ครึ่งวันขยับได้มาตราเดียว “เรืองไกร” ถามงบโมโตจีพีปีละ 100 ล้าน

การเมือง
9 ม.ค. 63
14:22
600
Logo Thai PBS
ครึ่งวันขยับได้มาตราเดียว “เรืองไกร” ถามงบโมโตจีพีปีละ 100 ล้าน
ครึ่งวันผ่านไปได้แค่มาตราเดียวของกระทรวงต่างประเทศ แจงรายได้จากพาสปอร์ตปีละ 900 ล้าน เอาไปจ้างกงสุลต่างประเทศ ขณะที่เรืองไกรตั้งคำถามถึงงบฯ กระทรวงท่องเที่ยวฯ หนุนโครงการโมโตจีพี

วันนี้ (9 ม.ค.2563) เวลา 11.15 น. นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นอภิปรายในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศว่า ฝากให้กระทรวงการต่างประเทศ เจรจาสิทธิเท่าเทียมในเรื่องปัญหาการขอวีซ่าของคนไทย อย่าให้เราเป็นเหมือนพลเมืองชั้น 2 ที่จะเดินทางไปในประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยเอง ต้องปฏิบัติให้เท่าเทียมกันให้มากที่สุด

ขณะที่ นายรงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายว่า อยากให้ตั้งหน่วยงานทำพาสปอร์ตในจังหวัดที่มีประชากรเกิน 1 ล้านคน เพื่ออำนวยความสะดวก เพราะบางจังหวัดจะต้องเดินทางไปทำที่จังหวัดใกล้เคียง และขอให้ปรับแก้กฎระเบียบที่ทำให้การทูตภาคประชาชนมีบทบาทมากขึ้น

แจงรายได้จากพาสปอร์ตเอาไปทำอะไร

นายวิเชียร ชวลิต รองประธาน กมธ. ชี้แจงถึงกรณีที่ นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ระบุถึงการไม่รายงานเงินได้จากการทำพาสปอร์ตว่า เพราะเป็นข้อตกลงระหว่างกระทรวงการคลัง ว่าจะนำเงินร้อยละ 13 ของเงินรายได้จากกรมการกงสุล ที่มาจากการทำวีซ่า หนังสือเดินทาง ไปเป็นเงินนอกงบประมาณ เฉลี่ยปีละ 900 ล้านบาท นำเงินไปใช้ในการพัฒนาบริการ เช่น ค่าจ้างกงสุลในต่างประเทศ และนำไปใช้ค่าจ้างชั่วคราว 14 แห่ง ในบางจังหวัด

กระทั่งเวลา 12.15 น. ประธานที่ประชุมให้สมาชิกลงมติโหวตมาตรา 10 งบประมาณรายจ่ายของกระทรวงการต่างประเทศ มีผู้เข้าร่วมประชุม 455 คน เห็นด้วย 248 คน ไม่เห็นด้วย 6 คน งดออกเสียง 200 คน และไม่ลงคะแนนเสียง 1 คน

ถกครึ่งวันได้แค่มาตราเดียว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นเวลา 12.17 น. เริ่มอภิปราย มาตรา 11 งบประมาณรายจ่ายกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และหน่วยงานในกำกับ ตั้งวงเงินไว้ 3,551,514,000 บาท ซึ่งเป็นการอภิปรายมาตราที่ 2 ของวันนี้ เพราะในครึ่งวันแรก ใช้เวลาพิจารณาในมาตรา 10 เพียงมาตราเดียวเท่านั้น

เรืองไกรถามถึงงบหนุนโมโตจีพีปีละ 100 ล้าน

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญสัดส่วนคนนอก ของพรรคเพื่อไทย ตั้งคำถามเรื่อง ครม.ให้นำเงิน 300 ล้านบาท จากงบกระทรวง ไปใช้ในโครงการโมโตจีพี 61-63 ปีละ 100 ล้านบาท เพราะมาจากการเสนอตัวขอเป็นเจ้าภาพ ซึ่งสำนักงบฯ ตั้งข้อสังเกตไว้ควรประหยัดงบฯ ทำตามขั้นตอนกฎหมาย และมติ ครม.

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เสนอปรับลดงบฯ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 10% ยอมรับว่างบฯ 3.5 พันล้านบาท ไม่ได้มากในการดูแลการท่องเที่ยวและการกีฬาที่มีรูปแบบต่างกัน แต่พยายามเสนอให้การท่องเที่ยวไปรวมกับกระทรวงวัฒนธรรม และแยกกระทรวงกีฬา

กระทรวงการท่องเที่ยวฯ นำรายได้เข้าประเทศมากที่สุด และกระจายรายได้สู่ประชาชนรากหญ้า แต่แทบไม่เห็นงบฯ ประเด็นการท่องเที่ยวมรดกโลก ซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนนักเที่ยว โดยเฉพาะการยื่นจดทะเบียนมรดกโลกของวัดพระบรมธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช

ถามเงินค้างจ่ายสร้างสนามกีฬาให้ทำอย่างไร

ต่อมาเวลา13.05 น. นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอปรับลดงบฯ กระทรวงท่องเที่ยวฯ 10% ทั้งที่เป็นกระทรวงสำคัญที่นำรายได้เข้าประเทศ เพราะไม่เห็นการสร้างสนามกีฬาขนาดใหญ่ในจังหวัดต่างๆ กกท.ไม่จ้างเหมาเอกชนทำโครงการ แต่กลับจ้างกรมทางหลวงทำสนามกีฬาแทน จึงอยากถามไปยัง กมธ.ว่า งบฯ สร้างสนามกีฬาที่ค้างเบิกจ่ายจะแก้ไขปัญหาอย่างไร พร้อมยกตัวอย่างการสร้างสนามกอล์ฟ จ.สระบุรี ที่ยังไม่แล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2556

ด้านนายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ชี้แจงในฐานะ กมธ. ระบุว่า ทุกคนเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า กระทรวงท่องเที่ยวฯ สร้างรายได้ให้ประเทศ แต่สิ่งที่น่าแปลกใจคือ เมื่อกระทรวงมีความสำคัญ แต่กลับได้รับจัดสรรงบฯ ปี 63 เพียง 3.5 พันล้านบาท ลดลงจากปี 62 จำนวน 60 ล้านบาท และในชั้น กมธ.ถูกตัดงบฯ เหลือ 3.38 พันล้านบาท แต่เปรียบเทียบกับความรับผิดชอบท่องเที่ยวและกีฬา และภารกิจการนำรายได้เข้าประเทศ ถือว่าเป็นงบฯ ที่น้อยมาก

ทุกจังหวัดทั่วประเทศ มีศักยภาพในการพัฒนาการท่องเที่ยว แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับรู้จักสถานที่ท่องเที่ยวไม่กี่จังหวัด เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ ผมเห็นด้วยว่าทุกหน่วยงานอยากพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยว แต่งบฯ ไม่เพียงพอ แค่นำงบฯ ไปบำรุงรักษาสถานที่ท่องเที่ยวที่มีอยู่แล้วยังทำได้ยาก

ชี้ได้งบฯ แค่ 3 พันล้าน พัฒนากีฬา-ท่องเที่ยวไม่ได้

นอกจากนี้ นายภราดรยังกล่าวด้วยว่า การพัฒนาเยาวชน และสนามกีฬาขนาดใหญ่ที่รองรับการแข่งขันกีฬาระดับโลกมีเพียงไม่กี่แห่ง เป็นเรื่องที่ ส.ส.ต้องช่วยกันเรียกร้องเรื่องการท่องเที่ยวและกีฬา หากเงินงบฯ ยังได้แค่ปีละ 3 พันกว่าล้านบาท ก็ไม่มีทางพัฒนาวงการการท่องเที่ยวและกีฬาให้เติบโตมากกว่านี้ได้

กระทั่งเวลา 14.00 ที่ประชุมลงคะแนนเสียง มาตรา 11 งบประมาณรายจ่ายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม 458 คน เห็นด้วย 244 คน ไม่เห็นด้วย 2 คน งดออกเสียง 210 คน ไม่ลงคะแนน 2 คน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง