สั่งศาลปกครองกลางพิจารณาคดีค่าเช่าแผงตลาดนัดจตุจักร

เศรษฐกิจ
27 ก.ย. 56
04:53
280
Logo Thai PBS
สั่งศาลปกครองกลางพิจารณาคดีค่าเช่าแผงตลาดนัดจตุจักร

ศาลปกครองสูงสุดสั่งให้ศาลปกครองกลางนำกรณีที่ผู้ค้าตลาดนัดจตุจักรยื่นฟ้องปรับขึ้นค่าแผงค้ากลับไปพิจารณาชี้ขาด หลังพบว่าแม้สัญญาระหว่าง กทม. และการรถไฟแห่งประเทศไทยจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่ค่าเช่าแผงค้าในอัตราดังกล่าวยังมีผลอยู่

นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เจ้าของสำนวนและองค์คณะคดีชำระแผงค้าตลาดนัดจตุจักร มีคำสั่งให้ส่งสำนวนที่นายสงวน ดำรงค์ไทย ประธานสหกรณ์บริการผู้ค้าตลาดนัดจตุจักร กับพวกรวม 37 คน ยื่นฟ้องผู้อำนวยการตลาดนัดกรุงเทพมหานคร หรือตลาดนัดจตุจักร, กองอำนวยการตลาดนัดกรุงเทพมหานคร, ประธานกรรมการควบคุมการจัดการตลาดนัดกรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการควบคุมการจัด ตลาดนัดกรุงเทพมหานคร ผู้ถูกฟ้องกระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมาย กลับไปให้ศาลปกครองชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณา และมีคำวินิจฉัยชี้ขาดต่อไป
 
สำหรับคดีนี้ประธานสหกรณ์บริการผู้ค้าตลาดนัดจตุจักร กับพวกยื่นฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนประกาศกองอำนวยการตลาดนัดกรุงเทพมหานคร และมติของคณะกรรมการควบคุมการจัด ตลาดนัดกรุงเทพมหานครที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการใช้สถานที่ในตลาดนัดจตุจักรเพิ่มเป็น 8,100 บาทต่อเดือน ที่ให้ผู้ค้าชำระภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2553 โดยอ้างว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เจ้าของที่ดินบริเวณตลาดนัดได้เรียกเก็บค่าเช่าที่ดินเพิ่มเติม รวมทั้งขอให้กองอำนวยการตลาดนัดกรุงเทพมหานคร ให้ผู้ค้านำสินค้ามาขายได้ตามเดิมนับตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2553
 
ขณะที่ก่อนหน้านี้ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่าสัญญาเช่าที่ดินตลาดนัดจตุจักร ระหว่าง กทม.กับ ร.ฟ.ท.ได้สิ้นสุดลงแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 และ กทม.ไม่ได้เป็นผู้บริหารงานตลาดนัดจตุจักรอีกต่อไป ดังนั้น จึงไม่มีประโยชน์ที่ศาลจะพิจารณาคดีนี้อีกจึง ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ต่อมาผู้ฟ้องรวม 36 ราย ได้ยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุด
 
โดยศาลปกครองสูงสุดพิจารณาคำฟ้อง เห็นว่าแม้ระหว่างการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้จะปรากฏว่าสัญญาเช่าที่ดินบริเวณตลาดนัดจตุจักร ระหว่าง กทม.และ ร.ฟ.ท.ได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่ประกาศกองอำนวยการตลาดนัดจตุจักรทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวยังคงมีผลบังคับใช้ อีกทั้งข้อเท็จจริงยังปรากฏว่าผู้ค้าได้ชำระเงินอัตราแผงละ 8,100 บาทให้กับกองอำนวยการตลาดฯ ไปแล้ว กรณีจึงถือว่าเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ยังไม่หมดสิ้นไป และหากศาลปกครองเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายก็มีอำนาจให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกคำสั่งดังกล่าวได้ ดังนั้น ให้ศาลปกครองกลางดำเนินกระบวนพิจารณาเพื่อมีคำวินิจฉัยชี้ขาดต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง