2 พรรคใหญ่ยังเห็นต่างเรื่องนโยบายปรองดอง

การเมือง
1 ก.ค. 54
01:59
14
Logo Thai PBS
2 พรรคใหญ่ยังเห็นต่างเรื่องนโยบายปรองดอง

แนวคิดรัฐบาลปรองดองของ นพ.ประเวศ วะสี นักวิชาการอิสระกลายเป็นประเด็นที่ถูกนำไปตั้งคำถามถึงทิศทางความเห็น และ ความเป็นไปได้โดยเฉพาะ 2 พรรคการเมืองใหญ่ ที่ถูกคาดหมายว่า พรรคใดพรรคหนึ่งจะเป็นตัวแทนในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งค่อนข้างชัดเจนว่า แนวทางของคำว่า ปรองดองของทั้ง 2 พรรคเป็นการปรองดองคนละขั้วที่ต่างออกมายืนยันว่า ยากจะร่วมกันเป็นรัฐบาลปรองดอง

ขณะที่พรรคขนาดกลางอาศัยช่องทางของความเห็นที่แตกต่างของพรรคใหญ่มาชูโอกาสความเป็นไปได้ในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กส่วนใหญ่มองว่า หากพรรคใหญ่ได้เสียงไม่ขาดโอกาสเพลี่ยงพล้ำไม่ได้จัดตั้งรัฐบาลมีอยู่มาก และ มีความเป็นไปได้ว่าการจับมือกันของพรรคเล็กอาจจะเกิดขึ้น

แม้จะมีการพูดถึงนโยบายปรองดองมาโดยตลอดแต่แนวทางปรองดองของแต่ละพรรคการเมือง กลับเป็นการปรองดองที่แตกต่างกันทั้งวิธีการและแนวคิด รัฐบาลปรองดองถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางอีกครั้ง หลัง นพ.ประเวศ วะสี นักวิชาการอิสระออกมาเสนอให้สร้างความปรองดองอย่างสร้างสรรค์ โดยมีข้อเสนอข้อหนึ่งพูดถึงการตั้งรัฐบาลแห่งความปรองดอง ซึ่งจะต้องเชิญพรรคต่างขั้ว หรือ ฝ่ายตรงข้ามมาเข้าร่วมรัฐบาล และให้อดีตนายกรัฐมนตรีหลายคนเข้าร่วมเป็นคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และ ประชุมกับคณะรัฐมนตรีได้ ซึ่งแนวคิดนี้ นพ.ประเวศ เห็นว่า จะช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งได้

2 พรรคใหญ่ยังเห็นต่างเรื่องปรองดอง
แต่หากวิเคราะห์ถึงปัจจัย และ แนวคิดของ 2 ขั้วใหญ่ คือ พรรคเพื่อไทย และ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ตีความคำว่าปรองดองไปคนละแบบ โอกาสที่ข้อเสนอนี้จะเกิดขึ้นอาจเป็นเรื่องที่ยากเย็น เพราะพรรคเพื่อไทยพยายามผลักดันแนวทางปรองดองด้วยกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งหลายพรรคการเมืองเคยแสดงความเห็นด้วยกับแนวทางนี้มาแล้ว

แต่สำหรับพรรคประชาธิปัตย์เลือกที่จะใช้แนวทางของการใช้คณะกรรมการอิสระเข้ามาตรวจสอบ และ มีแนวคิดที่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมอย่างชัดเจน รวมถึงตั้งข้อสังเกตด้วยว่านิรโทษกรรมของพรรคเพื่อไทยมีวาระซ่อนเร้นที่ต้องการนำ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีกลับประเทศไทย แม้ฝั่งเพื่อไทยจะปฏิเสธอย่างแข็งขันว่า ไม่มีแนวคิดนิรโทษกรรมเพื่อคนเพียงคนเดียว

เมื่อถูกตั้งคำถามถึงแนวทางการปรองดองนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาแสดงความเห็นว่า ความหวังดีต่อประเทศชาติของ นพ.ประเวศเป็นเรื่องที่ดี แต่การจะให้มีการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคเพื่อไทยคงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก เพราะแนวคิดของทั้ง 2 พรรคแตกต่างกันอย่างชัดเจน

เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทยที่ก่อนหน้านี้ได้ยืนยันมาตลอดว่า จะเดินหน้าทางการเมืองด้วยการอยู่ฝั่งตรงข้ามกับพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมทั้งปฏิเสธข่าวลือที่มีการระบุว่า นายวัฒนา เมืองสุข ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย ได้ประสานให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้พบกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงากลาโหมที่ประเทศบรูไน จนถูกตั้งฉายาว่า อาจมีการหารือถึงการจัดตั้งรัฐบาลโดยมีการทำปฏิญญาบรูไนร่วมกัน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ของพรรคเพื่อไทย ออกมายืนยันอย่างแข็งขันว่า พ.ต.ททักษิณ ไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ และ พล.อ.ประวิตรเองได้ปฏิเสธข่าวลือเรื่องการทาบทามว่า ให้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหากเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล

ตัวเลือกพรรคเล็กจับมือตั้งรัฐบาล
ส่วนความเห็นจากพรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก แสดงการเป็นตัวเลือกในการจัดตั้งรัฐบาล หลังเห็นแนวโน้มของความขัดแย้งหลังการเลือกตั้ง โดย พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนาที่ออกมาส่งสัญญาณว่า หากพรรคใหญ่ทั้ง 2 พรรคไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จมีความเป็นไปได้ที่พรรคชาติไทยพัฒนาอาจได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลเอง

พล.ต.สนั่น คาดการณ์ถึงการจัดตั้งรัฐบาลชุดนี้บนเวทีปราศรัยหาเสียงที่จังหวัดนราธิวาส โดยระบุว่า ไม่ว่าขั้วใดจะได้จัดตั้งรัฐบาลมีแนวโน้มว่า ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยจะออกมาต่อต้านอีก หลังวันที่ 3 ก.ค.จะมีปัญหาเกิดขึ้นอีกมากมาย ซึ่งพรรคชาติไทยพัฒนาเสนอที่จะประสานการพูดคุยกับพรรคการเมืองต่าง ๆ พร้อมออกตัวด้วยว่า นโยบายปรองดองของพรรคชาติไทยพัฒนาเป็นนโยบายสำคัญที่พรรคได้เสนอมาโดยตลอด

"ปุระชัย"ชี้ 2พรรคใหญ่ยังไม่เคยให้อภัย
ขณะที่ ร.ตอ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ประธานพรรครักษ์สันติแสดงความเห็นว่า การเลือก 2 พรรคการเมืองใหญ่อาจไม่ใช่ทางออกที่ดี เพราะอาจกลับมาเกิดความขัดแย้งได้อีกสังเกตได้จากการหาเสียงของแต่ละพรรค ที่ชัดเจนว่าทั้ง 2 พรรคไม่เคยแสดงการให้อภัยดังนั้นพรรคจึงขอให้ประชาชน กลุ่มพลังเงียบ และ อีกหลายกลุ่ม ออกมาร่วมแสดงพลังด้วยการเลือกคนที่จะเข้าไปบริหารประเทศโดยปราศจากความขัดแย้ง

ด้าน พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาแสดงความเห็นว่า ในช่วงสุดท้ายก่อนจะมีการเลือกตั้งทั้ง 2 พรรคใหญ่ควรเน้นการหาเสียงไปที่นโยบายการแก้ปัญหาเรื่องความปรองดองภายในชาติ โดยจะต้องยุติการกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามเพราะนโยบายที่ทั้ง 2 พรรคเสนอต่อประชาชนนี้จะช่วยในการวางแผนจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงเป็นแผนสำหรับการเตรียมความพร้อมหลังการเลือกตั้ง

ขณะที่แนวทางของกองทัพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ออกมาระบุถึงกระแสข่าวการ ทำรัฐประหาร หลังการเลือกตั้ง โดยยืนยันว่า กองทัพไม่ได้มีความคิดในเรื่องนี้ และไม่ว่าพรรคการเมืองใดเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล กองทัพก็ต้องทำหน้าที่ตามกฎหมาย และปฏิบัติตามคำสั่งรัฐบาล

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง