"ความรับผิดชอบต่อสังคมของดารา" กับการรีวิวสินค้าบนออนไลน์

สังคม
25 เม.ย. 61
12:22
2,619
Logo Thai PBS
"ความรับผิดชอบต่อสังคมของดารา" กับการรีวิวสินค้าบนออนไลน์
นักวิชาการหลายสาขามองถึง "ความรับผิดชอบต่อสังคมของดาราหรือบุคคลผู้มีชื่อเสียง" ที่ควรตระหนักและให้ความสำคัญในยุคที่สื่อสังคมออนไลน์ทำให้ผู้คนเข้าถึงข้อมูลได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหารและยา ซึ่งมีผลต่อชีวิตโดยตรง จากกรณีรีวิวสินค้า "เมจิกสกิน"

วันนี้ (25 เม.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตำรวจเตรียมเรียกศิลปินดารานักแสดง 7 คน ที่รับรีวิวสินค้า "เมจิกสกิน" ล็อตแรกมาสอบปากคำ หลังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.ยืนยันว่าดารา-นักแสดงที่รับรีวิวสินค้า แม้จะอ้างว่า ไม่ทราบว่ามีเลข อย.หรือไม่ ก็อาจเข้าข่ายมีความผิด

นอกเหนือจากความผิดทางกฎหมายแล้ว นักวิชาการหลายสาขาต่างมองถึงความรับผิดชอบต่อสังคมที่ดาราหรือบุคคลผู้มีชื่อเสียงควรตระหนักและให้ความสำคัญในยุคที่สื่อสังคมออนไลน์เข้ามามีบทบาทกับสังคมไทยทำให้ทุกเพศทุกวัยสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ตลอดเวลา


โดยผศ.มรรยาท อัครจันทโชติ นักวิชาการด้านสื่อมวลชน กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ดาราหรือผู้มีชื่อเสียง คือ บุคคลสาธารณะที่ทำสิ่งใดแล้วผู้คนจะให้ความเชื่อถือ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่อยู่ในวัยต้องการค้นหาตัวเอง จึงทำให้ชื่นชมผู้มีชื่อเสียงได้ง่ายและทำตามดารา ผู้มีชื่อเสียงได้ง่ายเช่นกัน ดังนั้น การที่ดาราหรือผู้มีชื่อเสียงจะรับรีวิวสินค้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์จึงต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย ไม่ใช่ได้เงินมาแล้วก็นำเสนอสินค้าไปตามที่ได้รับข้อมูลจากผู้ว่าจ้าง เพราะสื่อสังคมออนไลน์เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สิ่งผิดกฎหมายเข้าถึงทุกคนได้ง่าย และอย.ก็ไม่สามารถตรวจสอบได้หมด 

โดยเฉพาะสินค้าเกี่ยวกับอาหารและยา ซึ่งเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตโดยตรง จึงต้องระวังเป็นอย่างมาก โดยจำเป็นต้องตรวจสอบเลข อย.ให้ละเอียดว่าตรงตามสินค้าจริงหรือไม่ หากไม่แน่ใจก็ไม่ควรเสี่ยง นอกจากจะเสียชื่อเสียงแล้ว ยังเสี่ยงต่อชีวิตผู้อื่นอีกด้วย

อย่าเชื่อดารา-แนะตรวจสอบเลขอย.ก่อนใช้

ขณะที่น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มองว่าเรื่องการรีวิวสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานหรือสินค้าที่มีอย.ปลอมผ่านสื่อสังคมออนไลน์เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานาน ซึ่งดาราและคนมีชื่อเสียงจำเป็นต้องศึกษาเรื่องเหล่านี้และต้องระมัดระวังให้มาก เนื่องจากมีบทบาทมากในสังคมไทย ดาราต้องให้ความคุ้มครองผู้บริโภคเป็นสำคัญ ตรวจสอบเลขอย.ให้ละเอียดและชัดเจนว่าตรงกับสินค้าหรือไม่ มีโรงงานผลิตสินค้าจริงหรือไม่

เพราะมีเลขอย.ไม่ได้แปลว่าสินค้าจะถูกกฎหมาย ผู้บริโภคไทยต้องทำงานให้มากขึ้น เพราะกว่าร้อยละ 90 ของการขึ้นทะเบียนปลอม คือ ไม่ได้มีแหล่งผลิตสินค้าจริง เพราะฉะนั้นอย่าเชื่อดารา และต้องช่วยตัวเองให้มากในการตรวจสอบก่อนที่จะเลือกซื้อสินค้าใด

โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วย ต้องเข้ามาช่วยกันตรวจสอบและเฝ้าระวังการโฆษณา อย.อาจต้องมีวิธีการช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์ ได้ด้วยตัวเอง คือ การเปิดให้ใช้ประชาชนสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งจะมีทั้งข้อมูลเลขที่โฆษณา และข้อความโฆษณา เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาทั้งส่วนของผู้บริโภคและดารา ผู้มีชื่อเสียงด้วย


ขณะที่ปัญหาที่น่ากังวลอีกประการหนึ่ง คือ ผู้บริโภคไม่ได้ต้องการซื้อสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการขายสินค้าด้วย โดยการเป็นตัวแทนจำหน่ายแล้วอาจกลายเป็นแชร์ลูกโซ่ในที่สุด ซึ่งอาจนำไปสู้คดีฉ้อโกงได้ ผู้บริโภคจึงควรระวังให้มาก

อัยการ ชี้เข้าข่ายผิดกฎหมายผู้บริโภค 

ด้านนายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีสำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด ระบุว่า ในกรณีที่ดาราหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงรีวิวหรือโฆษณานี้ ต้องพิจารณาจากคำพูดหรือประโยคที่ใช้ในการโฆษณา หากผู้โฆษณาไม่เคยใช้สินค้าแต่ระบุว่า ใช้แล้วดีหรือโฆษณาอวดอ้างใด ๆ ก็จะมีความผิดฐานหลอกลวง


ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2541 มาตรา 22 (1) ระบุว่า ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง และ(2) ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริงหรือไม่ก็ตาม แต่เจ้าหน้าที่อาจต้องพิจารณาเพิ่มเติมว่าดาราหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงไม่ทราบว่าสินค้าเป็นอย.ปลอมหรือไม่ เนื่องจากการกระทำผิดนี้ เป็นความผิดทางอาญาต้องดูที่เจตนาของผู้กระทำความผิดร่วมด้วย


สำหรับความรับผิดชอบต่อสังคม กรณีนี้ถือเป็นกรณีศึกษาที่ประชาชนให้ความสนใจและต่อไปในอนาคตหากเกิดกรณีเช่นนี้ขึ้นอีก อาจจะเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่านี้ เพราะทุกคนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการโฆษณาแล้ว ดังนั้น ดาราหรือผู้มีชื่อเสียงจึงต้องมีหลักธรรมาภิบาลในงานทำงาน ไม่ใช่ได้รับเงินมาจากผู้จ้างโฆษณาแล้วเขาให้ข้อมูลอย่างไร ก็ว่าไปตามนั้น

 

ตรวจชื่อ 7 ดารารีวิวสินค้าเมจิกสกิน

ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือ อย.ตรวจสอบและส่งรายชื่อดารา 7 คน ที่เข้าข่ายความผิด มาให้ตำรวจพิจารณาออกหมายเรียกแล้ว แต่ขอรอคำสั่งจากพล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อีกครั้ง

สำหรับดารานักแสดง และผู้มีชื่อเสียง ที่พบว่ามีหลักฐานการรีวิวสินค้า ซึ่งเป็นข้อมูลที่ตำรวจและ อย.ตรวจสอบและให้ข้อมูล เช่น ม้า อรนภา, ไอซ์ อภิษฎา, มาร์ช จุฑาวุฒิ , พุฒิ พุฒิชัย, วุ้นเส้น วิริฒิพา, แพตตี้ อังสุมาลิน และ ลิเดีย ศรัณย์รัชต์

โดยไทยพีบีเอสตรวจสอบค่ารีวิวสินค้าของดาราที่เจ้าของผลิตภัณฑ์จ้าง 1 ภาพต่อ 1 สัปดาห์ โดยอ้างอิงจากยอดผู้ติดตามในโชเชียลมีเดีย

  • เริ่มที่ผู้ติดตาม 1 แสนคน ราคาอยู่ที่ 20,000 - 30,000 บาท ต่อการโพสต์ 1 ครั้ง
  • ยอดผู้ติดตาม 2 แสนคนขึ้นไป ค่าตัวอยู่ที่ 40,000 - 50,000 บาทต่อการโพสต์ 1ครั้ง
  • ส่วนดารานักแสดงระดับนางเอกและพระเอก จะอยู่ที่ประมาณ 1 แสน 3 หมื่น ถึง 1 แสน 5หมื่นบาท ต่อการโพสต์ 1 ครั้ง

ไทยพีบีเอสตรวจสอบข้อมูลจากกลุ่มผู้ใช้โชเซียลและเพจที่ติดตามกรณีนี้ พบข้อมูลตรงกัน เช่นเดียวกับเพจ ที่ใช้ชื่อว่า เจ้าเกาะดอกท้อ บก.อสรพิษ ที่แสดงความเห็นไว้น่าสนใจ ว่าสาเหตุที่เจ้าของธุรกิจสินค้าไม่ได้มาตรฐานเหล่านี้กล้าลงทุน หลอกผู้บริโภค เพราะหวังความเชื่อใจ ซึ่งส่วนใหญ่ได้ผลหลายคนให้เหตุผลว่าคนดังระดับนี้ยังใช้

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

เรียก 7 ดาราความผิดชัดรีวิวสินค้า "เมจิกสกิน" เข้าข่ายโฆษณา

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง