ย้อนรอยบริษัทนำเข้าบุหรี่นอก เลี่ยงภาษี ทำรัฐสูญรายได้ 8 หมื่นล้าน

การเมือง
27 ก.พ. 63
14:28
1,423
Logo Thai PBS
ย้อนรอยบริษัทนำเข้าบุหรี่นอก เลี่ยงภาษี ทำรัฐสูญรายได้ 8 หมื่นล้าน
เปิดโปงรัฐบาลเอื้อบริษัทนำเข้าบุหรี่รายใหญ่ ไม่เอาผิดเลี่ยงภาษี ทำให้รัฐสูญเสียรายได้กว่า 8 หมื่นล้านบาท

วันนี้ (27 ก.พ.2563) เวลา 10.30 น. นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นอภิปราย 3 รัฐมนตรี คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม, นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ระบุ มีแค่ 2 ทาง คือให้ชิงลาออก และทางที่ 2 จะถูกประชาชนขับไล่

ระบุรัฐบาลเอื้อเลี่ยงภาษีนำเข้าบุหรี่

นายศรัณย์วุฒิ ได้เปิดประเด็นการเอื้อเลี่ยงภาษีบุหรี่ให้กับ บริษัทฟิลลิป มอร์ริส (PML) ซึ่งรัฐบาลเอื้อลดภาษีบุหรี่และสำแดงเท็จศุลากร แทนที่ไทยจะได้ค่าปรับ 84,000 ล้านบาท ไทยกลับได้ค่าปรับเพียง 1,225 ล้านบาท

บริษัท PML เป็นบริษัทผี ที่ไม่เปิดตัว แย่กว่าเจ้าสัวของไทย ที่เปิดตัว โดย PML มีสำนักงานตั้งที่ประเทศมาเลเซีย ทำนิติกรรมอำพราง ซึ่งเคยแพ้คดีในปี 2540 ที่รัฐมินิโซต้า สหรัฐอเมริกา ในยุโรป ในประเทศโคลอมเบีย

คดีนี้ศาลไทยตัดสินให้ฟิลลิปมอร์ริส แพ้คดีในไทยจากการเลี่ยงภาษีและสำแดงเท็จราคานำเข้าบุหรี่ซองละ 7.76 บาท แต่กลับมีเนติบริกรท่านวิษณุ (เครืองาม) และท่านดอน (ปรมัติวินัย) แกล้งไม่รู้หรือไม่ เพราะปล่อยให้ไทยมี 2 มาตรฐาน เทียบกับที่คิงพาวเวอร์ นำเข้าในราคา 27.46 บาท/ซอง และบางกอกแอร์เวย์นำเข้า 30.39 บาท/ซอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายศรัณย์วุฒิยังนำหลักฐานที่อ้างว่า นายกรัฐมนตรีเอื้อประโยชน์บุหรี่ต่างชาติ เนื่องจากในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) เคยอนุมัติให้อัยการสูงสุดฟ้องคดี เมื่อวันที่ 3 ต.ค.2556 ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานการประชุม กรอ.ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 22 ส.ค.2557 เพื่อเอื้ออุ้ม PML

แก้กฎหมาย-เตะถ่วง ฟ้องบริษัทนำเข้าบุหรี่

ผมไม่รู้ว่ามีใครได้ประโยชน์อะไรหรือไม่ แต่ที่ประชุม กรอ. นายกฯ กลับมีมติให้กระทรวงการคลัง โดยกรมศุลกากรร่วมกับเอกชนในการปรับปรุงกฎหมายศุลกากรในประเด็นบทลงโทษให้เหมาะสมกับเจตนา มีการใช้ มาตรา 44 เตะถ่วงการฟ้อง PML และสุดท้ายในวันที่ 21 ก.ค.2558 มติ ครม.อนุมัติให้แก้ไขร่าง พ.ร.บ.ศุลกากร เพื่อลดค่าปรับให้ PML และเมื่อแก้แล้วจึงสั่งฟ้อง เพราะถ้าฟ้องตั้งแต่แรกมีทั้งค่าปรับและค่าอากรรวมกัน 84,000 ล้านบาท

นายศรัณย์วุฒิอธิบายว่า ในวันที่ 21 ก.ค.2559 องค์การการค้าโลก (WTO) ตัดสินให้ไทยแพ้ เพราะไม่ปฏิบัติตามขั้นตอน เนื่องจากกฎหมายบกพร่อง ซึ่งเหตุผลมาจากวาระซ่อนเร้น ตั้งใจล้มมวยให้แพ้คดี โดยใช้ทนายขอแรง 5 ล้านบาท มาทำคดีระดับแสนล้าน ต่อมาวันที่ 4 ต.ค.2559 ครม.ประยุทธ์ฉวยโอกาสส่งร่างกฎหมายให้ สนช.แก้ไขทันที ทั้งที่คำตัดสินของ WTO ไม่ใช่กฎหมายผูกพันกฎหมายไทย จึงไม่จำเป็นต้องแก้

นายศรัณย์วุฒิยังได้ตั้งคำถามถึงการแก้กฎหมาย มาตรา 27 ศุลกากร เอื้อการลดภาษีค่าปรับบุหรี่ต่างชาติเป็นแสนล้าน ถึงเรียกว่า “สภาฝักถั่ว” เพราะคุณประยุทธ์ตั้งคนเหล่านี้ขึ้นมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการอภิปราย นายศรัณย์วุฒิ ยังท้าให้นายวิษณุ ตอบแทนคนไทยทั้งประเทศด้วยว่า ความพยายามช่วยเหลือบริษัทต่างชาติให้พ้นคุกหรือไม่

แฉบริษัทฉ้ออากร ลักลอบนำเข้าบุหรี่

จากนั้น นายศรัณย์วุฒิ ยังได้พูดถึง มาตรา 27 ที่บริษัทฯ ผิดเรื่องการลักลอบนำเข้า ซึ่งหากใช้สูตรค่าปรับเดิม 4 เท่า+อากร เอกชนต้องจ่ายให้ไทย 84,000 ล้านบาท แต่สูตรใหม่ตาม มาตรา 242 เรื่องลักลอบนำเข้า และ มาตรา 243 ฉ้ออากร 0.5-4 เท่าของอากรที่ต้องเสนอเพิ่ม เหลือค่าปรับเพียงแค่ 1 ,225 ล้านบาท

นอกจากนี้ นายศรัณย์วุฒิยังนำข้อมูลที่อ้างว่า นายวิษณุ และนายดอน ร่วมกันทำหนังสือลับที่สุด ลงวันที่ 7 มี.ค.62 ส่งถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ระงับข้อพิพาทระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์กรณีสินค้าบุหรี่นำเข้า ถึงตอนนี้นายศรัณย์วุฒิถามว่า “ดอน คุณทำเกินไปหรือเปล่า คุณเป็นทนายของไทย หรือของต่างประเทศ”

นายศรัณย์วุฒิระบุว่า การเอื้อกับบริษัทบุหรี่ครั้งนี้ จะทำให้มีผู้เข้าข่ายติดคุก 4 คน การกระทำครั้งนี้ เหมือนกับการข่มขืนประเทศถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกคือ การเลี่ยงภาษีและยังไม่สาแก่ใจมาข่มขืนครั้งที่ 2 ที่ช่วยไม่ให้ติดคุกด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่ นายศรัณย์วุฒิ อภิปรายฯ ยังถูกนายสิริ เจนจาคะ ประท้วงถึง 2 ครั้งโดยอ้างว่าเป็นคำพูดเสียดสี

จับตาปรับรง.ยาสูบ ตั้งคนขาดคุณสมบัตินั่งบอร์ด

นายศรัณย์วุฒิอ้างว่า การกระทำครั้งนี้ยังให้โรงงานยาสูบเจ๊งทั้งระบบ เพราะยังมีแผนประเคนให้เจ้าสัว โดยอ้างว่า พล.อ.ประยุทธ์ ผ่าตัดโรงงานยาสูบของไทย นำคนรู้จัก “พล.อ.ว” และ "น.ส.ด." เข้าไปอยู่ในบอร์ด และโรงงานยาสูบ โดยไม่มีคุณสมบัติไปดำรงตำแหน่ง และต้องประมูลงานผ่านบริษัทแห่งหนึ่ง

นายศรัณย์วุฒิระบุว่า มีการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ไทย กำหนดราคาขายปลีกที่ขายเกินซองละ 60 บาท ต้องถูกเก็บภาษี 40 % มีผลให้ส่วนแบ่งการตลาดลดลงจากที่ไทยเคยครองตลาด บุหรี่นอกเติบโต 55 %

ข่าวที่เกี่ยวข้อง