เข้าป่าอนุรักษ์? ผิดมั้ย เคลียร์ปมยูทูบเบอร์ท้านอนป่าระวังคุก

สิ่งแวดล้อม
19 พ.ย. 64
14:13
3,696
Logo Thai PBS
เข้าป่าอนุรักษ์? ผิดมั้ย เคลียร์ปมยูทูบเบอร์ท้านอนป่าระวังคุก
กรมอุทยานฯ เตือนสายเดินป่าอย่าท้ามั่ว เข้าพื้นที่อุทยาน-เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ไม่ได้รับอนุญาตผิดกฎหมาย โทษจำคุกปรับสูง ยิ่งเข้าไปใช้ชีวิตจับปลา ตัดไม้ยิ่งมีความผิด ยืนยันชัดไม่อนุญาต "ยูทูบเบอร์-นักเขียน"เข้าใช้พื้นที่เด็ดขาด หลังท้านอนป่า 5 วันพกมีด

กรณีโซเชียลวิจารณ์กระแสของยูทูบเบอร์ดัง “โจโฉ” ทรงธรรม สิปปวัฒน์ ถูกจับผิดคลิปการเดินป่า จนเกิดการท้านอนป่ากับนายคมฉาย ตะวันฉาย นักเดินป่า และคอลัมนิสต์สายเขียว ซึ่งมีการท้ากันด้วยเงินวันละ 5,000 บาทใช้มีดเพียงเล่มเดียว

วันนี้ (19 พ.ย.2564) นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุว่าการเข้าป่าต้องมีเป้าหมาย เช่น การลาดตระเวนพื้นที่ป่า โดยเจ้าหน้าที่เข้าไป 5-10 วัน แล้วแต่พื้นที่แล้วแต่ภารกิจ ไม่มีการไปเอาอาหารในป่าเด็ดขาด ยกเว้น พืชผัก เล็กๆน้อย แม้กระทั่งปลาในลำธาร เจ้าหน้าที่ก็หลีกเลี่ยงที่จะจับมากิน 

ไม่ควรมาท้าทายอะไรแบบนี้ หากใครเข้าไปในป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตจะจับทั้งคู่เลยเพราะไม่รู้ว่ามีดเล่มเดียว หรืออาวุธอื่นๆ ที่อาจจะนำเข้าไปในป่านั้น จะเอาเข้าไปทำอะไร อาจจะล่าสัตว์ หรือตัดไม้ก็ได้
ภาพ : JoCho Sippawa

ภาพ : JoCho Sippawa

ภาพ : JoCho Sippawa

ไม่อนุญาตยูทูบเบอร์-นักเขียนท้านอนป่า

นายดำรัส โพธิ์ประสิทธิ์ ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า นายธัญญา รับทราบข้อมูลดังกล่าวแล้ว มีนโยบายชัดเจนว่าไม่อนุ ญาตให้ยูทูบเบอร์ และคอลัมนิสต์ ที่ท้ากันไปนอนป่าเข้าไปในพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างเด็ดขาด

กรมอุทยานฯ ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าพื้นที่ป่าอนุรักษ์โดยพลการ แม้แต่การเข้าไปถ่ายทำสารคดี ยังต้องขออนุญาตตามระเบียบจากอธิบดี รวมทั้งห้ามเข้าพื้นที่หวงห้ามในป่าเด็ดขาด

นายดำรัส กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเท่าที่ดูจากคลิปที่ส่งต่อกัน เป็นการท้ากันไปนอนพักในป่า ยังไม่ได้บอกสถานที่ป่าอุทยานไหน หรือจุดไหนชัดเจน และตอนนี้ทั้ง 2 คนก็ยังไม่ได้ทำเรื่องขออนุญาตมา แต่ขอเตือนว่าป่าอนุรักษ์ไม่ใช่พื้นที่ที่จะให้เข้าไปท้ากันเข้านอนพักค้างแรม แม้แต่การจุดกองไฟ ตัดไม้ หรือเด็ดใบไม้ใบหญ้า จับปลาก็มีความผิด

ถ้าเข้าไปไม่ขออนุญาต มีความผิดแน่นอน หรือหากจะทำหนังสือมาขออนุญาต แต่ไม่มีวัตถุประสงค์ชัดเจน ก็ไม่ได้รับอนุญาตเช่นกัน ตอนนี้ขอเตือนทั้ง 2 คนว่าอย่าท้ากันเลย

ขณะที่ไทยพีบีเอสออนไลน์ตรวจสอบ ทราบว่านายคมฉาน ได้ร่วมลงพื้นที่ติดตามการจัดการช้างที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จ.ฉะเชิงเทรา และอุทยานแห่งชาติเขาสอยดาว จ.จันทบุรี จัดโดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า ตั้งแต่วันที่ 18-19 พ.ย.นี้ และไม่ขอให้สัมภาษณ์ในประเด็นดังกล่าว 

ยกคดีติ๊ก-แอบถ่ายทำป่าภูคิ้ง ชัยภูมิ


ขณะที่ก่อนหน้านี้เคยมีกรณีการเข้าพื้นที่ป่าหวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตมาแล้วหลายครั้ง เช่น ปี 2554 กรณีของ"ติ๊ก" เจษฎาภรณ์ ผลดี ที่เคยลักลอบถ่าย "เนวิเกเตอร์" ในเขตหวงห้ามบน "ภูคิ้ง" พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว (ทุ่งกะมัง) อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ซึ่งกรมอุทยานแจ้งความดำเนินคดี และระงับการออกอากาศรายการตอนดังกล่าว แต่ที่สุดแล้วอัยการสั่งยกฟ้อง

และหากย้อนปี 2542 กับกลุุ่มอนุรักษ์และตัวแทนชาวบ้านในจ.กระบี่ เคยยื่นฟ้องนายปองพล อดิเรกสาร รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมป่าไม้ นายปลอดประสพ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ บริษัท แซนต้า อินเตอร์เนชั่นแนลฟิล์มโปรดักชั่น จำกัด และบริษัท ทเวนตี้ เซนจูรี่ ฟอกซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทสร้างภาพยนตร์เรื่อง “เดอะบีช” ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ และเรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท

 

เข้าป่าอนุรักษ์-เขตรักษาพันธ์ุไม่รับอนุญาตผิด 

ไทยพีบีเอสออนไลน์ ตรวจสอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 และพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ระบุดังนี้

  • มาตรา 19 ภายในอุทยานแห่งชาติ ห้ามมิให้มิให้บุคคลใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด
  • มาตรา 20 บุคคลซึ่งเข้าไปในอุทยานแห่งชาติต้องปฎิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้สั่งให้ปฏิบัตืตามระเบียบที่อธิบกำหนด
  • มาตรา 22 พนักงานพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจอนุญาตให้บุคคลกระทำการตามมาตรา 19 (2) (5) (6) หรือ (7) ได้ตามลักษณะของเขตการจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติที่กำหนดไว้ โดยอยู่ใน ความควบคุมดูแลของพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ การอนุญาตดังกล่าวให้กระทำเฉพาะเพื่อ สำรวจศึกษาวิจัย หรือการทดลองทางวิชาการ การถ่ายทำภาพยนตร์ วีดิทัศน์ หรือสารคดี การถ่ายภาพการศึกษาธรรมชาติ การบำรุงรักโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานหรือเพื่อความมั่นคงทางพลังงานหรือการท่องเที่ยวที่เป็นประโยชน์ และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่อุทยาน
  •  ตามมาตรา 40  ผู้ใดกระทำการหรืองดเว้นกระทำการไม่ว่าจงใจหรือประมาทเลินเล่อโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติวนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ หรือสวนรุกขชาติ ผู้นั้นต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายให้เสียหาย 

สำหรับความผิดจะมีต่างกรรมต่างวาระ เช่น การเข้าพื้นที่ไม่ได้รับอนุญาต การล่าหรือหาของป่า การทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของทรัพยากร  

  • มาตรา 41 ผู้ใดยึดถือหรือครอบครองที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้เสื่อมสภาพหรือเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ไปจากเดิมในอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน
    สวนพฤกษศาสตร์ หรือสวนรุกขชาติ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา19 (1) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่4 -20 ปี หรือปรับตั้งแต่ 400,000 บาทถึง 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีความผิดตามวรรคหนึ่ง ถ้าได้กระทำในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 หรือพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 2 ตามที่
    คณะรัฐมนตรีกำหนด หรือพื้นที่เปราะบางของระบบนิเวศหรือความหลากหลายทางชีวภาพ ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้ในวรรคหนึ่งกึ่งหนึ่ง

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง