เปิด 3 ฉากทัศน์ คาดการณ์ COVID-19 ชี้ พ.ร.ก.ช่วยยอดติดเชื้อลด

สังคม
27 เม.ย. 63
20:51
1,718
Logo Thai PBS
เปิด 3 ฉากทัศน์ คาดการณ์ COVID-19 ชี้ พ.ร.ก.ช่วยยอดติดเชื้อลด
ศบค.ระบุคนกว่า 70 เปอร์เซนต์ หนุนขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่ออีกเดือน หวังสถานการณ์ COVID-19 จะดีขึ้น เปิด 3 ฉากทัศน์ สถานการณ์แต่ละระดับที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย

วันนี้ (27 เม.ย.2563) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอฉากทัศน์ (scenario) ไว้ 3 ฉากทัศน์ โดยคาดการณ์สถานการณ์ในช่วงเดือนพ.ค.-ก.ค.2563

ระดับที่ 1 สถานการณ์ควบคุมได้เต็มที่ คือ ห้ามการเดินทางเข้าประเทศ จำกัดการเคลื่อนย้ายในประเทศ คงมาตรการปิดสถานที่ต่างๆ พบผู้ป่วยประปราย 15-30 คนต่อวัน ในกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย, พบผู้ป่วยรายใหม่จากการค้นหา เพิ่มเติม และค้นหาเชิงรุกในชุมชน

ระดับที่ 2 สถานการณ์ควบคุมได้มีความเสี่ยงต่ำ การระบาดอยู่ในวงจำกัด ระบบสาธารณสุขรองรับได้ ชะลอการเข้าประเทศโดยมี SQ/LQ เปิดให้ภาคธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำดำเนินกิจการได้ พบผู้ป่วย 40-70 คนต่อวัน ทั้งกลุ่มผู้ป่วยรายใหม่ ผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย และคนเดินทางเข้าประเทศ

ระดับที่ 3 สถานการณ์ควบคุมได้ยาก มีการระบาดซ้ำคล้ายช่วงเหตุการณ์ระบาดจากสนามมวย สถานบันเทิง มีการเคลื่อนย้ายประชากรจำนวนมาก ทั้งภายในและระหว่างประเทศ โดยไม่มีการกักกันติดตาม อาจพบผู้ป่วย 500-2,000 คนต่อวัน ในเดือนมิ.ย.-ก.ค. หรือ ระบบสาธารณสุขอาจไม่เพียงพอในการรองรับผู้ป่วย

 

ทั้งนี้ ไทยตรวจเชื้อ COVID-19 ตั้งแต่เปิดบริการ จนถึงวันที่ 24 เม.ย. ตรวจไปแล้ว 178,083 ตัวอย่าง และจะเร่งขยายกลุ่มตรวจเชิงรุกเพิ่มเติม เพื่อเจาะกลุ่มเสี่ยงต่อไป

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ผลสัมฤทธิ์การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 1 เดือน ทำให้ดำเนินการรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ผู้ติดเชื้อรายวันในประเทศลดลงต่อเนื่อง หลังสำรวจความเห็นประชาชน 40,000 คน เห็นด้วยที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มากกว่า 70 % ศบค.จึงมีมติให้พิจารณาขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ต่ออีก 1 เดือน

นอกจากนี้ยังมี 4 มาตรการ ตามข้อกำหนดที่ต้องคงไว้ ซึ่งจะเสนอ ครม.พิจารณา ได้แก่ 1.ควบคุมการเดินทางเข้าราชอาณาจักร 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1-31 พ.ค.2563
2.งดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตจังหวัด 3.ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถาน หรือเคอร์ฟิว 4.งดการดำเนินกิจกรรมคนหมู่มาก

ส่วนแนวทางการผ่อนปรนในมาตรการต่างๆ จำเป็นต้องเกิดขึ้น แต่ต้องมีแนวคิดเกี่ยวกับปัจจัยด้านสาธารณสุขเป็นหลัก เน้นทำงานที่บ้านให้คงอยู่ 50 % พร้อมให้ทุกคนสวมหน้ากากต่อเนื่อง วัดอุณหภูมิ ล้างมือ เว้นระยะห่าง จำกัดจำนวนคนในกิจกรรมหรือสถานที่ และมีแอปพลิเคชันติดตามตัว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง