ค้านเซอร์ชาร์จนำเข้ากระดาษ

เศรษฐกิจ
24 ส.ค. 54
03:04
9
Logo Thai PBS
ค้านเซอร์ชาร์จนำเข้ากระดาษ

สมาคมอุตสาหกรรมการพิมพ์ออกมาประสานเสียงคัดค้านบริษัทเอสซีจี ที่ยื่นร้องเรียนว่า มีการนำเข้ากระดาษจากต่างประเทศต่ำกว่าราคาต้นทุนที่ขายอยู่ในประเทศของเอสซีจี ซึ่งทำให้เอสซีจีไม่สามารถทำยอดขายและกำไรได้ หรือการทุ่มตลาด ขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจการพิมพ์ระบุว่าหากมีผลบังคับใช้ ก็จะทำให้ราคาต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นจนผู้ประกอบการรายอื่นในธุรกิจสิ่งพิมพ์จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก

12 สมาคมอุตสาหกรรมการพิมพ์แสดงเจตนารมณ์คัดค้านหากจะมีการเก็บค่าเซอร์ชาร์จจากการนำเข้ากระดาษ หรือเงินส่วนต่างระหว่างราคาในประเทศผู้ส่งออกกระดาษ กับราคาขายในไทย ตามกฎหมายตอบโต้การทุ่มตลาด หรือ Anti Dumping หลังบริษัทเอสซีจี เปเปอร์ ร้องเรียนต่อกรมการค้าต่างประเทศว่าถูกทุ่มตลาดจากสินค้ากระดาษ 5 ประเทศ

นายพรชัย รัตนชัยกานนท์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมการพิมพ์ไทย กล่าวว่า ปัจจุบันความต้องการใช้กระดาษเคลือบมันและด้าน ที่นำมาเป็นวัตถุดิบอยู่ที่เดือนละ15,000 ตัน แต่บริษัท เอสซีจี เปเปอร์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตกระดาษชนิดนี้เพียงรายเดียวของไทย สามารถผลิตได้เพียงเดือนละ 7,000 - 9,000 ตัน ทำให้ต้องนำเข้าเพิ่มจากต่างประเทศ ซึ่งทางบริษัทเอสซีจี เปเปอร์ ไปร้องเรียนว่าการนำเข้ากระดาษจาก 5 ประเทศเป็นไปในลักษณะทุ่มตลาดทำให้ได้รับความเสียหาย ทั้งที่บริษัทมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับอัตราการส่งออกของธุรกิจนี้ที่ขยายตัว

สำหรับมาตรการต่อต้านการทุ่มตลาดจะใช้กับ 5 ประเทศคือ จีนจำนวน 9 โรงงาน จะเก็บค่าเซอร์ชาร์จที่ร้อยละ 17.64 ส่วนอินโดนีเซียฟ้อง 9 โรงงาน เรียกเก็บร้อยละ 6.62 เกาหลี 6 โรงงาน เรียกเก็บ 5.85 ญี่ปุ่น 6 โรงงานเรียกเก็บร้อยละ 43.01 และไต้หวัน จำนวน 3 โรงงานเรียกเก็บเซอร์ชาร์จที่ร้อยละ 54.58

ขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งทางสหพันธ์ได้ขอเข้าชี้แจงต่อกรมการค้าต่างประเทศภายใน 1 เดือน ก่อนที่จะมีการไต่สวน แม้จะยังไม่มีการบังคับเก็บค่าเซอร์ชาร์จ แต่ก็มีผลกระทบแล้ว จากการที่ผู้นำเข้ากระดาษไม่กล้าสั่งสินค้า เพราะว่าหากเอสซีจีไปร้องขอให้มีการคุ้มครองจะมีผลให้ต้องเริ่มเก็บค่าเซอร์ชาร์จทันที และจะมีผลนานถึง 5 ปี ดังนั้น ผู้สั่งสินค้าในช่วงที่กระดาษมีราคาต่างกันจะต้องรับภาระขาดทุน ซึ่งกระดาษเป็นต้นทุนร้อยละ 60 ถ้ากระดาษแพงขึ้น แน่นอนว่ากระดาษแพงขึ้นราคาหนังสือก็ต้องแพงขึ้นตาม ลูกค้าต่างประเทศจะหันไปซื้อสั่งหนังสือจากประเทศคู่แข่งของเราแทน

ทั้งนี้ ภาษีนำเข้ากระดาษเป็น 0 ตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งช่วยให้ราคากระดาษมีเสถียรภาพ และทำให้ราคาหนังสือช่วง 5 ปีที่ผ่านมาไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เฉลี่ยแล้วอยู่ที่เล่มละ 115 บาท แต่ถ้ากระดาษแพง นายเกรียงไกร เธียรนุกูล อดีตประธานกลุ่มอุตสาหกรรมการพิมพ์ มองว่า เป็นเรื่องที่น่ากังวล โดยเฉพาะจำนวนคนอ่านหนังสือที่ปัจจุบันน้อยอยู่แล้วจะลดลงไปอีก โดยในปัจจุบัน คนไทยอ่านหนังสือเพียง 5 เล่มต่อปี และซื้อหนังสือเฉลี่ย 2 เล่มต่อปี หรือบางคนอาจหันไปใช้สื่ออื่นแทน ซึ่งนโยบายรัฐบาลเตรียมนำแท็ปเล็ตมาใช้ในการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนชั้น ป.1 จำนวน 800,000 เครื่องอยู่แล้ว เรื่องนี้อาจกระทบกับการอ่านหนังสือ หรือการพิมพ์ตำราเรียนด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง