"ลอมบอก" เมืองท่องเที่ยวบนวงแหวนไฟ

ภัยพิบัติ
30 ก.ค. 61
12:28
2,099
Logo Thai PBS
"ลอมบอก" เมืองท่องเที่ยวบนวงแหวนไฟ
เมืองท่องเที่ยวชื่อดัง ทั้งเกาะลอมบอก - บาหลี ของประเทศอินโดนีเซีย ตั้งอยู่บนแนววงแหวนไฟที่มักเกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง โดยเฉพาะภูเขาไฟรินจานี ความสูง 3,700 เมตร สูงอันดับ 2 ของอินโดนีเซีย เป็นแหล่งยอดนิยมของนักท่องเที่ยวที่ต้องไปพิชิตความสูง

เหตุการณ์แผ่นดินไหว 6.4 ที่เมืองท่องเที่ยวลอมบอก ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวานนี้(29 ก.ค.2561) และทำให้มีผู้เสียชีวิตเบื้องต้น 14 คน บาดเจ็บ 40 คน และมีนักท่องเที่ยวตกค้างบนภูเขาไฟรินจานี แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังกว่า 800 คน ในจำนวนนี้มีรายงานเป็นคนไทยจำนวน 304 คน

ถ้าดูสภาพทางธรณีวิทยา หมู่เกาะในประเทศอินโดนีเซีย เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ตั้งอยู่บนวงแหวนไฟ โดยรอบมหาสมุทรแปซิฟิก และมักจะเกิดแผ่นดินไหวขึ้นบ่อยครั้ง และในพื้นที่เกาะลอมบอกเอง ก็ยังมีภูเขาไฟซึ่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว

สำหรับเกาะลอมบอก ตั้งอยู่ใกล้กับเกาะชวา อินโดนีเซีย เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม เนื่องจากมีทะเลสวยงาม เช่นเดียวกับเกาะบาหลี และมัลดีฟ

ซึ่งสถานที่ขึ้นชื่อที่นั่นคือ ภูเขาไฟรินจานี ในอุทยานแห่งชาติ ความสูง 3,700 เมตร สูงอันดับ 2 ของอินโดนีเซียเป็นแหล่งยอดนิยมของนักท่องเที่ยว ที่มักจะเดินขึ้นเขาไปชมธรรมชาติ


สำหรับหมู่เกาะของอินโดนีเซีย ตั้งอยู่บน วงแหวนไฟ หรือ Ring of Fire เป็นบริเวณในมหาสมุทรแปซิฟิก แนวประเทศที่ตั้งอยู่บนวงแหวนไฟนี้ เกิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นที่ประเทศนิวซีแลนด์ อินโดนีเซีย ฟิลิปินส์ ญี่ปุ่น อเมริกา แถบตะวันตกของอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และอเมริกาใต้

ลักษณะของวงแหวนเป็นเส้นเกือกม้า ความยาวรวมประมาณ 40,000 กิโลเมตร และวางตัวตามแนวร่องสมุทร แนวภูเขาไฟ และบริเวณขอบแผ่นเปลือกโลก

โดยมีภูเขาไฟที่ตั้งอยู่ภายในวงแหวนไฟทั้งหมด 452 ลูก เป็นพื้นที่ที่มีภูเขาไฟคุกกรุ่น อยู่กว่าร้อยละ 75 ของภูเขาไฟคุกรุ่นทั้งโลก ซึ่งบางครั้งจะเรียกว่า circum-Pacific belt หรือ circum-Pacific seismic belt

วงแหวนไฟเป็นผลมาจากการเคลื่อนที่ และการชนกันของแผ่นเปลือกโลก ส่วนใต้ของวงแหวนไฟ เป็นส่วนที่มีความซับซ้อนของแผ่นเปลือกโลก มีแผ่นเปลือกโลกขนาดเล็กมากมาย ที่ติดกับแผ่นแปซิฟิก

โดยเริ่มตั้งแต่หมู่เกาะมาเรียนา ประเทศฟิลิปปินส์ เกาะบูเกนวิลล์ ประเทศตองกา และประเทศนิวซีแลนด์ แนววงแหวนไฟยังมีแนวต่อไปเป็นแนวแอลไพน์ ซึ่งเริ่มต้นจากเกาะชวา เกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย

กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ของแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ เกิดขึ้นในบริเวณวงแหวนไฟ และยังมีแนวแผ่นดินไหวอีก 2 แห่ง ได้แก่ แนวเทือกเขาอัลไพน์ ซึ่งมีแนวต่อมาจากเกาะชวาสู่เกาะสุมาตราผ่านเทือกเขาหิมาลัย และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

มีหลายครั้ง แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในแนววงแหวนไฟ เช่น แผ่นดินไหวคาสคาเดีย ขนาดความรุนแรงที่ 9 เกิดเมื่อปี 1700 แผ่นดินไหวภาคคันโต ในประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี ค.ศ. 1923 ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1 แสน 3 หมื่น คน

แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในฮันชินในปี 1995 และครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยบันทึกไว้ คือแผ่นดินไหวเมื่อ ค.ศ. 2004 บริเวณมหาสมุทรอินเดีย ขนาด 9.3 ทำให้เกิดคลื่นสึนามิพัดถล่มบริเวณโดยรอบ มหาสมุทรอินเดีย

และครั้งนั้นไทยก็ได้รับผลกระทบด้วยโดยเฉพาะที่อินโดนีเซียถูกถล่มด้วยคลื่นขนาด 10 เมตร ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 230,000 คน

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง