ความคาดหวังเครือข่ายสตรีต่อนายกฯหญิง

4 ก.ค. 54
16:23
16
Logo Thai PBS
ความคาดหวังเครือข่ายสตรีต่อนายกฯหญิง

นับเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่จะมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิงคนแรก ซึ่งอาจเป็นสัญลักษณ์ของความเท่าเทียมกันระหว่างเพศหญิง-ชาย แต่นักวิชาการและผู้ที่ทำงานด้านผู้หญิงกลับมองว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีลักษณะที่ต่างจากผู้นำหญิงส่วนใหญ่ทั่วโลก เพราะเธอไม่เคยมีประสบการณ์ทางการเมือง และยังไม่มีความเข้าใจในประเด็นสังคม และผู้หญิงมากพอ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรปรากฏตัวต่อสาธารณชนในฐานะผู้สมัครส.ส.ระบบบัญชีรายชื่ออันดับหนึ่งของพรรคเพื่อไทยเป็นเวลา 6 สัปดาห์ก่อนที่เธอจะได้รับชัยชนะในการเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ของไทย และจะเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศด้วย

หลายปีที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ หลายประเทศได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ผู้หญิงก็สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ จนมาถึงวันที่ประเทศไทยกำลังจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิงครั้งแรก แต่เธอถูกจับตามองว่า จะพิสูจน์ความสามารถในการบริหารประเทศด้วยตัวเองได้หรือไม่

ระยะเวลาสั้นๆ ที่คนไทยได้รู้จักกับว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงคนนี้ เพราะเธอไม่เคยทำงานด้านการเมืองมาก่อน ทำให้เกิดข้อกังขาต่อความสามารถของเธออย่างมาก รศ.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คนไทยกำลังสับสนกับการมองว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงคนใหม่ ระหว่างภาพผู้แทนของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร กับฐานะนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

การที่ประเทศไทยจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิงครั้งแรกอาจมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงการเปิดพื้นที่ความเสมอภาคของหญิงชาย และอาจเกิดความหวังว่าเธอจะดำเนินนโยบายเกี่ยวกับผู้หญิง แต่ในมุมมองของ นัยนา สุภาพึ่ง จากเครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ มีความเห็นว่า เพศของแต่ละบุคคลไม่ได้มีความสำคัญมากไปกว่าความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงอย่างแท้จริง

ก่อนการเลือกตั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เคยประกาศนโยบายด้านสตรีไว้ 6 ข้อ ในวันที่ไปพบกับสภาสตรีแห่งชาติ โดยเน้นที่กองทุนเพื่อสตรี นี่จึงเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่องค์กรด้านผู้หญิงบอกว่าจะต้องทวงถามให้เธอดำเนินการโดยต้องอาศัยความเข้าใจที่ลึกซึ้งมากขึ้น ขณะที่นักวิชาการมองว่าแม้นโยบายนี้จะมีความสำคัญ แต่สิ่งที่ว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงจะต้องทำอย่างเร่งด่วนคือการสร้างความปรองดองของคนในชาติ
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง