รายชื่อ 27 เมืองเก่าไทยที่ต้องฟื้นฟูอยู่ที่ไหนบ้าง?

Logo Thai PBS
รายชื่อ 27 เมืองเก่าไทยที่ต้องฟื้นฟูอยู่ที่ไหนบ้าง?
สผ. เปิดรายชื่อ “27 เมืองเก่าไทย” ที่มีคุณค่า ครอบคลุมทั้งเมืองเก่าเชียงใหม่ ลำปาง กำแพงเพชร พิมาย ลพบุรี ตะกั่วป่า พร้อมชงเสนอของบรัฐบาล 120 ล้านบาท เร่งอนุรักษ์และพัฒนาเมือง

วันนี้(26 พ.ค.2560) ดร.รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยา กรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เปิดเผยถึงรายชื่อเมืองเก่า ที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้ว และได้รับการประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่า ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่า ด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า พ.ศ. 2546 นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 รวมทั้งสิ้น 27 เมือง ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ คือ “กลุ่มที่ 1” พ.ศ.2548-2558 ประกอบด้วย เมืองเก่าน่าน เมืองเก่าเชียงใหม่ เมืองเก่าลำปาง เมืองเก่ากำแพงเพชร เมืองเก่าลพบุรี เมืองเก่าพิมาย เมืองเก่านครศรีธรรมราช เมืองเก่าสงขลา เมืองเก่าลำพูน

ส่วนกลุ่มที่ 2 ปี พ.ศ.2558-2560 ประกอบด้วย เมืองเก่าแพร่ เมืองเก่าเพชรบุรี เมืองเก่าจันทบุรี เมืองเก่าปัตตานี เมืองเก่าเชียงราย เมืองเก่าสุพรรณบุรี เมืองเก่าระยอง เมืองเก่าบุรีรัมย์ เมืองเก่าตะกั่วป่า เมืองเก่าพะเยา เมืองเก่าตาก เมืองเก่านครราชสีมา เมืองเก่าสกลนคร เมืองเก่าสตูล เมืองเก่าสุรินทร์ เมืองเก่าราชบุรี เมืองเก่าภูเก็ต และเมืองเก่าระนอง

อย่างไรก็ตาม เขตพื้นที่ที่จะได้รับการประกาศเป็น “พื้นที่เขตเมืองเก่า” นั้น จะต้องมีคุณลักษณะสำคัญในด้านต่างๆ ที่ใช้เป็นองค์ประกอบในการพิจารณาคัดเลือก อาทิ 1) ด้านสุนทรียภาพและคุณค่าทางศิลปะ 2) ด้านตัวแทนอาคารรูปแบบทางศิลปะสถาปัตยกรรม 3) ด้านความหายากหรือสิ่งก่อสร้างที่มีลักษณะพิเศษ 4) ด้านความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และ 5) ด้านความสำคัญทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คน เป็นต้น

ทั้งนี้ การประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าดังกล่าว ต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า รวมถึงความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เมืองเก่าในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่เมืองเก่าที่มีลักษณะพิเศษหรือโครงสร้างเฉพาะทางกายภาพ โดยที่ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ดั้งเดิมของวัฒนธรรม หรือรูปทรงของสถาปัตยกรรมท้องถิ่นได้อย่างเด่นชัดเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่าน  ผ่านการดำเนินการกำหนดขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า และจัดทำแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า

" เบื้องต้นประเมินว่าต้องใช้งบประมาณ ในการจัดทำแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า ไม่ต่ำกว่า 120 ล้านบาท โดยเฉลี่ยให้เมืองละประมาณ 5 ล้านบาท เพื่อพัฒนาเมืองเก่าทั้ง 27 แห่งทั่วประเทศ ให้เกิดความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ" ดร.รวีวรรณ กล่าว

ด้านนายภราเดช พยัฆวิเชียร ประธานอนุกรรมการกลั่นกรองและพิจารณาแผนการดำเนินงานในพื้นที่เมืองเก่า บอกว่า สำหรับแนวทางในการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าในแต่ละพื้นที่ จะเน้นการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่เมืองเก่า สู่การยกระดับสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพทั้งในด้านวัฒนธรรมและธรรมชาติ  

ทั้งนี้ สผ.เตรียมจัดประชุมณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า ภายใต้โครงการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า พร้อมทั้งการมอบประกาศนียบัตรเมืองเก่าที่ได้รับการประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าทั้ง 27 เมือง โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ในวันที่ 8 มิ.ย.นี้

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง