ก.พาณิชย์ยืนยันมีเงินจ่ายเกษตรกรในโครงการจำนำข้าว

เศรษฐกิจ
12 ธ.ค. 56
02:17
42
Logo Thai PBS
ก.พาณิชย์ยืนยันมีเงินจ่ายเกษตรกรในโครงการจำนำข้าว

เมื่อวานนี้ (11 ธ.ค.) ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติรับพิจารณาวินิจฉัยคำร้อง กรณี ร่าง พ.ร.บ. กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ว่าเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขณะที่นโยบายที่เดินหน้าต่อได้ อย่างโครงการรับจำนำข้าว กลับสร้างความไม่พอใจให้กับเกษตรกร เพราะหลายรายยังไม่ได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าวรอบล่าสุด

กระทรวงพาณิชย์ ยังคงยืนยันว่า เกษตรกรจะได้รับเงินจากการจำนำข้าว เนื่องจากรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณแล้ว 270,000 ล้านบาท แต่ยอมรับว่า การเจรจาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ สะดุดหลายประเทศ ขณะที่นักวิชาการ บอกว่า ปัญหาการจ่ายเงินค่าข้าว ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลไม่สามารถระบายข้าวได้ หรือ ถ้าขายข้าวได้ ก็เป็นราคาที่ต่ำ

นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ บอกว่า รัฐบาลรักษาการณ์ยังสามารถระบายข้าวได้ เช่น การระบายผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย หรือ เอเฟท ตามกรอบ 0.5-1 ล้านตัน เพราะเป็นสัญญาเดิมที่เซ็นอนุมัติแล้ว ส่วนการเจรจาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี ที่ยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจากับอีกหลายประเทศก็ชะงักไป เช่น อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย ขณะที่การจ่ายเงินจำนำข้าวให้เกษตรกร ยอมรับว่า มีปัญหาล่าช้าในช่วงต้นฤดู เพราะต้องจัดการข้าวเก่าในโกดัง แต่ก็ได้ทยอยออกใบประทวนใหม่อย่างต่อเนื่อง

แต่นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย กลับบอกว่า ที่ผ่านมาได้สอบถามไปยังกระทรวงพาณิชย์ ก็ได้รับคำตอบว่า "รัฐบาลไม่มีเงิน" และไม่มีการชี้แจงอะไรเพิ่มเติม ซึ่งถ้าไม่เร่งแก้ปัญหานี้ เกษตรกร 26 จังหวัด อาจรวมตัวกันปิดถนน

นายสมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ระบุว่า ข้อมูลต่างๆ สะท้อนว่าการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ไม่มีประสิทธิภาพ และคาดว่า โครงการนี้ทำให้รัฐบาลขาดทุนตันละ 10,000 บาท ซึ่งจนถึงขณะนี้ รัฐบาลน่าจะขาดทุนแล้วไม่ต่ำกว่า 300,000 ล้านบาท

ปัญหาการจ่ายเงินค่าข้าวยืดเยื้อมาพอสมควร ก็ต้องดูต่อไปว่าภาครัฐจะมีเงินมาจ่ายให้เกษตรกรได้เร็วแค่ไหน ขณะที่การลงทุนในโครงการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท แน่นอนว่าต้องชะลอออกไป ซึ่งก็จะส่งผลให้โครงการลงทุนในปีหน้า ที่ต้องใช้เงินจาก ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่สามารถทำได้

โครงการลงทุนปี 2557 ที่พร้อมดำเนินการตามแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้าน เช่น การปรับปรุงและซ่อมแซ่มถนน 4 ช่องจราจร, การก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา, รวมถึงการปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณและรั้วรถไฟ "ต้องหยุดก่อน" ซึ่งโครงการเหล่านี้ คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 80,000 ล้านบาท

ผู้อำนวยการ สนข. บอกว่า ถ้าหากรัฐบาลใหม่ต้องการเร่งลงทุน ก็สามารถตั้งงบกลางปี งบประมาณ 2557 ได้ แต่การใช้งบประมาณรายประจำปี 2557 อาจเป็นเรื่องยาก เพราะมีการกำหนดรายจ่ายเรียบร้อยแล้ว

จากมติที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่รับวินิจฉัยคำร้อง ร่าง พ.ร.บ. กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ บอกว่า อาจมีการกำหนดกระบวนการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องสัปดาห์หน้า และอาจต้องเชิญผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงคณะรัฐมนตรีมาให้ข้อเท็จจริง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง