คาด "วัวแดง" ห้วยขาแข้งติดเชื้อ "โรคคอบวม" จากวัวบ้าน

สิ่งแวดล้อม
11 ก.ย. 62
15:51
1,411
Logo Thai PBS
คาด "วัวแดง" ห้วยขาแข้งติดเชื้อ "โรคคอบวม" จากวัวบ้าน
สัตวแพทย์ สันนิษฐานวัวแดงป่าห้วยขาแข้ง อาจติดเชื้อโรคคอบวมจากการปศุสัตว์ พบรอยโรคเป็นก้อนฝีที่ซอกขา ระบุน่าเป็นห่วงเพราะอยู่ใกล้พื้นที่โครงการพัฒนาการท่องเที่ยว มีชุมชนที่นำสัตว์เลี้ยงมาหากิน เสี่ยงสัตว์ป่าติดโรคระบาดจากสัตว์บ้าน ส่งก้อนฝีตรวจเชื้อที่ มก.

วันนี้ (11 ก.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊กห้วยขาแข้งสืบสาน โพสต์ภาพ และข้อความว่า วัวแดงตายที่ชายขอบมรดกโลก !! การส่งสัญญาณเตือนที่เราไม่อยากให้เกิด “เราพบร่องรอยโรคที่ซอกขาหน้า เป็นก้อนฝีขนาดพอสมควร วินิจฉัยสาเหตุการตายได้ว่า เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย"

วัวแดงรุ่น ตัวเมียถูกพบตายอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ติดเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าห้วยแข้งเมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา ตำแหน่งที่พบเป็นพื้นที่กันชนของเขตฯห้วยขาแข้ง ตามพิกัด 541308 E และ 1722167 N จากการตรวจสอบข้อมูล นายธานี วงศ์นาค หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ระบุว่า จุดนี้อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติห้วยทับเสลา-คอกควาย ด้านหลังหน่วยพิทักษ์ป่าทุ่งแฝก และเป็นพื้นที่ที่มีการเดินสำรวจ และเตรียมผนวกเพิ่มเติมเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งในเร็วๆ นี้

จากการเข้าตรวจสอบซาก ไม่พบร่องรอยถูกยิง หรือบาดแผลการทำร้ายโดยมนุษย์ หรือบาดแผลจากสัตว์ผู้ล่าหรือรอยช้ำจากการต่อสู้กันเอง

นายสัตวแพทย์ไพโรจน์ พรมวัฒน์ สัตวแพทย์สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งร่วมตรวจพิสูจน์การตายของวัวแดงร่วมกับนายสมพร พากเพียร นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ผู้ช่วยหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ระบุว่า

เราพบร่องรอยโรคที่ซอกขาหน้า เป็นก้อนฝีขนาดพอสมควร วินิจฉัยสาเหตุการตายได้ว่า เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่สภาพซากตายมาหลายวันจนเริ่มเน่าจึงไม่สามารถเก็บเนื้อเยื่อตรวจในแลบได้

เมื่อพิจารณาจากจุดที่พบซาก อยู่ทางด้านใต้ของหน่วยพิทักษ์ป่าทุ่งแฝก ประมาณ 1 กม. และห่างจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ไปทางตะวันตกค่อนไปทางเหนือประมาณ 1.3 กม. ห่างจากแนวลำห้วยทับเสลาประมาณ 800 เมตร

ก่อนหน้านี้มีความกังวลว่าสัตว์ป่า โดยเฉพาะวัวแดง อาจติดเชื้อโรคจากปศุสัตว์ที่ถูกนำเข้ามาเลี้ยงอย่างผิดกฎระเบียบจำนวนนับพันตัว จนนำไปสู่แนวทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่ด้วยการเสนอทางเลือกต่างๆ โดยเฉพาะการเร่งให้นำปศุสัตว์ออกจากพื้นที่ และกำหนดแนวทางจัดการพื้นที่กันชน โดยการท่องเที่ยวเชิงนิเวศสัตว์ป่า ก็เป็นแนวทางหนึ่ง เพื่อให้เกิดความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างยั่งยืน

อ่านข่าวเพิ่มเติม มูลนิธิสืบ ชี้ "ซาฟารี" ห้วยขาแข้งไม่ใช่คำตอบสุดท้ายจัดการสัตว์ป่า

ภาพ: เฟซบุ๊กห้วยขาแข้งสืบสาน

ภาพ: เฟซบุ๊กห้วยขาแข้งสืบสาน

ภาพ: เฟซบุ๊กห้วยขาแข้งสืบสาน

คาดเป็น "โรคคอบวม" ติดจากวัวบ้าน

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ นายสัตวแพทย์เกษตร สุเตชะ สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า  เบื้องต้นจากการให้ข้อมูลของสัตวแพทย์ ที่ทำเคสนี้ น่าสงสัยว่าวัวแดงตัวนี้ น่าจะตายจากการติดเชื้อโรคคอบวม ซึ่งพบในกลุ่มวัว และควายบ้าน เนื่องจากมีลักษณะอาการที่บ่งชี้คือเป็นก้อนฝีตามขาและร่างกายของสัตว์ 

มีความเสี่ยงหากจะพัฒนาพื้นที่เป็นซาฟารี เพราะเชื้อจากการปศุสัตว์ทั้งวัว ควายที่นำมาเลี้ยงใช้พื้นที่ทับซ้อนกันบริเวณทุ่งหญ้า และอ่างเก็บน้ำทับเสลา เชื้อโรคจากสัตว์บ้านที่มักพบในวัว เช่น โรคคอบวม ปากเท้าเปื่อย แท้งติดต่อ พิษสุนัขบ้า และฉี่หนู ซึ่งปศุสัตว์ตรวจเจอทุกปี มีโอกาสฝังตัวอยู่ และติดต่อจากสัตว์บ้านสู่สัตว์ป่า
ภาพ: เฟซบุ๊กห้วยขาแข้งสืบสาน

ภาพ: เฟซบุ๊กห้วยขาแข้งสืบสาน

ภาพ: เฟซบุ๊กห้วยขาแข้งสืบสาน

 

ชี้เสี่ยงภัยคุกคามจากการล่า-แนะตัดตอรอยโรค

นายสัตวแพทย์เกษตร กล่าวว่า ขณะนี้อยากให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช สอบสวนโรคร่วมกัน  ประสานปศุสัตว์เข้าตรวจสอบหารอยโรคจากวัว ควายบ้าน ที่ชาวบ้านนำมาเลี้ยงในบริเวณนี้ เพื่อหาทางรับมือ และกำจัดโรคเพื่อตัดตอนเชื้อโดยเร็ว เพื่อไม่ให้แพร่ระบาดไปยังฝูงวัวแดง กระทิง และสัตว์อื่นๆที่ออกมาหากินในพื้นที่เขตพื้นที่ทับซ้อนในขอบป่าห้วยขาแข้ง

น่ากังวลถึงความเสี่ยง ยิ่งการฝังวัวแดงไว้ในพื้นที่ โดยเฉพาะโรคคอบวม ที่มักระบาดในช่วงหน้าฝน ขณะที่สัตว์ป่าออกมากินหญ้าระบัด ถ้าบังเอิญเจอกับเชื้อโรคก็จะเกิดการระบาดได้ อดีตเมื่อ 30 ปีก่อนวัวแดงในป่าภาคเหนือก็หายไปเพราะติดเชื้้อระบาดจากวัวที่เลี้ยงในป่า

นอกจากนี้ยังกังวลว่าหากตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังในช่วง 1 ปีพบว่าบริเวณพื้นที่ป่ารอยต่อห้วยขาแข้งมีการลักลอบเข้ามายิงวัวแดงตายอย่างน้อย 2 ตัวแล้ว และหากยิ่งเปิดเป็นพื้นที่การท่องเที่ยวยิ่งมีความเสี่ยงเพิ่มหรือไม่

ส่ง "ก้อนฝี" ตรวจสอบหาสาเหตุเพิ่มเติม

แหล่งข่าวจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช ยอมรับว่ายังไม่สามารถสรุปว่าวัวแดงตายจากโรคคอบวมหรือไม่ เนื่องจากซากมีสภาพเน่า ไม่สามารถนำชิ้นส่วนอวัยวะภายในไปตรวจสอบ แต่ได้รับทราบว่ามีอาการของโรค แต่จะใช่หรือไม่ใช่ ขณะนี้มีการตัดชิ้นเนื้อส่งต่อให้กรมปศุสัตว์ เพื่อตรวจสอบอย่างละเอียด

ส่วนนายธานี วงศ์นาค หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง  กล่าวว่า ได้รับรายงานแล้วสัตวแพทย์รายงานว่าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่ยังไม่ได้บอกชัดว่าโรคอะไร แต่ทางเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าได้มีการเฝ้าระวังสัตว์ป่า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเพิ่ม 

ด้านนายสัตวแพทย์ไพโรจน์ พรมวัฒน์ สัตวแพทย์สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง กล่าวว่า เนื่องจากซากวัวแดงมีสภาพเน่าตายมาแล้วไม่ต่ำกว่า 4 วันทำให้อวัยวะภายในเน่า แต่เบื้องต้นจากการดูจากรอยวิกรานโรค ยังไม่อาจระบุว่าติดเชื้อแบคทีเรียตัวไหน หรือบ่งชี้ว่าเป็นโรคคอบวม แต่ก็ยังพยายามหาสาเหตุการตายด้วยการเก็บก้อนฝีจากขาวัวแดง เพื่อจะส่งไปตรวจหาเชื้อที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นสาเหตุตายของวัวแดงต่อไป

จากการตรวจสอบยังไม่พบว่ามีการระบาดของโรคอบวมในกลุ่มสัตว์เลี้ยง จึงยังไม่สามารถสรุปสาเหตุได้แน่ชัดต้องรอผลเพาะเพาเชื้อจากฝีที่จะส่งไปตรวจก่อน และไม่อยากให้ชาวบ้านเกิดความกังวล 

รู้จักโรคคอบวมในสัตว์ 

ข้อมูลจากสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ระบุว่า สำหรับโรคฮโมรายิกเซฟติซีเมีย หรือ"โรคคอบวม" เป็นโรคระบาดรุนแรงของโค-กระบือ แต่โรคนี้จะมีความรุนแรงน้อยลงในสัตว์อื่นๆ เช่น แกะ สุกร ม้า อูฐ กวางและช้าง เป็นต้น ลักษณะสำคัญของโรคคือ หายใจหอบลึกมีเสียงดัง คอหรือหน้าบวมแข็ง อัตราการป่วยและอัตราการตายสูง

สาเหตุและการแพร่ระบาด เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ พาสทูเรลลา มัลโตซิดา (Pasteurella multocida) สัตว์ที่เป็นตัวเก็บเชื้อ จะปล่อยเชื้อออกมาปนเปื้อนกับอาหารและน้ำ เมื่อสัตว์ตัวอื่นกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อปนอยู่เข้าไป ก็จะป่วยเป็นโรคนี้และขับเชื้อออกมากับสิ่งขับถ่ายต่างๆ เช่นน้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ ทำให้โรคแพร่ระบาดต่อไป เชื้อ Pasteurella multocida นี้เมื่อปนเปื้อนอยู่ในแปลงหญ้าจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 24 ชั่วโมง แต่ถ้าอยู่ในดินที่ชื้นแฉะอาจมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 1 เดือน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทีมวิจัยแจงโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวฯ “ห้วยขาแข้ง”

"กรมป่าไม้" ยังไม่เคาะใช้พื้นที่ผุดซาฟารีห้วยขาแข้ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง