ชี้ "ฟ้าหลัว" เกิดจากอากาศเย็น-ปะทะความชื้นส่งผลอากาศปิดทั่วกรุง

สิ่งแวดล้อม
24 ม.ค. 61
17:49
2,320
Logo Thai PBS
 ชี้ "ฟ้าหลัว" เกิดจากอากาศเย็น-ปะทะความชื้นส่งผลอากาศปิดทั่วกรุง
กรมอุตุนิยมวิทยาชี้ กทม.-ปริมณฑลจะเกิดฟ้าหลัว สภาพอากาศปิดต่อเนื่องถึงปลายสัปดาห์ เตรียมรับอากาศเย็นจากจีนแผ่ลงมาอีกระลอก ด้านกรมควบคุมมลพิษระบุฝุ่น 2.5 ไมครอนเกินมาตรฐานหลายพื้นที่

วันนี้ (24 ม.ค.2561) นายวันชัย ศักดิ์ อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ปรากฎการณ์ฟ้าหลัวในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลในช่วง 2-3 วัน เนื่องจากความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุม บวกกับความชื้นจากทะเล ทำให้หลายจังหวัดในภาคตะวันออก ภาคกลางตอนล่าง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฟ้าหลัวเกิดขึ้น เพราะอากาศ ความชื้นและฝุ่นละอองที่ฟุ้งกระจายในอากาศไม่สามารถยกตัวจนบดบังแสงแดด โดยลักษณะแบบนี้จะเกิดต่อเนื่องจนถึงปลายสัปดาห์นี้

นายวันชัย กล่าวว่า จากการติดตามสภาพอากาศ มีโอกาสที่ความกดอากาศสูงอีกระลอกจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาถึงพื้นที่ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร ในช่วง 28-29 ม.ค.นี้ คาดว่าทำให้อุณหภูมิจะกลับมาเย็นอีกรอบหนึ่ง โดยกรุงเทพมหานครน่าจะมีอุณหภูมิเฉลี่ย 20 องศาเซลเซียส 

กรมควบคุมมลพิษ ชี้ฝุ่น 2.5 ไมครอนเกินมาตรฐาน

นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงกรณีกรุงเทพมหานครเกิดสภาพอากาศนิ่ง และชั้นอากาศผกผันใกล้พื้นดิน ทำให้มลพิษทางอากาศเกิดการสะสมตัวในปริมาณมาก โดยระบุว่า ผลการตรวจวัดฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพมหานคร เกินค่ามาตรฐานในทุกพื้นที่อยู่ที่ 54-85 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยสูงสุดที่ริมถนนอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี และ จ.สมุทรปราการ 59-71 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากค่ามาตรฐานต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร 

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า จากข่าวที่แชร์ในเว็บเพจต่างๆ ซึ่งเป็นรูปจากเว็บไซต์ http://aqicn.org/ ให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง โดยเว็บไซต์ดังกล่าวใช้ค่าเฉลี่ย 1 ชั่วโมง เทียบกับดัชนีคุณภาพอากาศของ U.S. EPA ซึ่งต้องใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงในการเทียบ ทำให้การรายงานดัชนีคุณภาพอากาศของเว็บไซต์ดังกล่าวอยู่ในช่วงสีแดง คือมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยข้อเท็จจริงหากใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง จะอยู่ในเกณฑ์สีส้ม คือเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

ทั้งนี้ มีข้อแนะนำสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว ระบบทางหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมภายนอกอาคาร และขอความร่วมมือเจ้าของยานพาหนะดูแล รักษาเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพดีและไม่ปล่อยควันดำ หากเป็นไปได้ควรลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล แล้วหันไปใช้ระบบขนส่งมวลชนจะช่วยลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์ลงได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

กทม.ฟ้าหลัว ฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน 3 วัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง