ชี้ไทย "เสี่ยงน้อย" คลื่นยักษ์ถล่มจากภูเขาไฟทะเลอันดามัน

ภัยพิบัติ
26 ธ.ค. 61
18:41
747
Logo Thai PBS
ชี้ไทย "เสี่ยงน้อย" คลื่นยักษ์ถล่มจากภูเขาไฟทะเลอันดามัน
พล.อ.อนุพงษ์ กำชับเตรียมความพร้อมระบบเตือนภัยจากสึนามิ ซักซ้อมคนแต่ต้องไม่ทำให้แตกตื่น ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา ชี้แจงข่าวลือเตือน 9 จังหวัดอันดามัน อ่าวไทย ระวังซ้ำรอยคลื่นยักษ์ถล่มอินโดนีเซีย ยืนยันไทยเสี่ยงน้อยจะได้รับผลกระทบจากภูเขาไฟปะทะในทะเลอันดามัน

วันนี้ (26 ธ.ค.2561) หลังเกิดคลื่นสึนามิพัดถล่มช่องแคบซุนดาของอินโดนีเซียจากสาเหตุภูเขาไฟอานัก กรากาเตา ปะทุและเกิดดินถล่มใต้ทะเล ทำให้ให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการเตรียมพร้อมของไทยว่า ระบบแจ้งเตือนของไทยมี 2 ทุ่นอยู่ในทะเล แต่ทุ่นหนึ่งได้ติดกับเรือประมงไป

ขณะนี้เตรียมจะไปติดตั้งใหม่ประมาณเดือนม.ค.2562 อย่างไรก็ตาม แหล่งที่ได้สัญญาณการเกิดสึนามิไม่ได้มาจากทุ่นของไทยเพียงอย่างเดียว แต่ยังได้จากข้อมูลในส่วนของต่างประเทศต่างๆ เมื่อมีสัญญาณมาแล้วว่าจะมีการเกิดสึนามิในพื้นที่ไหนจะมีการแจ้งเตือนทันที

ส่วนระบบแจ้งเตือนประชาชนในหอกระจายข่าว ก็มีการตรวจสอบตลอดเวลา ขณะนี้หอกระจายข่าวพร้อมระบบที่จะรับสัญญาณและแจ้งเตือนไปในพื้นที่ก็อยู่ในสภาพที่ใช้ได้ ส่วนการซักซ้อมได้ให้นโยบายไปให้เพิ่มความถี่ในการซักซ้อม ความพร้อมของเจ้าหน้าที่และเครื่องมือ แต่ต้องระวังไม่ให้คนแตกตื่น โดยอยากให้ซ้อมเป็นพื้นที่ย่อยเพื่อให้มั่นใจว่าหากเกิดเหตุการณ์สึนามิ สามารถจะแจ้งเตือนประชาชนและอพยพได้ทันเวลา ตอนนี้ไม่มีอะไรต้องกังวล

ขณะที่นายเอกวิทย์ ภิญโญธรรมโนทัย ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.กระบี่ กล่าวว่า ขอให้มีการตรวจเช็กอุปกรณ์ ระบบแจ้งเตือนภัยสึนามิที่ติดตั้งไว้ตามจุดต่างๆ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และปรับปรุงเส้นทางหนีภัย เช่น บนเกาะพีพี ที่มีสภาพชำรุด มีการสร้างสิ่งปลูกสร้างบดบัง เส้นทางคับแคบ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยว เนื่องจากเหตุไม่คาดฝันอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

 

 

ชี้แจงไทยเสี่ยงน้อยสึนามิจากภูเขาไฟ

กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ออกหนังสือชี้แจงกรณีที่นักวิชาการ ระบุว่า มี 9 จังหวัดของภาคใต้ที่มีพื้นที่ติดทะเลอันดามัน และอ่าวไทย คือ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพรมีโอกาสจะเกิดคลื่นยักษ์แบบเดียวกับภูเขาไฟ อานักกรากาเตา ที่ปะทุขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทําให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก และเกิดความสับสนเกี่ยวกับข่าวสารที่ไม่เป็นความจริง

กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ขอชี้แจงว่า แนวภูเขาไฟที่มีอยู่บริเวณทะเลอันดามัน มีความแตกต่างทั้งทางด้านลักษณะ ทางกายภาพ ระยะทางของแหล่งกําเนิดถึงชายฝั่งที่มากกว่าความลึกและลักษณะของท้องทะเลและขอบของชายฝั่งที่ ลึกกว่า

ตลอดจนพฤติกรรมของการเกิดภูเขาไฟแถบนี้ที่เกิดน้อยกว่า ซึ่งมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงและไม่สามารถ เทียบเคียงบริบทกับเหตุการณ์คลื่นสึนามิที่ประเทศอินโดนีเซียนี้ได้ ประเทศไทยจึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัย ลักษณะดังกล่าวน้อยกว่า และมีผลกระทบน้อยเช่นกัน โดยปัจจัยหลักที่จะทําให้เกิดคลื่นสึนามิเคลื่อนเข้าหาฝั่งที่มีผลกระทบรุนแรงเกิดขึ้นมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในทะเล

ซึ่งหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่เมื่อ พ.ศ.2547 ภาครัฐได้ลงทุนและพัฒนาระบบการตรวจวัดแผ่นดินไหวของไทยให้มีศักยภาพและมาตรฐานสากลในปัจจุบัน และมีเครื่องมือหลากหลายชนิดเพื่อติดตามการเกิดแผ่นดินไหวในภูมิภาคนี้ได้อย่างถูกต้อง รวดเร็วและแม่นยํา

อีกทั้งการประสานความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐในการทํางานข้อมูล และ บริหารจัดการอย่างเป็นระบบ จึงขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากกรมอุตุนิยมวิทยาเท่านั้น และขอความ รวมมือต่อข้อความที่มาจากแหล่งที่ไม่มีข้อมูลอ้างอิงและขาดความน่าเชื่อถือ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"อินโดนีเซีย" เตือนประชาชนอยู่ห่างจากชายฝั่ง

พังงา-กระบี่-ภูเก็ต จัดงานรำลึก 14 ปี "สึนามิ"

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง