"สมัชชาคนจน" กับปัญหาผลกระทบจาก "เขื่อนปากมูล"

สิ่งแวดล้อม
30 ต.ค. 62
11:10
5,022
Logo Thai PBS
"สมัชชาคนจน" กับปัญหาผลกระทบจาก "เขื่อนปากมูล"
"กรณีเขื่อนปากมูล" เป็นหนึ่งในประเด็นที่ "สมัชชาคนจน" เรียกร้องมาเกือบทุกรัฐบาล แต่ยังไม่มีความจริงจังในการแก้ปัญหาระยะยาว กระทั่งการชุมนุมที่กรุงเทพฯ ครั้งล่าสุด มีข้อตกลงร่วมกับตัวแทนรัฐบาล แต่ยังต้องติดตามต่อว่า จะแก้ปัญหาให้ชาวบ้านได้ตามข้อตกลงหรือไม่
หากินลำบากแล้ว จะหากินกับปลาเล็กปลาน้อยยังพอได้กิน แต่ถ้าเป็นปลาเศรษฐกิจคือไม่มีแล้ว อาชีพเรามันหายไปแล้ว

นี่คือเสียงสะท้อนของชาวบ้านคันเปือย อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี ที่มีจำนวนไม่น้อย ยังคงต้องหาเลี้ยงครอบครัวด้วยการจับปลา แต่การวางอวนไว้ข้ามคืนและการออกเรือไปหาปลาแต่ละรอบ แทบไม่ได้ปลากลับมา สะท้อนวิกฤตด้านทรัพยากร

ปี 2543 คณะกรรมการเขื่อนโลก (The World Commission on Dams - WCD) แต่งตั้งโดยธนาคารโลก ใช้เขื่อนปากมูลเป็น 1 ใน 7 กรณีศึกษาทั่วโลก ศึกษาผลกระทบของเขื่อน และปี 2545 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ศึกษาประเมินผลกระทบอีกครั้งในสภาพที่ประตูเขื่อนปากมูลเปิดให้น้ำไหลตลอดทั้งปี ผลการศึกษาของทั้งสองสถาบันมีความสอดคล้องกัน คือ เขื่อนปากมูลสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศประมง เศรษฐกิจปลา และการผลิตไฟฟ้าไม่ได้ตามที่วางแผนไว้

 
เผชิญความเดือดร้อนนานกว่า 30 ปี

ประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บานที่ถูกปิดสนิท กลายเป็นสิ่งกีดขวางลำน้ำขนาดมหึมา ระดับน้ำที่ถูกกักไว้เหนือเขื่อนสูงกว่าท้ายเขื่อนไม่น้อยกว่า 10 เมตร ทำให้สภาพท้ายเขื่อน น้ำแห้งจนเห็นเกาะแก่งต่าง ๆ เหลือเพียงร่องน้ำลึกที่ถูกระเบิดเปิดช่องระบายน้ำ เพื่อผลิตไฟฟ้า สภาพที่เกิดขึ้นเช่นนี้ จึงยากที่จะมีปลาให้ชาวบ้านได้จับ และเมื่อวิถีที่ต้องหากินกับแม่น้ำมูลไม่เหมือนเดิม หลายคนจึงต้องเปลี่ยนอาชีพ 


นอกจากสัตว์น้ำที่ค่อย ๆ ลดลงและสูญเสียถิ่นที่อยู่ของพันธุ์สัตว์น้ำ การเปิด-ปิดน้ำจากเขื่อนที่ไม่เป็นระบบ และความแรงของน้ำที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ตลิ่งถูกกัดเซาะอย่างหนัก บ้านเรือนริมน้ำอยู่ในภาวะเสี่ยง 


เรียกร้องมาทุกรัฐบาล แต่ยังไม่ได้รับการแก้ปัญหา

กรณีเขื่อนปากมูล เป็นหนึ่งในประเด็นที่กลุ่ม สมัชชาคนจน เรียกร้องมาทุกรัฐบาล แต่ยังไม่มีรัฐบาลไหนที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ การเคลื่อนไหวล่าสุดที่กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 6 - 23 ต.ค. ที่ผ่านมา พวกเขาร่วมชุมนุมกับชาวบ้านในหลายพื้นที่ ได้ข้อสรุป คือ รัฐบาลต้องแก้ปัญหาตามมติ ครม. 29 เม.ย.2540 เรื่องการเยียวยาและจัดหาที่ทำกินใหม่จากผลกระทบการสร้างเขื่อน พร้อมให้นำรายชื่อประชาชน 3,074 คน ที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ เข้า ครม.เพื่อพิจารณาจัดหาที่ทำกิน 15 ไร่ และเงินชดเชยกรณีสูญเสียอาชีพประมงจากการสร้างเขื่อน


การทำให้ข้อสรุปต่อรัฐบาลชุดนี้ เกิดผลในทางปฏิบัติมากขึ้น จึงมีข้อเสนอให้ปรับสัดส่วนของคณะกรรมการทุกชุดใหม่ และให้มีตัวแทนสมัชชาคนจนครึ่งต่อครึ่ง โดยสมัชชาคนจนหวังว่า รัฐบาลชุดนี้จะไม่ทิ้งปัญหานี้ไว้เหมือนรัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"เทวัญ" ส่งสมัชชาคนจนกลับบ้าน หลังชาวบ้านพอใจผลเจรจา

"สมัชชาคนจน" ปักหลักรอรัฐบาลตอบรับนั่งหัวโต๊ะแก้ปัญหา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง