แฉฉลากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแย่ เรียกร้อง อย.เข้มงวดแสดงข้อมูลบนฉลาก ระวังซื้อของหมดอายุ

สังคม
25 ก.ค. 54
18:47
70
Logo Thai PBS
แฉฉลากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแย่  เรียกร้อง อย.เข้มงวดแสดงข้อมูลบนฉลาก ระวังซื้อของหมดอายุ

ผลสำรวจการแสดงฉลากของอาหารกึ่งสำเร็จรูปชนิดจัดชุดซองรวม(บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป) อยู่ในระดับแย่ เข้าข่ายเอาเปรียบผู้บริโภค

นิตยสารฉลาดซื้อ และศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า ผลสำรวจการแสดงฉลากของอาหารกึ่งสำเร็จรูปชนิดจัดชุดซองรวม(บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป) อยู่ในระดับแย่ เข้าข่ายเอาเปรียบผู้บริโภค ผู้ประกอบการอาศัยการออกแบบบรรจุภัณฑ์กึ่งโปร่งใสให้มองเห็นด้านในได้แต่ไม่ชัดเจน  เพื่อเลี่ยงการแสดงข้อมูลโดยตรงบนฉลาก โดยเกือบทั้งหมดแสดงข้อมูลแค่ชื่ออาหาร ส่วนข้อมูลอื่น ๆ ที่จำเป็นได้แก่ น้ำหนักของอาหารและผู้ผลิต-ผู้จำหน่าย มีการแสดงบ้างไม่แสดงบ้าง ขณะที่ข้อมูลวันผลิต-วันหมดอายุ แทบจะไม่มีรายใดแสดงข้อมูลเลย พร้อมร้อง อย. ให้เข้มงวดกับผู้ประกอบการในการปรับปรุงการแสดงฉลากให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 194) พ.ศ. 2543 เรื่องฉลาก โดยเร็ว

นายพชร  แกล้วกล้า ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกการคุ้มครองความปลอดภัยด้านอาหารโดยผู้บริโภค กล่าวว่า โครงการฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากคุณมนตรี ผ่องไพบูลย์ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2554 เรื่องอาหารกึ่งสำเร็จรูปแบบบรรจุห่อรวมไม่แสดงวันผลิต-วันหมดอายุ บนฉลาก อีกทั้งวันผลิต-วันหมดอายุที่แสดงอยู่ในซองย่อยด้านในก็จางมากจนมองแทบไม่เห็น ทำให้ผู้ร้องซื้อสินค้า ใกล้หมดอายุมาเก็บไว้ ด้วยเข้าใจว่าเก็บได้นาน และเมื่อนำมาบริโภคโดยแกะห่อด้านนอกออกถึงได้เห็นว่าสินค้าข้างในเลยวันหมดอายุไปแล้ว

หลังได้รับเรื่องมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เก็บตัวอย่างอาหารจำนวน 14 ตัวอย่างเพื่อนำมาเปรียบเทียบดูการให้ข้อมูลบนฉลากบรรจุภัณฑ์ภายนอกของอาหารกึ่งสำเร็จรูปและพบปัญหาจริงตามที่ผู้ร้องแจ้งมา คือ ในส่วนของวันผลิต-วันหมดอายุ ไม่มีการแสดงข้อมูลอยู่บนบรรจุภัณฑ์ภายนอกเลย ยกเว้นตราเทสโก้ ซึ่งเกือบทั้งหมดอาศัยวิธีการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีลักษณะโปร่งใสหรือกึ่งโปร่งใสเพื่อให้มองเห็นรายละเอียดบนฉลากบรรจุภัณฑ์ย่อยที่อยู่ด้านในแทน ซึ่งในหลายครั้งด้วยวิธีการจัดวางบรรจุภัณฑ์หรือการออกแบบที่ไม่ดีโดยให้มีลวดลายที่มากเกินไปบนบรรจุภัณฑ์ทำให้การมองเห็นรายละเอียดของฉลากที่อยู่ด้านในเป็นไปได้อย่างยากลำบาก

ตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 “ฉลาก” หมายรวมถึง รูป รอยประดิษฐ์ เครื่องหมาย หรือข้อความใด ๆ ที่แสดงไว้ที่อาหาร ภาชนะบรรจุอาหาร หรือ หีบห่อของภาชนะที่บรรจุอาหาร ส่วนข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้แก่ มาตรา 6 (10) ของ พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 กำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ โดยให้ “กำหนดประเภทและชนิดอาหารที่ผลิตเพื่อจำหน่าย นำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือ ที่จำหน่าย ซึ่งจะต้องมีฉลาก ข้อความในฉลาก เงื่อนไข และวิธีการแสดงฉลาก ตลอดจนหลักเกณฑ์และวิธีการโฆษณาในฉลาก” โดยที่หลักเกณฑ์ดังกล่าวคือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 194) พ.ศ. 2543 เรื่องฉลาก ที่ตามข้อ 2 (2) ระบุว่าอาหารที่กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานต้องแสดงฉลาก

โดยอาหารกึ่งสำเร็จรูป จัดอยู่ในอาหารที่กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธาณสุข (ฉบับที่ 210) พ.ศ 2543 เรื่องอาหารกึ่งสำเร็จรูป กรณีนี้ ซองย่อยของบรรจุภัณฑ์แต่ละชิ้น คือ ภาชนะบรรจุอาหาร ขณะที่ซองบรรจุภัณฑ์ภายนอกของอาหารกึ่งสำเร็จรูป คือ หีบห่อของภาชนะบรรจุอาหาร ซึ่งต้องมีการแสดงฉลาก ดังนั้นในกรณีที่ผู้ประกอบการไม่มีการแสดงข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์ภายนอกของอาหารกึ่งสำเร็จรูปชนิดจัดชุดรวม จะเข้าข่ายการกระทำผิดตามมาตรา 51 ของ พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ให้เข้มงวดกับผู้ประกอบการ ปรับปรุงการแสดงฉลากของตนเองให้ข้อความของบรรจุภัณฑ์ย่อยกับซองบรรจุภัณฑ์ภายนอก เป็นแบบเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงข้อมูลวันผลิต-วันหมดอายุ ควรต้องแสดงเป็นภาษาไทยไว้บนบรรจุภัณฑ์ภายนอกในจุดที่เห็นได้ชัดเจน

นอกจากนี้ขอฝากไปยังผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการบริโภคสินค้าที่ไม่แสดงฉลากบนบรรจุภัณฑ์แบบซองรวมจนกว่าจะมีการปรับปรุง และหากพบว่าสินค้าที่ตนซื้อมาเป็นของหมดอายุให้นำไปเปลี่ยนคืนกับผู้จัดจำหน่ายพร้อมเรียกร้องค่าพาหนะเดินทางตามจริง เนื่องจากผู้บริโภคไม่ได้มีหน้าที่จะต้องนำสินค้ามาเปลี่ยนคืน หากแต่เป็นหน้าที่ของผู้ผลิตและผู้จำหน่ายที่จะต้องไม่จำหน่ายสินค้าหมดอายุ

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง