กกต.ยืนยันประกาศรับรอง ส.ส.12 ก.ค.นี้ แม้ยอดบัตรเลือกตั้ง 2 ระบบต่างกัน

การเมือง
8 ก.ค. 54
14:36
18
Logo Thai PBS
กกต.ยืนยันประกาศรับรอง ส.ส.12 ก.ค.นี้ แม้ยอดบัตรเลือกตั้ง 2 ระบบต่างกัน

กรรมการการเลือกตั้ง ยืนยันว่า จำนวนบัตรเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งสองระบบที่แตกต่างกันไม่มีผลกระทบต่อการประกาศรับรอง ส.ส.ในวันที่ 12 ก.ค.นี้ โดยจะเร่งตรวจสอบจำนวนบัตรเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง ขณะที่ยังมีเรื่องร้องเรียนจากผู้สมัครให้ระงับการประกาศรับรอง ส.ส.ในหลายพื้นที่

จากกรณีที่มีจำนวนยอดคลาดเคลื่อนของบัตรเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งแบบบัญชีรายชื่อ และ แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่แตกต่างกันกว่า 83,000 ใบ กรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ระบุว่า ได้ให้ฝ่ายบริหารด้านการเลือกตั้งตรวจสอบ,สำรวจตัวเลข และ รายงานผลมาใหม่ โดยยืนยันว่ากรณีนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อการประกาศรับรอง ส.ส.ในวันที่ 12 ก.ค.นี้ ขณะที่การเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมาได้มีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นเช่นกัน

ทั้งนี้ กกต.กำลังทบทวนเรื่องการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่ใช้วิธีการส่งทางไปรษณีย์ และ การลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่งเกิดปัญหาผู้มาใช้สิทธิไม่ได้ไปแจ้งถอนชื่อการใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัดในครั้งที่ผ่านมา

นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้นำผู้สมัคร ส.ส.เขต 2 จังหวัดนครสวรรค์ยื่นหนังสือคัดค้าน กกต.ประกาศรับรองผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย โดยระบุว่า เป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์ผู้สมัคร ส.ส.เขต 4 จังหวัดราชบุรี นำพยานที่ได้รับเงินซื้อเสียงจากผู้สมัครพรรคคู่แข่งมายืนยันถึงการทุจริตของผู้สมัครพรรคคู่แข่งในการเลือกตั้ง และ จะร้องต่อ กกต.ให้ระงับการประกาศรับรอง ส.ส.ในเขตนี้

ส่วนการร้องคัดค้านผลคะแนนในเขตเลือกตั้งที่ 12 จังหวัดนครราชสีมา และ เรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งใหม่ของชาวบ้านในอำเภอปักธงชัย และอำเภอสีคิ้ว รวมถึงการแจกเงินซื้อเสียงในจังหวัดชัยภูมิอยู่ระหว่างการสอบสวนของกกต.จังหวัด โดยคาดว่า จะสรุปสำนวนให้ กกต.กลางได้ภายในสัปดาห์หน้า

สำหรับความคลาดเคลื่อนผลสำรวจเอ็กซิทโพลนั้น นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพล มหาวิทยาอัสสัมชัญ ยืนยันว่าความคลาดเคลื่อนในระดับบวกลบร้อยละ 7 เป็นตัวเลขที่ยอมรับได้ตามหลักวิชาการ โดยมีเหตุจาก 3 ปัจจัยหลัก คือการที่ผู้สำรวจไม่สามารถเข้าไปในหน่วยเลือกตั้ง, ถูกตำรวจจับกุมขณะสำรวจความเห็นผู้ใช้สิทธิ และ การสังเกตการณ์ของกลุ่มที่สนับสนุนพรรคการเมือง

ขณะที่ รศ.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเรียกร้องให้สื่อมวลชนตรวจสอบผลสำรวจ และ กลั่นกรองก่อนนำเสนอต่อสาธารณชน
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง