โพลระบุ “ไฟเซอร์” เป็นที่ต้องการมากสุด ขณะที่วัคซีนปัจจุบันคนเชื่อมั่น “ปานกลาง”

สังคม
25 มิ.ย. 64
14:14
2,400
Logo Thai PBS
โพลระบุ “ไฟเซอร์” เป็นที่ต้องการมากสุด ขณะที่วัคซีนปัจจุบันคนเชื่อมั่น “ปานกลาง”
ม.สยาม เปิดผลสำรวจกลุ่มตัวอย่าง พบกว่าครึ่งเชื่อมั่นประสิทธิผลและการจัดรรฉีดวัคซีน ปานกลาง ส่วนความต้องการวัคซีน ต้องการ “ไฟเซอร์” มากที่สุด พร้อมระบุว่า ถ้ายังไม่ฉีดวัคซีน ก็จะไม่ไปร่วมชุมนุมการเมือง

วันนี้ (24 มิ.ย.2564) ผศ.ดร.ชาญชัย จิตรเหล่าอาพร คณบดีคณะรัฐศาสตร์ แถลง สิงห์สยามโพล คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ซึ่งเป็นผลสำรวจความคิดเห็น “สถานการณ์ความต้องการวัคซีนในประเทศไทย”

จากความคิดเห็นของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และเขตภาคกลาง โดยสำรวจข้อมูลระหว่างวันที่ 16-20 มิ.ย.2564 ด้วยแบบสอบถามออนไลน์จากประชาชนในเขตกรุงเทพ ปริมณฑล และเขตภาคกลางที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป รวม 1,093 หน่วยตัวอย่าง

โดยใช้การสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบหลายขั้นตอน (Multi Stage Random Sampling) โดยเบื้องต้นใช้วิธีการแบบง่าย (Simple Random Sampling) โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0 เพื่อเลือกพื้นที่ในการเก็บข้อมูลในเขตกรุงเทพ ปริมณฑล และเขตภาคกลางดำเนินการเก็บข้อมูลโดยการสุ่มแบบบังเอิญ (Accidental Sampling) เพื่อเก็บข้อมูลจากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป

กลุ่มตัวอย่างต้องการวัคซีน “ไฟเซอร์” มากที่สุด

ผลการสำรวจ พบว่า 1.ความต้องการฉีดวัคซีนยี่ห้อ พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความต้องการฉีดวัคซีนยี่ห้อ ไฟเซอร์มากที่สุด (ร้อยละ 31.8) รองลงมาคือ ซิโนแวค (ร้อยละ 16.5) แอสตร้าเซนเนกา (ร้อยละ 15.4) จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (ร้อยละ 15.2) ซิโนฟาร์ม (ร้อยละ 9.1) โมเดอร์นา (ร้อยละ 6.0) อื่นๆ (ร้อยละ 4.5) และลำดับสุดท้ายคือ สปุ๊คนิค V (ร้อยละ 1.6)

2.การได้รับการฉีดวัคซีน พบว่า กลุ่มตัวอย่าง ได้รับการฉีดวัคชีนแอสตร้าเซนเนกา (ร้อยละ 31.7) และยังไม่ได้รับการฉีด (ร้อยละ 68.3)

3.การขอความร่วมมือในการฉีดวัคซีนให้กับทุกคนทั้งประเทศ พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความเห็นต่อการขอความร่วมมือ ในการฉีดวัคซีนให้กับทุกคนทั้งประเทศ อยู่ในระดับมาก (ร้อยละ 66.6) รองลงมาคือ ปานกลาง (ร้อยละ 27.4) ไม่เห็นด้วย (ร้อยละ 4.5) และลำดับสุดท้ายคือ น้อย (ร้อยละ 1.6)

เชื่อมั่นกับประสิทธิภาพ-ระบบการฉีดวัคซีน “ปานกลาง”

4.ความเชื่อมั่นต่อประสิทธิผลของวัคซีนที่ฉีดหรือต้องการจะฉีด พบว่า กลุ่มตัวอย่าง มีความเชื่อมั่นต่อประสิทธิผลของวัคซีน อยู่ในระดับปานกลาง (ร้อยละ 54.5) รองลงมาคือ มาก (ร้อยละ 27.3) น้อย (ร้อยละ 10.6) และลำดับสุดท้ายคือ ไม่เชื่อมั่น (ร้อยละ 7.6)

5.ความเชื่อมั่นต่อระบบการฉีดวัคซีนของรัฐบาล พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความเชื่อมั่นต่อระบบการฉีดวัคซีนของรัฐบาลอยู่ในระดับปานกลาง (ร้อยละ 36.0) รองลงมาคือ น้อย (ร้อยละ 27.6) ไม่เชื่อมั่น (ร้อยละ 22.8) และลำดับสุดท้ายคือ มาก (ร้อยละ 13.6)

6.นโยบายของรัฐบาลในการจัดการวัคซีนมีประสิทธิภาพ พบว่า กลุ่มตัวอย่างเห็นว่านโยบายของรัฐบาล ในการจัดการวัคซีนมีประสิทธิภาพ อยู่ในระดับปานกลาง (ร้อยละ 34.5) รองลงมาคือ น้อย (ร้อยละ 30.6) ไม่มีประสิทธิภาพ (ร้อยละ 27.3) และลำดับสุดท้ายคือ มาก (ร้อยละ 7.7)

กลุ่มตัวอย่างระบุ การรณรงค์ฉีดวัคซีนยังน้อย

7.การรณรงค์ประชาสัมพันธ์การฉีดวัคซีนของรัฐบาลมีประสิทธิภาพ พบว่า กลุ่มตัวอย่าง เห็นว่าการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล มีประสิทธิภาพอยู่ในระดับน้อย (ร้อยละ 38.1) รองลงมาคือ ปานกลาง (ร้อยละ 31.7) ไม่มีประสิทธิภาพ (ร้อยละ 25.7) และลำดับสุดท้ายคือ มาก (ร้อยละ 4.6)

8.การฉีดวัคซีนเป็นภูมิคุ้มกันหมู่ นำไปสู่การเปิดประเทศ และการท่องเที่ยว พบว่า กลุ่มตัวอย่างเห็นว่า การฉีดวัคซีนเป็นภูมิคุ้มกันหมู่นำไปสู่การเปิดประเทศและการท่องเที่ยวอยู่ในระดับปานกลาง (ร้อยละ 39.8) รองลงมาคือ มาก (ร้อยละ 37.4) น้อย (ร้อยละ 13.8) และลำดับสุดท้ายคือ ไม่เห็นด้วย (ร้อยละ 9.0)

9.องค์ปกครองส่วนท้องถิ่นมีศักยภาพในการจัดการฉีดวัคซีน พบว่า ประชากรตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่าองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นมีศักยภาพในการจัดการฉีดวัคซีนอยู่ในระดับปานกลาง (ร้อยละ 46.4) รองลงมาคือ น้อย (ร้อยละ 39.9) และลำดับสุดท้ายคือ มาก (ร้อยละ 13.7)

ถ้าไม่ฉีดวัคซีนจะไม่ร่วมชุมนุมการเมือง

10.ความพร้อมไปร่วมกิจกรรมการชุมนุมทางการเมือง แม้ไม่ได้ฉีดวัคซีน พบว่า กลุ่มตัวอย่าง เห็นว่ามีความพร้อมไปร่วมกิจกรรมการชุมนุมทางการเมือง แม้ไม่ได้ฉีดวัคซีน อยู่ในระดับไม่เข้าร่วมแน่นอน (ร้อยละ 56.5) รองลงมาคือ น้อย (ร้อยละ 21.8) ปานกลาง (ร้อยละ 15.6) และลำดับสุดท้ายคือมาก (ร้อยละ 6.2)

เพศชายต้องการวัคซีนมากกว่า

เมื่อพิจารณาข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 1,093 ตัวอย่าง ที่มีความคิดเห็นต่อความต้องการวัคซีนในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย จำนวน 665 คน (ร้อยละ 60.8) มีอายุระหว่าง 31 - 50 ปี (ร้อยละ 63.4) สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี (ร้อยละ 39.7) เป็นพนักงานบริษัท (ร้อยละ 39.3) และมีรายได้ระหว่าง 15,001-25,000 บาท (ร้อยละ 47.2)

ข้อค้นพบจากการสำรวจ คือ ประชาชนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ มีสถานภาพเป็นชนชั้นกลางในชุมชนเมือง ซึ่งอยู่ในช่วงวัยทำงาน มีอายุระหว่าง 31 - 50 ปี (ร้อยละ 63.4) สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี (ร้อยละ 39.7) และมีรายได้ระหว่าง 15,001-25,000 บาท (ร้อยละ 47.2) โดยประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 68.3 ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน

ประชาชนพร้อมฉีดวัคซีน แต่ไม่เชื่อมั่นในประสิทธิผล

ประชาชนผู้ตอบแบบสอบถามนี้สนับสนุน และพร้อมให้ความร่วมมือในการฉีดวัคซีน มากถึงร้อยละ 66.6 แต่กลับพบว่ามีความเชื่อมั่นถึงประสิทธิผลของวัคซีนที่ฉีดหรือต้องการจะฉีดในระดับปานกลาง ร้อยละ 54.5 เท่านั้น

การขาดความเชื่อมั่นอย่างมากต่อวัคซีน ขณะเดียวกันยังขาดความเชื่อมั่นต่อระบบการฉีดวัคซีนของรัฐบาลอย่างมาก โดยพบว่า มีเพียงร้อยละ 13.6 เท่านั้น

สอดคล้องกับระดับความเชื่อมั่นในนโยบายของรัฐบาล ในการจัดการวัคซีนว่า มีประสิทธิภาพเพียง ร้อยละ 7.7 เช่นกัน

ซึ่งเป็นผลจากขาดการรณรงค์ประชาสัมพันธ์การฉีดวัคซีนของรัฐบาลอย่างประสิทธิภาพที่อยู่ในระดับน้อย คิดเป็นร้อยละ 38.1 เท่านั้น
เชื่อระดับปานกลางว่า การฉีดวัคซีน นำไปสู่การเปิดประเทศ

อย่างไรก็ดีประชาชนมีแนวโน้มที่เชื่อว่า การฉีดวัคซีนเป็นภูมิคุ้มกันหมู่ นำไปสู่การเปิดประเทศและการท่องเที่ยว ซึ่งอยู่ในระดับปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 39.8 และรองลงมาคือ มาก คิดเป็นร้อยละ 37.4

นอกจากนี้ระดับความเชื่อมั่นต่อการแสดงบทบาทหรือศักยภาพขององค์ปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการฉีดวัคซีนก็ปรากฏเพียง ร้อยละ 13.7

เมื่อพิจารณาประเด็นการมีส่วนร่วมทางการเมือง พบว่า ในประเด็นการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่าหากยังไม่ได้ฉีดวัคซีนจะยังไม่เข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุมทางการเมืองมากถึงร้อยละ 56.5

วิเคราะห์ผลการสำรวจ

ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งระดมสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ผ่านการฉีดวัคซีน ดังนี้

1.ภาครัฐควรให้ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนอย่างถูกต้องและครบถ้วน ได้แก่ คุณสมบัติ ข้อดี ข้อเสีย ความเหมาะสมกับผู้ใช้ของวัคซีนแต่ละยี่ห้อ กระบวนการขั้นตอนในการลงทะเบียนเข้าฉีดวัคซีน ช่วงเวลาและจำนวนวัคซีนที่มี

2.ภาครัฐควรสร้างความมั่นใจถึงความปลอดภัยและประโยชน์ที่ได้จากการเข้ารับการฉีดวัคซีนทั้งแก่ตนเองและสังคมโดยรวม

3.ภาครัฐควรกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการวัคซีนให้เกิดความชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง