาคเหนือประมาณ 1 ชั่วโมง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15 นาที ภาคกลางประมาณ 1 ชั่วโมง สำหรับเขตนครหลวง ไฟฟ้าดับประมาณ 2 ชั่วโมงจึงเริ่มมีการจ่ายไฟฟ้าสู่บางพื้นที่ และเหตุการณ์กลับสู่สภาวะปกติ ประชาชนในทุกพื้นที่มีไฟฟ้าใช้เมื่อเวลา17.00 น. สรุปแล้วเกิดเหตุไฟฟ้าดับในเขตนครหลวงนานที่สุดถึง 9 ชั่วโมง 20 นาที แต่หลังจากเหตุการณ์ในปี 2521 ประเทศไทยไม่เคยมีเหตุ Blackout หรือไฟฟ้าดับทั่วประเทศอีกเลย
 
Q : หากเกิดเหตุ Blackout ทั่วประเทศขึ้นในประเทศไทยอีกครั้ง ความเสียหายจะเป็นอย่างไร
A : จากการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพบว่า ปัจจุบันหากเกิดไฟฟ้าดับทั่วประเทศ จะสร้างผลเสียหายทางด้านเศรษฐกิจเฉลี่ยถึงชั่วโมงละ 1,000 ล้านบาท และหากเป็นช่วงที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงๆ จะมีความเสียหายมากกว่านี้ ทั้งทางเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ต่อการลงทุนของต่างประเทศ
 
Q : ความเป็นไปได้ในการเกิด Blackout ทั่วประเทศ
A : ปัจจุบัน ประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของ ประเทศที่เกิดขึ้น ในด้านปริมาณจึงไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด และหากเกิดเหตุฉุกเฉิน กฟผ. ก็ได้จัดให้มีกำลังผลิตสำรองพร้อมจ่าย (Spinning Reserve) ซึ่งมีขนาดเท่ากับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดในระบบ นอกจากนั้น ยังมีระบบป้องกันอัตโนมัติ (Under Frequency Load Shedding) ซึ่งดำเนินการร่วมกับ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อเลือกตัดการจ่ายกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ที่มี ผลกระทบน้อยที่สุดออกบางส่วน เพื่อรักษาเสถียรภาพส่วนใหญ่ของระบบให้คงอยู่ จากสถิติที่ผ่านมา มีการตัดการจ่ายกระแสไฟฟ้าออกไปไม่ถึงร้อยละ 10 ของทั้งประเทศ เพื่อให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด เห็นได้ว่าระบบป้องกันอัตโนมัติดังกล่าว สามารถรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
ส่วนกรณีการขัดข้องที่มีสาเหตุมาจากเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะปัญหาการขัดข้องในระบบการจ่ายก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักนั้น โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง สามารถเปลี่ยนมาใช้น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลได้ทันที โดยปัจจุบัน กฟผ. มีการสำรองน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลให้เพียงพอต่อการใช้งานได้นานถึง 3 วัน
 
ดัง นั้นแม้ว่า กฟผ. จะไม่สามารถรับประกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะไม่เกิดไฟฟ้าดับทั้งประเทศขึ้น อีกครั้ง แต่จากสภาพของระบบส่งไฟฟ้า โรงไฟฟ้า และแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่ได้มีการฝึกซ้อมสถานการณ์อยู่เป็นประจำ เพื่อเตรียมความพร้อมของบุคลากรและอุปกรณ์ที่ใช้ โอกาสที่จะเกิดไฟฟ้าดับขึ้นทั่วประเทศหรือในวงกว้างของประเทศไทยจึงมีน้อย มาก หรือถ้าเกิดขึ้น กฟผ. ก็พร้อมที่จะกู้ระบบไฟฟ้ากลับสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้
 
Q : หากเกิด Blackout กฟผ. จะดำเนินการอย่างไรให้ประชาชนมีไฟฟ้าใช้อย่างรวดเร็ว
A : กฟผ. เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงได้มีการวางแผนและตั้งคณะทำงานขึ้น 3 ชุด นับตั้งแต่ปี 2521 เพื่อดูแลแผนการป้องกันมิให้เกิดไฟฟ้าดับทั่วประเทศ (Blackout Prevention Plan) แผนการนำระบบกลับคืนสู่สภาวะปกติ (Blackout Restoration Plan) และการเตรียมความพร้อมอุปกรณ์ ซึ่งคณะทำงานทุกชุดมีการประชุม วางแผน วิเคราะห์สาเหตุ แก้ไขปัญหา และซ้อมแผนการนำระบบคืนสู่สภาวะปกติอย่างสม่ำเสมอทุกปี
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง