"นอร์เวย์" ตั้งคกก.อิสระศึกษาเหตุเขย่าขวัญ

ต่างประเทศ
28 ก.ค. 54
03:36
4
Logo Thai PBS
"นอร์เวย์" ตั้งคกก.อิสระศึกษาเหตุเขย่าขวัญ

นายกรัฐมนตรีนอร์เวย์สั่งตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์เขย่าขวัญ และยังเรียกร้องให้ชาวนอร์เวย์หันมาเข้าร่วมในกระบวนการทางการเมืองมากขึ้น ขณะเดียวกัน ได้มีการเผยแพร่ภาพใหม่ในขณะที่ที่ทำการรัฐบาลถูกระเบิด

วิดีโอจากกล้องวงจรปิดที่ถูกนำออกเปิดเผยล่าสุด เป็นเหตุการณ์ภายในร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้ากลางกรุงออสโลว์ ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับที่ทำการรัฐบาลนอร์เวย์ที่ถูกวางระเบิดเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว โดยจากภาพเมื่อกระจกของร้านแตก และสินค้าตกลงกระจายลงมา คนที่อยู่ภายในร้านต่างตกใจวิ่งหาที่หลบ ส่วนบางคนก็วิ่งออกไปหน้าร้านเพื่อดูว่าเกิดอะไรขึ้น จากนั้นวิ่งกลับมาหาที่กำบังเช่นกัน

การระเบิดที่ทำการรัฐบาลนอร์เวย์ครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 8 คน โดยตำรวจชี้ว่าเป็นคาร์บอมบ์หรือระเบิดที่บรรจุไว้ภายในรถยนต์ก่อนจุดชนวน ก่อนหน้านี้ ตำรวจได้บุกค้นฟาร์มในพื้นที่ป่าห่างจากกรุงออสโลว์ลงไปทางใต้ 200 กิโลเมตร ซึ่งก็พบปุ๋ยเหลืออยู่ 3 ตันจากที่ผู้จำหน่ายบอกว่าได้ขายให้ผู้ก่อเหตุไปทั้งหมด 6 ตัน ดังนั้น ส่วนที่หายคาดว่าคนร้ายนำมาใช้เป็นระเบิดซีโฟร์

ด้านสำนักงานตำรวจที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเชื่องช้ามากกว่าจะเข้าถึงจุดเกิดเหตุบนเกาะอูโทญ่ายืนกรานแก้ตัวว่า ไม่มีทางที่ใครจะเข้าไปขึ้นบนเกาะได้โดยใช้เวลาเดินทางน้อยกว่า 90 นาทีตามที่หน่วย "เดลต้าฟอร์ซ" ของตำรวจได้ทำ อูโทญ่าเป็นเกาะเล็กๆ ในทะเลห่างจากแผ่นเดินใหญ่ 1 กิโลเมตร และห่างจากกรุงออสโลว์ 40 กิโลเมตร โดยก่อนหน้านี้มีการตั้งคำถามว่าทำไมไม่ใช้เฮลิคอปเตอร์ ซึ่งได้รับคำตอบว่า "เดลต้าฟอร์ซ" มีเฮลิคอปเตอร์อยู่แค่ 1 ลำ แต่ขณะเกิดเหตุคนขับลาพักร้อน

กำลังพลคนหนึ่งในหน่วยเดลต้าฟอร์ซเผยว่า ขณะเดินทางจากกรุงออสโลว์ด้วยรถยนต์ และลงเรือข้ามทะเลเข้าถึงเกาะก็ยังคงได้ยินเสียงปืนอยู่ และเมื่อพบคนร้าย คือนายแอนเดิร์ส เบห์ริ่ง เบรวิค ชาวนอร์เวย์อายุ 32 ปี เจ้าหน้าที่ก็ได้ตะโกนให้มอบตัว ซึ่งนายเบรวิคก็ยอมทำตามโดยละม่อมด้วยการชูมือขึ้นเหนือศีรษะและวางอาวุธไว้ห่างตัว 5 เมตร ซึ่งเป็นปืนยาวกึ่งอัตโนมัติที่ใช้ฆ่าเยาวชนไปแล้ว 68 คน ขณะที่หัวหน้าหน่วยเดลต้าฟอร์ซบอกว่า ถ้าเดินเข้ามาใกล้กว่านี้ หรือยอมมอบตัวช้ากว่านี้ เจ้าหน้าที่จะยิงนายเบรย์วิคอย่างแน่นอน

สำหรับการจัดการของรัฐบาลต่อเหตุการณ์ร้ายแรงที่สุดของนอร์เวย์นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเจนส์ สตอลเทนเบิร์ก ซึ่งรอดชีวิตมาได้ด้วยโชคช่วย ได้สั่งตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาศึกษาข้อเท็จจริงทั้งหมดของทั้ง 2 เหตุการณ์ และยังได้เรียกร้องให้ชาวนอร์เวย์มาสนใจเข้าร่วมในกระบวนการการเมืองของชาติ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง