เปิดแนวทางรักษา "ฝีดาษลิง" ต้องกักตัวผู้ป่วยสงสัยให้รอผลแล็บ

สังคม
3 ส.ค. 65
11:24
786
Logo Thai PBS
เปิดแนวทางรักษา "ฝีดาษลิง" ต้องกักตัวผู้ป่วยสงสัยให้รอผลแล็บ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมการแพทย์ เผยแพร่แนวทางปฏิบัติการวินิจฉัย-ดูแลรักษาโรคฝีดาษลิง ให้กักตัวผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อจนกว่าจะทราบผลแล็บ และจำเป็นต้องรับเป็นผู้ป่วยในอยู่ห้องแยกผู้ป่วยโรคติดเชื้อ

วันนี้ (3 ส.ค.2565) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยแพร่แนวทางปฏิบัติการวินิจฉัย การดูแลรักษาและการป้องกันการติดเชื้อกรณีโรคฝีดาษวานร (Monkeypox) หรือโรคฝีดาษลิง โดยมีรายละเอียดสำคัญ ได้แก่

โรคฝีดาษวานรเป็นโรคที่อาการไม่รุนแรง หายเองได้ แต่จะมีอาการรุนแรงได้ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำและเด็กเล็ก โดยมีอัตราการตายต่ำกว่าร้อยละ 5 ระยะเวลามีอาการของโรคประมาณ 2-4 สัปดาห์ เนื่องจากโรคฝีดาษวานร เพิ่งมีรายงานในประเทศไทยเป็นครั้งแรก จึงจำเป็นต้องรับผู้ป่วยไว้รักษาเป็นผู้ป่วยในทุกราย ระยะฟักตัว 7 - 21 วัน

อาการและอาการแสดง ผู้ป่วยมักเริ่มด้วยอาการไข้และผื่น จะเริ่มจากตุ่มแดง ประมาณ 5-7 วันหลังรับเชื้อ และตุ่มจะเปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำ ตุ่มหนอง และแห้งเป็นสะเก็ด ตุ่มมีจำนวนมากน้อยตาม
ความรุนแรงของโรค และการตอบสนองของผู้ป่วย รวมระยะเวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ การแพร่กระจายเชื้อและการติดต่อส่วนใหญ่โดยการสัมผัสผื่นผู้ป่วยโดยตรงในระยะแพร่เชื้อ หรือสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยยืนยัน อาจมีการติดต่อทางละอองฝอยได้ โดยเฉพาะหากมีการทำหัตถการที่ทำให้เกิดละอองฝอยขนาดเล็ก

 

ทั้งนี้ ให้รับผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อเป็นผู้ป่วยใน โดยอยู่ในห้องแยกโรคเดี่ยว มีห้องน้ำในตัว ระหว่างรอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ จนกว่าจะทราบผล ในกรณีไม่พบเชื้อให้สังเกตอาการ 21 วัน หากมีอาการไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต มีผื่น ให้ไปพบแพทย์ ส่วนกรณีที่ตรวจพบเชื้อฝีดาษลิง ให้ Admit ทุกรายในโรงพยาบาล และรักษาในห้องแยกผู้ป่วยโรคติดเชื้อ

 

สำหรับการรักษาตามอาการ เป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการของผู้ป่วย เช่น ลดไข้ ลดอาการไม่สบายจากตุ่มหนอง และดูแลไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน, การรักษาจำเพาะ ยาต้านไวรัสจำเพาะเป็นยาที่ใช้ในการรักษาอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยในต่างประเทศ ทั้งนี้ ยาที่มีรายงานให้รายผู้ป่วยที่อาการรุนแรง คือ tecovirimat (TPOXX)

ผู้ป่วยที่มีโอกาสเสี่ยงต่อโรครุนแรง ได้แก่ กลุ่ม ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี, มะเร็งเม็ดเลือด ได้แก่ leukemia, lymphoma, โรคมะเร็งอวัยวะต่าง ๆ, ผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ, ผู้ได้รับการรักษาด้วย alkylating agents, antimetabolites, radiation, tumor necrosis factor inhibitors, high-dose corticosteroids, ผู้ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกมาภายใน 2 ปี หรือตั้งแต่2 ปีขึ้นไป แต่มีภาวะ graft-versus-host disease หรือโรคเดิมกำเริบ, โรค autoimmune disease ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ โดยเฉพาะเด็ก, เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 8 ปี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง