“รฟท.-ซีพี” ลงนามไฮสปีด 3 สนามบิน

เศรษฐกิจ
24 ต.ค. 62
18:03
1,568
Logo Thai PBS
“รฟท.-ซีพี” ลงนามไฮสปีด 3 สนามบิน
หลังจากใช้เวลาเกือบ 2 ปีตั้งแต่เริ่มโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วันนี้ รฟท. และซีพีได้ลงนามสัญญาร่วมกันแล้ว ผู้บริหารกลุ่มซีพีฯ ยืนยันว่าจะลงพื้นที่ก่อสร้างภายใน 1 ปี หลังการรถไฟฯ ออกหนังสือเริ่มงานก่อสร้าง พร้อมเตรียมหาพันธมิตรระดมทุนเพิ่ม

วันนี้ (24 ต.ค.2562) พิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด หรือ กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มCPH) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

 

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะผู้แทนกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร เปิดเผยว่า  บริษัทฯเตรียมการไม่ต่ำกว่า 2 ปี เพื่อร่วมประมูลโครงการนี้ หลังประมูลประมาณ 11 เดือนในการทำงาน มีการเจรจาอย่างเต็มที่ โดยในส่วนของกรอบสัญญาแนบท้ายมีกำหนดเวลาชัดเจน ยืนยันว่าจะเข้าพื้นที่ก่อสร้างภายใน 12 เดือน หรือ ไม่เกิน 24 เดือน หลังจากที่การรถไฟฯ มีการออกหนังสือเริ่มงานก่อสร้าง (NTP) และแล้วเสร็จภายใน 5 ปี ซึ่งในส่วนของแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เป็นส่วนการก่อสร้างได้เร็วที่สุดเนื่องจากได้เตรียมรองรับรถไฟความเร็วสูงไว้แล้ว แต่ส่วนดอนเมือง-พญาไท และพื้นที่สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา น่าจะเป็นส่วนที่มอบพื้นที่ยากที่สุด 

 

ส่วนการแบ่งงานภายในกลุ่มพันธมิตร ยืนยันว่า พาร์ทเนอร์ถือว่ามีความเข้มแข็งในแต่ละด้าน โดยบมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ และบมจ. ช.การช่าง มีความสามารถในการก่อสร้างด้านโยธา China Railway Construction Corporation Limited จากสาธารณรัฐประชาชนจีน เชี่ยวชาญเรื่องระบบรางรถไฟความเร็วสูง และการบริหารงานเกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูง

สำหรับตัวเลขสัดส่วนผู้ถือหุ้นยังไม่สามารถบอกได้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายใหม่นั้น หากทางกลุ่มพันธมิตรต้องการระดมทุนก็อาจเป็นการร่วมทุนไปตามระยะการก่อสร้าง ซึ่งยังมีอีกหลายจุด ที่จะทำให้มีผู้ถือหุ้นรายใหม่เข้ามาร่วมลงทุนได้ โดยจะต้องเสนอขอให้ รฟท. เป็นผู้พิจารณาก่อน

 

 

นายศุภชัย กล่าวต่ออีกว่า ด้านเงินกู้นั้น จะมาจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) และ ธนาคารเพื่อการพัฒนาประเทศจีน (CDB)  รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย ทั้งนี้ หากเป็นการกู้ในประเทศจะคิดเป็นค่าเงินบาท แต่หากนำเข้าจากต่างประเทศจะคิดเป็นดอลล่าห์สหรัฐฯ สำหรับในโครงสร้างงานโยธาอยู่ที่ประมาณ 65-70% ขณะที่ งานระบบเทคโนโลยีอยู่ที่ประมาณ 30-35% นอกจากนี้ ในส่วนการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ยังถือว่าเป็นเรื่องที่ไกล แต่ยอมรับว่ากองทุนโครงสร้างพื้นฐานมีการพิจารณาอยู่แล้ว เนื่องจากอาจจะเป็นตัวช่วยที่ดีของโครงการ

ขณะที่การพัฒนาพื้นที่มักกะสันที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นพื้นที่สีเขียวหรือปอดคนกรุงเทพฯ นั้น นายศุภชัย ระบุว่า ได้เตรียมแผนที่จะเสนอคณะกรรมการฯ โดยมีแผนพัฒนาเป็นอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะออกแบบให้สอดคล้องกับนักธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในพื้นที่อีอีซี และนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนในการพัฒนาพื้นที่มักกะสันประมาณ 1 แสน 4 หมื่นล้านบาท

มีความเชื่อมั่นว่า ทำให้สำเร็จได้ คณะกรรมการเข้มงวดมาก การเจรจาตรงไปตรงมา ใช้คำว่า "หิน" เป็นโครงการแรกที่เป็นพีพีพี ทีโออาร์พีพีพี และโครงการไซส์ใหญ่กว่าที่เคยเห็น ซึ่งมีพาร์ทเนอร์จากต่างประเทศเข้ามาดูด้วย หวังว่าโครงการนี้จะเป็นโครงการนำร่องโครงการรถไฟความเร็วสูงอื่นๆ ขณะที่ในการปฏิบัติต้องการความยืดหยุ่นระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน

ด้านนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวยอมรับว่า การจัดการเรื่องสาธารณูปโภคของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีโดยเฉพาะท่อส่งน้ำมันไม่มีปัญหา แม้ว่าในช่วงของพญาไท-ดอนเมืองมีปัญหาจริง แต่จะได้รับการดำเนินการแก้ไขตั้งแต่แรก

 

ส่วนในการมอบพื้นที่นั้นสามารถทยอยมอบพื้นที่พร้อมการก่อสร้างให้ได้หากพื้นที่ในช่วงใดมีปัญหาจะต้องไม่เป็นอุปสรรคในการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในสัญญาระบุว่าจะมีการส่งมอบพื้นที่ให้ไม่เกิน 2 ปี โดยทางการรถไฟฯจะพยายามเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่ให้เร็วขึ้นส่วนปัญหาพื้นที่เวนคืนนั้นคาดว่าจะมีการนำเรื่องเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในครั้งหน้า

สำหรับประเด็นที่ทางกระทรวงคมนาคมมีบนโยบาย Thai first ที่จะมีการนำวัสดุภายในประเทศมาใช้นั้น มองว่าผู้รับเหมาไทยมีความสามารถที่จะสามารถออกแบบและใช้วัสดุภายในประเทศไทยในการก่อสร้างรวมถึงมีผู้ประกอบการของไทยหลายรายสามารถดำเนินการผลิตได้ แต่สิ่งที่ไทยยังไม่สามารถดำเนินการได้เองคือเทคโนโลยีการควบคุมการเดินรถไฟความเร็วสูง

 

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน มีแนวเส้นทางเชื่อมโยงท่าอากาศยานสำคัญของประเทศ โดยเริ่มต้นที่ท่าอากาศยานดอนเมือง วิ่งตรงเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ ผ่านสถานีมักกะสัน เลี้ยวเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มุ่งหน้าต่อไปตามแนวทางรถไฟสายตะวันออก ผ่านแม่น้ำบางปะกง เข้าสู่สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และเข้าสู่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นสถานีสุดท้าย ระยะทางรวม 220 กิโลเมตร โดยขบวนรถสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง