"นิคม" ห่วงประชุมล่มเหตุองค์ประชุมไม่ครบ

การเมือง
8 พ.ย. 56
07:33
39
Logo Thai PBS
"นิคม" ห่วงประชุมล่มเหตุองค์ประชุมไม่ครบ

ประธานวุฒิสภา ยอมรับต่อการประชุมวุฒิสภา ที่จะพิจารณาลงมติ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่สมาชิกอาจมีจำนวนไม่ครบองค์ประชุม เนื่องจากติดภารกิจเดินทางศึกษาดูงานนอกสถานที่ แต่หากไม่สามารถพิจารณาวันนี้ได้ทัน จะเสนอให้ที่ประชุมลงมติพิจารณาในวันพรุ่งนี้ (9 พ.ย.)

นายนิคม ไวยรัชพาณิชย เรียกประชุมวุฒิสภา กรณีพิเศษบ่ายวันนี้ (8 พ.ย.) เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ตามที่สภาผู้แทนราษฎรส่งให้ โดยใช้อำนาจตามข้อบังคับตามข้อ 15 วรรค 2 อ้างอิงถึงความจำเป็นเร่งด่วน โดยเฉพาะสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่ร้อนแรง และเพื่อเลี่ยงวันตัดสินคดีปราสาทพระวิหาร ของศาลโลกในวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ ท่ามกลางการทักท้วงของสมาชิกวุฒิสภาบางส่วน โดยเฉพาะกลุ่ม 40 ส.ว.บางส่วนที่ย้ำจุดยืนไม่เข้าร่วมการประชุม เพราะเชื่อในเจตนาที่เร่งรีบขัดต่อมติ วิปวุฒิสภา อาจเป็นการรับใบสั่งทางการเมือง

ขณะที่ประธานวุฒิสภา กล่าวยอมรับต่อข้อกีงวลในปัญหาองค์ประชุม เพราะนอกจาก ส.ว.ที่ประกาศจุดยืนไม่เข้าร่วมแล้ว ยังมี ส.ว.บางส่วนที่ร่วมคณะกรรมาธิการศึกษาดูงานนอกสถานที่ ซึ่งหากสมาชิกไม่ครบองค์ประชุม ก็จะขอมติจากสมาชิกเพื่อกำหนดนัดหมายวันพิจารณาอีกครั้ง โดยเบื้องต้นคาดว่าน่าจะเป็นในวันพรุ่งนี้ พร้อมย้ำว่าการเลื่อนประชุมเนื่องจากเห็นในความจำเป็นเร่งด่วน และไม่มีคำสั่งจากฝ่ายใด

ทั้งนี้สมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด 149 คน หากมีผู้เข้าร่วมประชุมไม่ถึงกึ่งหนึ่งหรือ 75 คน จะเกิดปัญหาองค์ประชุมไม่ครบ และไม่สามารถพิจารณาร่างกฎหมายในวันนี้ (8 พ.ย.) ได้ ก่อนหน้านี้รัฐบาลพยายามลดอุณหภูมิทางการเมืองด้วยการถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และ พ.ร.บ.ปรองดอง 6 ฉบับ ที่ค้างในระบบ และล่าสุด นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา และนายวราเทพ รัตนากร ก็ร่วมกันแถลงยืนยันจุดยืนของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่วุฒิสภากำลังพิจารณาโดยกล่าวย้ำว่าจะไม่หยิบยกมาพิจารณาอีก หลังวุฒิสภาลงมติยับยั้ง หรือว่าคว่ำร่างกฎหมาย

มีข้อบัญญัติกำหนดแนวทางการพิจารณาไว้หลายแนวทางด้วยกัน คือในกรณีที่เสียงข้างมากลงมติยับยั้ง หรือ คว่ำร่างกฎหมาย รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ต้องรอครบกำหนด 180 วัน ก่อนแสดงเจตจำนงถอนร่างออกจากระบบ หรือ ปล่อยให้ตกใป โดยทั้งประธานวุฒิสภา ส.ว.เลือกตั้ง และ ส.ว.สรรหาบางส่วนเห็นสอดคล้องในแนวทางนี้ หรือหากสมาชิกรับหลักการร่างกฎหมายที่ประชุมก็จะตั้งกรรมาธิการเข้าสู่กรอบวันพิจารณาแปรญัตติ หรืออาจตั้งกรรมาธิการเป็นสภาปรับแก้สาระ หรือ ยืนตามร่างดั้งเดิมที่มีผู้เสนอ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง