"สงครามหนัง" ชีวประวัติบนเวทีออสการ์

Logo Thai PBS
"สงครามหนัง" ชีวประวัติบนเวทีออสการ์

หากหนังภาคต่อคือกลยุทธิ์ทำเงินช่วงซัมเมอร์ การสร้างหนังจากเรื่องจริงก็ถือเป็นไม้ตายของค่ายหนังในการลุ้นเกียรติยศบนเวทีออสการ์ในปัจจุบัน ซึ่งการแข่งขันที่สูงขึ้นทุกปี นำไปสู่การวางแผนอันหลากหลายของค่ายหนังในการทำให้ผลงานของตนเป็นต่อคู่แข่งเวทีออสก้าร์ในทุกๆ ทาง

เรื่องราวเหมือนฝันของอดีตดาวรุ่งฮอลลีวูดผู้กลายเป็นเจ้าหญิงใน Grace of Monaco, ชีวิตผกผันของเศรษฐีใจบุญผู้กลายเป็นมาตกรใน Foxcatcher จนถึง The Monuments Men การย้อนรอยปฎิบัติการลับของฝ่ายสัมพันธมิตรในการกู้งานศิลปะล้ำค่าที่ถูกกองทัพนาซีช่วงชิงไประหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ผลงานภาพยนตร์ทั้ง 3 เรื่องที่ถูกจับตาบนเวทีประกวดไม่น้อย แต่กลับหมดสิทธิ์ลุ้นออสการ์ปีนี้ เนื่องจากทางผู้สร้างตัดสินใจเลื่อนการฉายออกไปเป็นปีหน้า เพื่อหลีกทางให้กับกองทัพหนังชีวประวัติแนวเดียวกันที่ออกฉายอย่างมากมายในปีนี้ 

 
ความสำเร็จของหนังที่สร้างจากเรื่องจริงบนเวทีออสการ์ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้ปีนี้ผู้สร้างหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างหนังชีวประวัติอย่างล้นหลาม ทั้งเรื่องราวของคู่แข่งบนสนามฟอร์มูล่าวันใน Rush, ชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ลักลอบนำยาที่เคยผิดกฏหมายสหรัฐมารักษาเพื่อนผู้ติดเชื้อเอดส์ใน Dallas Buyers Club, เรื่องจริงของนายหน้าค้าหุ้นที่ร่ำรวยจากการฟอกเงินและปั่นหุ้นใน Wolf of Wall Street และตัวเต็งอย่าง American Hustle ผลงานรวมดาราเกี่ยวกับปฎิบัติการลับของเอฟบีไอ ที่แฝงตัวเข้าไปอยู่ในแก๊งมาเฟียและต้องพัวพันกับนักการเมืองฉ้อฉล เพื่อเปิดโปงการคอรัปชั่นในยุค 70 

    

 
แต่บ่อยครั้งที่การนำเรื่องจริงมาดัดแปลงเพื่อความบันเทิงก็มักเผชิญกับคำครหาว่าบิดเบือนขอเท็จจริง อย่างผลงานตัวเก็งออสการ์ทั้ง 2เรื่องของ ทอม แฮงค์ ไม่ว่าจะเป็น Captain Phillips ที่เล่าถึงวีรกรรมของ ริชาร์ด ฟิลลิปส์ ผู้ช่วยเหลือลูกเรือจากการจู่โจมของโจรสลัดโซมาเลีย ซึ่งลูกเรือตัวจริงออกมาเปิดโป่งว่ากัปตันฟิลลิปส์ คือต้นเหตุที่ไม่ใส่ใจต่อคำเตือนเรื่องการก่อการร้าย และเรื่อง Saving Mr Banks ที่เล่าถึงการนำนิยาย Mary Poppins มาสร้างเป็นหนัง ซึ่งความจริงแล้วผู้ประพันธ์อย่าง พี. แอล. เทรเวอร์ ไม่เคยชื่นชอบเวอร์ชั่นของดิสนีย์อย่างที่นำเสนอในภาพยนตร์ เช่นเดียวกับหนังชูประเด็นความเท่าเทียมทางเชื้อชาติอย่าง The Butler และ 12 Years a Slave ก็ถูกวิจารณ์ว่าผิดพลาดในการลำดับเหตุการณ์และเนื้อหารุนแรงเกินจริง 
 
ผลสำรวจพบว่าร้อยละ 60 ของผู้คว้ารางวัลนักแสดงนำยอดเยี่ยมทั้งชายและหญิงในช่วง 10 ปีนี้ มาจากการแสดงในหนังชีวประวัติ ขณะที่ทศวรรษก่อนมีจำนวนเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น จึงเป็นเหตุผลให้แต่ละค่ายหนังทุ่มงบประมาณโปรโมทหนังชีวประวัติของตนเพื่อลุ้นออสการ์กันอย่างดุเดือด จนถึงขั้นว่าจ้างให้ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ทำการจับผิดหนังชีวประวัติของคู่แข่ง เมื่อศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยฮาเวิร์ดคนหนึ่งยอมรับว่าเขาถูกว่าจ้างด้วยเงินประมาณ 3 แสนบาท เพื่อให้ตีพิมพ์ข้อผิดพลาดด้านเนื้อหาของหนังชีวประวัติเรื่องหนึ่งลงในเว็บบล็อกของเขา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการขับเขี้ยวของของผู้สร้างภาพยนตร์ฮอลลีวู้ที่ต่างก็หวังความสำเร็จบนเวทีออสก้าร์ปีนี้ 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง