ศานตินิเกตัน สายสัมพันธ์ไทย-อินเดีย

Logo Thai PBS
ศานตินิเกตัน สายสัมพันธ์ไทย-อินเดีย

หากพูดถึงปราชญ์เมธีแห่งโลกตะวันออกชื่อของ "รพินทรนาถ ฐากูร" ถือเป็นเอกในฐานะของกวี และผู้นำทางความคิดของอินเดีย เจ้าของผลงาน "คีตาญชลี" ซึ่งส่งผลให้เป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล ในโอกาสครบรอบ 150 ปีชาตกาล จึงมีการจัดนิทรรศการเพื่อรำลึกถึงคุโณปการของนักคิดคนสำคัญของโลกท่านนี้

สำเนียงเพลงพื้นเมืองเบงกาลีกังวานก้องท่ามกลางสายลมหนาวระหว่างเดือนธันวาคมถึงมกราคม บอกสัญญาณของ "เทศกาลโพสเมลา" เอกลักษณ์แห่งเมืองศานตินิเกตัน แคว้นเบงกอล ที่ตั้งมหาวิทยาลัยวิศวภารตี ซึ่งก่อตั้งโดยรพินทรนาถ ฐากูร ภาพความทรงจำส่วนหนึ่ง ของแหล่งประสาทความรู้ คุโณปการที่เมธีปราชญ์แห่งตะวันออกได้ทิ้งไว้ ถูกนำมาถ่ายทอดผ่านสารคดี ที่ฉายเพื่อนำเข้าสู่การเสวนา "ศานตินิเกตัน สายสัมพันธ์งานศิลป์ไทย-อินเดีย" เนื่องในโอกาส 150 ปีชาตกาล ของนักปรัชญาชาวอินเดียผู้ยิ่งใหญ่

ประสบการณ์การใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยวิศวภารตีถูกถ่ายทอดผ่านความทรงจำของศิษย์เก่า "คาราบาวัล" หรือคณะจิตรกรรม ทั้งความประทับใจในวิธีการสอน ที่ให้ความสำคัญกับความคิดปัจเจกของผู้เรียนเป็นหลัก หากสิ่งที่ศิษย์เก่าได้เรียนรู้ คือการอยู่ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ อันเป็นเจตนารมณ์ของรพินทรนาถ ผู้ต้องการให้สถานศึกษาแห่งนี้เป็น "โรงเรียนใต้ร่มไม้"

งานครบรอบ 150 ปีชาตกาล รพินทรนาถ ฐากูร จัดขึ้นโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำอินเดีย และเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อรำลึกถึงเมธีปราชญ์แห่งตะวันออก ผู้มีส่วนสืบสานความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมสยาม-อินเดีย พร้อมเปิดตัวการดำเนินการจัดตั้งศูนย์อินเดียศึกษา โดยจัดให้มีการเสวนาวิชาการ และนิทรรศการเกี่ยวกับชีวิตและผลงานของรพินทรนาถ เข้าชมได้ที่อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงวันที่ 16 กรกฎาคม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง