นักวิชาการชี้เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ต้องเพิ่มงบกว่า 1 หมื่นล้าน

สังคม
18 ส.ค. 54
02:03
9
Logo Thai PBS
นักวิชาการชี้เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ต้องเพิ่มงบกว่า 1 หมื่นล้าน

1 ในนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลจะดำเนินการ คือ โครงการเพิ่มเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุ โดยแบ่งออกเป็น 4 ช่วงอายุ ซึ่งจะจ่ายให้ตั้งแต่ 600-1,000 บาท ภายใน 1 ปี แม้จะได้รับการตอบรับจากกลุ่มผู้สูงอายุที่เคยได้เบี้ยยังชีพอยู่ที่เดือนละ 500 บาท แต่นักวิชาการกลับมองว่า มาตรการนี้จะไม่ได้เป็นการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ยั่งยืน และ ยังต้องใช้งบประมาณเพิ่มจากเดิมมากกว่า 10,000 ล้านบาท

ข่าวการเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันไดเป็นนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลจะทำให้แล้วเสร็จภายใน 1ปี สร้างความดีใจให้กับนางทองใบ แซ่เตียว อายุ 83 ปี ที่วันนี้หาเลี้ยตัวเองด้วยการเป็นหมอนวดคลายเส้น โดยมีรายได้จากการทำงานวันละไม่ถึง 300 บาท เมื่อรวมกับเบี้ยยังชีพรายเดือนที่ได้รับอีก 500 บาท นางทองใบ บอกว่า แทบจะไม่พอใช้จ่ายในชีวติประจำวัน

นอกจากนางทองใบ ผู้สูงอายุอีกหลายคนต่างก็รู้สึกดีใจที่จะได้รับเบี้ยรายเดือนที่มากขึ้น แต่การกำหนดให้จ่ายตามเกณฑ์อายุ คือ แบ่งอายุออกเป็น 4 ช่วง โดยจ่ายเงินให้ตั้งแต่ 600-1,000 บาท ผู้สูงอายุมองว่า รัฐบาลควรปรับเพิ่มในอัตราที่เท่าเทียมกัน เพื่อความเป็นธรรมและไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ นอกจากนี้ยังเสนอให้รัฐบาลพิจารณาให้สวัสดิการด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากการจ่ายเบี้ยรายเดือนเพียงอย่างเดียว

นายวรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ผอ.การวิจัยด้านหลักประกันทางสังคม ทีดีอาร์ไอ มองว่า นโยบายการปรับเบี้ยยังชีพรายเดือนผู้สูงอายุแบบขั้นบันไดของรัฐบาลอาจส่งผลดีต่อจิตใจของผู้สูงวัย แต่อาจส่งผลกระทบต่อภาระงบประมาณ และ การสร้างวัฒนธรรมการแบมือขอรับการสงเคราะห์จากรัฐเพียงอย่างเดียวเมื่อรัฐบาลยุบสภา นโยบายนี้จะหายไปด้วยดังนั้น การสร้างสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุด้วยการส่งเสริมกองทุนเงินออมน่าจะมั่นคงและยั่งยืนมากกว่า

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พบว่า ปีงบประมาณ 2554 ผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ที่ได้รับเบี้ยยังชีพมีทั้งหมด 6,521,749 คน ใช้งบประมาณมากกว่า 37,000 ล้านบาทต่อปี ดังนั้นหากมีการปรับเพิ่มอัตราเบี้ยยังชีพให้เพิ่มขึ้น รัฐบาลต้องใช้จ่ายงบประมาณมากขึ้นอีกกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง