ห่วงพื้นที่ท้ายเขื่อนสิริกิติ์วิกฤต หลังต้องปล่อยน้ำเพิ่มขึ้น

ภูมิภาค
23 ส.ค. 54
01:35
8
Logo Thai PBS
ห่วงพื้นที่ท้ายเขื่อนสิริกิติ์วิกฤต หลังต้องปล่อยน้ำเพิ่มขึ้น

สถานการณ์อุทกภัยเรื่อยมาตั้งแต่ภาคเหนือตอนบนจนถึงภาคกลาง ขณะนี้หลายจังหวัดยังอยู่ในภาวะวิกฤต และ ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษขณะนี้ คือ สถานการณ์น้ำในจังหวัดท้ายเขื่อนสิริกิติ์ ที่กรมชลประทานจะระบายน้ำเพิ่มขึ้นจาก 57 ล้านลูกบาศก์เมตรเป็น 60 ล้านลูกบาศก์เมตร

 

<"">
 
<"">

ดูเหมือนสถานการณ์น้ำท่วมทางภาคเหนือในขณะนี้จุดที่ยังวิกฤต และ ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะคลี่คลาย คือ จังหวัดที่เป็นเส้นทางของลำน้ำมูล และ ลำน้ำน่าน เรื่อยลงมาตั้งแต่จังหวัดเชียงรายที่ขณะนี้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น และกัดเซาะสะพานเชื่อมระหว่าง บ้านขุนสรวย กับบ้านโป่งกลางน้ำ จนชำรุด ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ต่อเนื่องลงมาที่จังหวัดจังหวัดพะเยาซึ่งยังคงมีฝนตกต่อเนื่องทำให้ดินจากภูเขาดอยพระธาตุถล่มทับสวนลำไยกว่าพันไร่ ในตำบลห้วยลาน อำเภอดอกคำใต้ และ มีน้ำป่าไหลเข้าท่วมบ้านเรือนบางส่วน ซึ่งทางเทศบาลตำบลห้วยลาน เตรียมต้องเตรียมการอพยพชาวบ้านทันทีหากมีฝนตกลงมาอีก

 ส่วนที่ยังวิกฤตอีกจุดหนึ่งคือในจังหวัดน่านซึ่งแม่น้ำน่านจะเป็นเส้นทางน้ำที่รองรับน้ำจากภาคเหนือตนบนก่อนจะผันลงสู่ จังหวัดแพร่ และ เขื่อนสิริกิติ์ ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งมีคำยืนยันจากกรมชลประทานแล้วว่า เขื่อนสิริกิติ์ จำเป็นต้องระบายน้ำเพิ่มขึ้นจากเดิม

นายประเสริฐ ธำรงวิศว ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขื่อนสิริกิติ์ ระบุว่า ที่ผ่านมาเขื่อนระบายน้ำออกวันละ 57 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่เนื่องจากปริมาณน้ำในตัวเขื่อนมีจำนวนมากจึงจำเป็นต้องเพิ่มการระบายเป็นวันละ 65 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนแผนการจะปล่อยน้ำวันละ 80 ล้านลูกบาศก์เมตรนั้น ได้ชะลอออกไปก่อน เพราะกลัวจะส่งผลกระทบกับประชาชนในลุ่มน้ำน่าน

ซึ่งขณะนี้หลายอำเภอในจังหวัดอุตรดิตถ์ที่มีพื้นที่อยู่ท้ายเขื่อนสิริกิติ์ ได้เตรียมการรับมือปริมาณน้ำที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากผลของการเพิ่มปริมาณการระบายน้ำแล้ว โดยชาวบ้านท่าอิฐล่าง อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ เร่งขนย้ายทรัพย์สินขึ้นไว้ที่สูงเพื่อเตรียมการป้องกันหากเกินน้ำท่วมฉับพลัน เพราะมีรายงานว่า ขณะนี้เขื่อนสิริกิติ์ต้องรองรับน้ำจำนวนมากและมีความจุถึงร้อยละ 80-90 ของความจุเขื่อนแล้ว

แต่จากรายงานของกรมชลประทาน และเจ้าหน้าที่เขื่อนสิริกิติ์ เมื่อคืนที่ผ่านมา พบว่า ระดับน้ำท้ายเขื่อนนั้นเพิ่มขึ้นเพียง 20-30 เซนติเมตร โดยเจ้าหน้าที่อธิบายว่า เป็นเพราะการระบายน้ำผ่านเครื่องตามระบบของเขื่อนขนาดใหญ่นั้น แม้จะเพิ่มปริมาณการระบายมากขึ้น แต่มวลน้ำจะไม่หนาแน่นเพราะเป็นการปล่อยน้ำแบบค่อยเป็นค่อยไปตามจังหวะ จึงไม่มีผลกระทบเรื่องน้ำล้นตลิ่ง

ส่วนที่จังหวัดพิษณุโลกซึ่งจะเป็นจุดต่อไปที่น้ำเหนือจะไหลลงมาสมทบ ทหารกองทัพภาคที่ 3 และกองบิน 46 ช่วยกันบรรจุกระสอบทราย เพื่อสร้างแนวป้องกันน้ำริมแม่น้ำน่านแล้ว แต่ระดับน้ำที่ไหลเข้าท่วมบริเวณฐานพระราชวังจันทน์ ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ถนนวังจัน ในเขตอำเภอเมืองขณะนี้ก็ยังไม่ลดระดับลง

นอกจากนี้ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมต่อเนื่องลงมาจนถึงจังหวัดทางภาคกลางซึ่งเป็นผลกระทบจากน้ำเหนือ ประกอบกับฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประกาศเตือนให้ 4 จังหวัดทางภาคกลาง คือ จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา เตรียมการรับมือปริมาณน้ำที่อาจเพิ่มสูงขึ้นในระยะนี้ 

 

<"">
 
<"">

ส่วนสถานการณ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำมูล ที่จังหวัดอุบลราชธานี ยังคงเพิ่มสูงและล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนในอำเภอเมือง และ อำเภอเขื่องใน ล่าสุดมีการแจ้งเตือนให้ชาวบ้าน ที่อยู่ริมลำเซบาย แม่น้ำมูล  และ แม่น้ำชี เตรียมอพยพออกออกนอกพื้นที่ หลังปริมาณน้ำใกล้ถึงจุดวิกฤต เช่นเดียวกับแม่น้ำโขง จังหวัดหนองคาย ยังคงเพิ่มสูงต่อเนื่อง แต่ยังต่ำกว่าระดับเตือนภัย ประมาณ 1 เมตร ศูนย์อุทกวิทยาหนองคายประสานให้เทศบาลปิดประตูระบายน้ำป้องกันน้ำโขงหนุนสูง และเอ่อท่วมที่ลุ่มริมตลิ่ง

สถานการณ์น้ำท่วมที่อำเภอกบินทร์บุรีจังหวัดปราจีนบุรี ระดับน้ำยังคงสูงขึ้น โดยเฉพาะบริเวณริมแม่น้ำ บางจุดกระแสน้ำไหลเชี่ยว ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 คน สอบสวนเบื้องต้นทราบว่าเมื่อ 2 วันก่อน ผู้ตายออกมาซื้ออาหาร แต่ระหว่างกลับเข้าบ้านถูกน้ำพัดหายไป

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยสรุปเบื้องต้น มีจังหวัดที่ยังเผชิญสถานการณ์น้ำท่วมอีก 14 จังหวัด ในช่วง 1-2 วันนี้ แม้จะมีรายงานว่า ปริมาณฝนทางภาคเหนือตอนบนอาจลดปริมาณลงบ้าง แต่ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เนื่องจากต้องมีการระบายน้ำจากภาคเหนือตอนบนลงมา ส่วนในพื้นที่ตอนบน ต้องเฝ้าระวังดินถล่มเป็นพิเศษ เนื่องจากดินอุ้มน้ำมานานหลายสัปดาห์แล้ว

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง