สร้างมิติใหม่แห่งการเรียนรู้ กับ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล

ALTV News
14 ก.ค. 63
10:48
79
Logo Thai PBS
สร้างมิติใหม่แห่งการเรียนรู้ กับ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล

ในสถานการณ์โควิด-19 ทุกสิ่งอยู่ในภาวะไม่แน่นอน ผู้คนทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด ต้องปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตกันอย่างมาก ไม่มีใครรู้ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า เราทุกคนต้องพร้อมใจกันปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เช่นเดียวกับปัญหาในส่วนของการจัดการศึกษาให้กับเยาวชนในทุก ๆ ระดับชั้น ซึ่งรูปแบบไหนที่จะมาตอบโจทย์การเรียนรู้วิกฤตยามนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ?

ALTV ช่อง 4 ทีวีเรียนสนุก คุยกับ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงภาพรวมของแนวคิดในการออกแบบการจัดการเรียนการสอนในวิกฤตนี้ไว้ว่า

"เราคิดกันมาตลอด 20 ปี ว่าจะให้ผู้เรียนเป็นผู้ที่ต้องกระตือรือร้นมากขึ้น ซึ่งตอนนี้สถานการณ์มันบังคับแล้วว่าจะต้องเป็นไปในทางนี้ เริ่มจากการปรับแนวความคิดของครูผู้สอนก่อน ถ้าผู้สอนยังเชื่อว่า ตัวเองเป็นผู้ถ่ายทอด ก็จะเห็นภาพครูผู้สอนอัดคลิปการสอนแล้วแขวนไว้อย่างเดียว มันอาจกลายเป็นภาระของนักเรียน คือครูผู้สอนอาจจะถ่ายทอดเนื้อหาสาระได้ทั้งหมด แต่ภาระหนักไปอยู่ที่ผู้เรียน"

การเว้นระยะห่างทางสังคมก็ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญ พอมาเกี่ยวข้องกับเรื่องของสถานศึกษาที่ผ่านมา จึงมีผลกระทบต่อการเลื่อนการเปิดการเรียนการสอนออกไปด้วย ซึ่งก็นับว่าเป็นช่วงเวลาที่บุคลากรทางการศึกษาได้ร่วมกันช่วยออกแบบ คิดค้น และทดลองว่า รูปแบบการเรียนรู้แบบไหนที่จะช่วยให้เด็กเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งผู้ใหญ่หรือครอบครัวของเด็กก็ต้องให้ความร่วมมือในการจัดเรียนการสอนด้วย นับเป็นโจทย์ที่ทุกคนต้องเปิดใจ ปรับตัว ในการให้ความร่วมมือเรียนรู้แนวทางใหม่ไปด้วยกัน

ช่วงเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ ได้ทำการทดลองจัดการสอนทางโทรทัศน์ ผ่านการทำงานจากไกลกังวล ซึ่งจากการทดลองจะเห็นได้ว่า โรงเรียน ทางบ้าน และตัวเด็กนักเรียนมีความตื่นตัวในการปรับตัว แต่ในขณะเดียวกันก็มีความตื่นกลัวจากความไม่พร้อมในหลายปัจจัย ภาวะแบบนี้จึงเป็นโอกาสอันดีในการที่จะมองหาแนวปฏิบัติใหม่ ๆ ซึ่งโรงเรียนจะได้มีโอกาสทำความเข้าใจบริบทตัวผู้เรียนมากที่สุด เพื่อตัดสินใจร่วมกับพ่อแม่ว่าจะใช้วิธีการแบบไหนในการดูแลการเรียนการสอนของเด็ก ๆ

สำหรับการเปิดภาคการศึกษาใหม่ หลายสถานศึกษาก็ได้กลับมาทำการเรียนการสอนในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาแล้ว แต่สภาพแวดล้อมและแนวทางการปฏบัติอาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เช่น มีการจำกัดจำนวนเด็กต่อห้อง สลับวันมาโรงเรียน และอาจยังคงต้องใช้การเรียนทางไกลอย่างเดียวในพื้นที่สุ่มเสี่ยง โรงเรียนขนาดเล็กอาจจะคล่องตัวกว่าในการปรับตัว แต่ในขณะเดียวกันโรงเรียนขนาดใหญ่นั้นต้องเผชิญกับการปรับตัวครั้งใหญ่ และผู้ปกครองเองก็ต้องเข้ามามีส่วนช่วยในการเรียนการสอนของเด็กมากกว่าเดิม

การเรียนการสอนรูปแบบไหนที่จะมาตอบโจทย์ และใครต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง ?

ในส่วนของหน้าที่ครูผู้สอน ต้องออกแบบการเรียนรู้ที่ไม่สามารถอยู่ใกล้เด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะจำนวนเวลาในการพบปะกันอาจจะไม่ได้มีความถี่เท่าเดิมแล้ว ฉะนั้นผู้สอนต้องออกแบบการสอนให้ติดตามการเรียนทางไกลได้ เช่น การใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย ผ่านทางโทรศัพท์ หรือช่องทางอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับผู้เรียนในกรณีที่มีการเรียนออนไลน์

หากเป็นโรงเรียนที่มีความพร้อมสูง อาจใช้รูปแบบการเรียนออนไลน์ที่มีการโต้ตอบแบบฉับพลันได้ โดย 

"ตัวผู้สอนเองก็ต้องออกแบบบทเรียนให้เอื้อต่อการมีปฏิสัมพันธ์อย่างทันท่วงทีในช่วงเวลานั้นได้ นับเป็นทักษะใหม่ในการทำงาน (Future Skills) ที่ต้องเปลี่ยนมาใช้เพื่อการศึกษา เราต้องเอาเด็กเป็นตัวตั้งในการเรียนการสอน"

ในส่วนของหน้าที่พ่อแม่และผู้ปกครองทางบ้าน หากการเรียนการสอนของบุตรหลานท่าน เอาการสอนเป็นตัวตั้งในการเรียนสอนเด็ก (ซึ่งเด็กไม่สามารถใกล้ชิดผู้สอนได้)

"ทางบ้านก็ต้องเข้าใจว่า การที่เด็กอยู่กับหน้าจอเพื่อการเรียนคือเขากำลังเรียน ไม่ได้กำลังเล่น"

ครู ผู้ปกครอง และตัวนักเรียนต้องเข้าใจตรงกันว่าเด็กมีภารกิจอะไรบ้าง ซึ่งพ่อแม่ต้องช่วยสนับสนุนและดูแลพวกเขา

หากเป็นครอบครัวที่มีความพร้อมที่จะใช้เวลาไปกับลูก ๆ สูง ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับตัวเด็กจะเกิดขึ้นในทางที่ดีอย่างแน่นอน แต่หากเป็นครอบครัวที่พ่อแม่ออกไปทำงานตอนกลางวัน ไม่มีเวลาดูแลลูกในส่วนนี้ระหว่างวัน อาจต้องฝากฝังกับญาติพี่น้องในบ้านให้มีการประคบประหงมในการเฝ้าดู

ในส่วนของระบบชุมชน หากในกรณีที่เด็กบางรายไม่สามารถเรียนที่บ้านได้เลย เพราะไม่มีผู้ใหญ่ช่วยดูแล ชุมชนต้องคิดออกแบบระบบชุมชนให้มีการช่วยเหลือดูแลกัน บางโรงเรียนอาจต้องเปิดพื้นที่ขึ้นมาเพื่อรวบรวมเด็กที่ไม่มีความพร้อมในอุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ โทรทัศน์ หรือไม่มีพ่อแม่ ผู้ปกครอง ช่วยดูแลในการเรียนระหว่างวัน ให้มาเรียนที่โรงเรียนด้วยกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ โรงเรียน ครู และชุมชนต้องให้ความร่วมมือกับผู้เรียนอย่างเป็นหลักในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กไม่เรียนอยู่ลำพังและมีการติดต่อสื่อสารกันได้ดี

สำหรับเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์เชื่อมต่อทางออนไลน์ อันที่จริงแล้วก็เป็นแค่เครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้ความสะดวกสบายในการเรียนมากขึ้น แต่หากไม่มีก็ต้องมีทางเลือกอื่น เช่น

"การมีรายการโทรทัศน์มาช่วยทำหน้าที่ช่วยเติมเต็มในส่วนนี้ จะยิ่งช่วยให้เด็กได้เรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น"

ซึ่ง ALTV ช่อง 4 ทีวีเรียนสนุก เป็นช่องทีวีใหม่ที่ตอบโจทย์เพื่อการเรียนรู้ที่ถูกฟูมฟักโดยไทยพีบีเอส ซึ่งผมเองก็ได้รับคำชวนจากสถานี ให้ช่วยฟอร์มทีมคุณครูรุ่นใหม่เข้าไปตะลุยดูคลังรายการเด็ก - เยาวชน สรุปสาระสำคัญเป็นไกด์ไลน์สำหรับนำมาผลิตรายการใหม่ เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของรายการชุดใหม่

ช่องใหม่จะมาเติมเต็มการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพในลักษณะไหน ?

เนื้อหาสาระบนช่อง ALTV ช่อง 4 ทีวีเรียนสนุก จะหลีกเลี่ยงวิธีการเน้นการถ่ายทอดข้อมูลล้วน ๆ แบบเก่า สาระจะเป็นไปอย่างกระชับ มีการจำลองห้องเรียนที่มีการเรียนการสอนที่อื่นมาให้ดูในห้องด้วย ดังนั้นแล้ว ไม่ว่าเด็กจะเรียนอย่างไม่เป็นทางการที่บ้านหรือเรียนด้วยโทรทัศน์สาธารณะก็ตาม การเรียนรู้ออนสกรีน ทางช่องนี้จะเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตสาธารณะมากขึ้น มีกิจกรรมการเรียนรู้ที่สนุกสนาน สามารถทดลอง สัมผัส และจับต้องได้ โดยเนื้อหาในการเรียนรู้ไม่จำกัดแค่กลุ่มเป้าหมายเด็กเท่านั้น เพราะครูและผู้ปกครองก็สามารถเข้ามาเรียนรู้ตรงนี้ได้ด้วย

สำหรับครูผู้สอน ช่อง ALTV อาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่นำมาใช้ในการประกอบการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ โดยการให้เด็กดูเพื่อเป็นความรู้เพิ่มเติม เช่น เมื่อครูสอนประวัติศาสตร์ เรื่องสงครามโลกมาแล้ว 30 นาที และคุณครูรู้ว่าทางช่อง ALTV มีคลังความรู้ในเรื่องนี้อยู่ ตรงนี้ก็จะกลายเป็นการเรียนรู้เพิ่มเติมส่วนหนึ่งที่คุณครูสามารถแนะนำเด็ก ๆ ได้ หากเรียนในลักษณะออนไลน์ ผู้สอนอาจแนบลิ้งค์ไว้ในแพล็ตฟอร์มนั้นเพื่อให้เด็กดูเพิ่มเติมได้

สำหรับเด็กที่ต้องทำรายงานหรืองานบูรณาการต่าง ๆ

"ช่อง ALTV ก็จะเป็นแหล่งความรู้ที่สามารถลงรายละเอียดและจับต้องได้ มากกว่าเป็นแค่รายการที่ถ่ายบันทึกเทปเพื่อการสอนเฉย ๆ ซึ่งแตกต่างจากที่อื่น เพราะเนื้อหา สาระ ความรู้จากช่องนี้ จะทำให้ผู้ชมกับผู้ผลิตมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้อย่างแท้จริงตามแนวคิด Active Learning"

ซึ่งทำให้ผู้เรียนที่อยู่ทางหน้าจอเป็นส่วนหนึ่งกับการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง