ย้อนมรสุม "พล.อ.ประยุทธ์" กับเส้นทางนายกรัฐมนตรี

การเมือง
23 ส.ค. 65
11:01
3,604
Logo Thai PBS
ย้อนมรสุม "พล.อ.ประยุทธ์" กับเส้นทางนายกรัฐมนตรี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ไทยพีบีเอสออนไลน์ ย้อนมรสุม "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" กับเส้นทางการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งปมคำถวายสัตย์ฯ ความเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ รวมถึงปมบ้านพักหลวง แต่ทุกครั้ง "พล.อ.ประยุทธ์" ก็ผ่านมาได้ จนมาถึงกรณีครบวาระ 8 ปี

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ?

16 ก.ค.2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณ หลังชนะการเลือกตั้ง ต่อมา ในวันที่ 25 ก.ค.2562 นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.อนาคตใหม่ หารือกรณีคลิปข่าวพระราชสำนัก ปรากฏถ้อยคำที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวไม่ครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ใน ม.161 ของรัฐธรรมนูญ

พล.อ.ประยุทธ์พูดถึงประโยค "จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนตลอดไป" แต่ขาดคำว่า "ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ"


จากนั้นใน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเกี่ยวกับประเด็นที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน นายภาณุพงศ์ ชูรักษ์ นักศึกษา ม.รามคำแหง ก็ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้พิจารณายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย ตาม ม.46 กรณีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติ ม.161 อันเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียน

กระทั่ง วันที่ 27 ส.ค.2562 ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า การกระทำของ พล.อ.ประยุทธ์ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และในวันที่ 11 ก.ย.2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องไว้พิจารณากรณีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน เนื่องจากไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรใดตามรัฐธรรมนูญ เพราะการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำทางการเมืองของ ครม.ในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์

พล.อ.ประยุทธ์ กับความเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ?

ในปีเดียวกัน มรสุมลูกใหม่ก็พัดเข้ามาอีกครั้ง ส.ส.110 คน ได้เข้าชื่อส่งคำร้องให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่ จากกรณีการเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เข้าข่ายเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่


อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ไม่เป็น “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (15) เนื่องจากการดำรงตำแหน่งหัวหน้า คสช.ของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 ไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ และมีอำนาจหน้าที่เฉพาะชั่วคราว ดังนั้นความเป็นรัฐมนตรีไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว

พล.อ.ประยุทธ์ พักอาศัยในบ้านพักหลวงหลังเกษียณ?

ปลายปี 2563 พรรคฝ่ายค้านได้ยื่นคำร้องผ่านประธานสภา ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อาศัยอยู่ในบ้านพักทหารทั้งที่เกษียณอายุราชการแล้ว เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญหรือไม่ 

ต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ อาศัยในบ้านพักทหารทั้งที่เกษียณอายุราชการ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ยังสามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้


เนื่องจากไม่เป็นกรณีการถือประโยชน์ส่วนตน มากกว่าประโยชน์ประเทศ ไม่เป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อตนเอง ไม่เป็นการขอเรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ในประการที่อาจจะกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ และไม่เป็นการกระทำอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวมโดยทางตรงและทางอ้อม

ชุมนุมไล่รัฐบาล - ยื่นหนังสือให้นายกฯ ลาออก

การรอดพ้นจากหลายคดีการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ ราวกับแมวเก้าชีวิตเป็นข่าวดีของรัฐบาล แต่ฝ่ายค้านอย่างพรรคอนาคตใหม่กลับพบข่าวร้ายกับคำตัดสินยุบพรรค สร้างระลอกคลื่นความไม่พอใจให้แก่ประชาชนบางกลุ่ม จนเกิดการชุมนุมขึ้นต่อเนื่องในปี 2563 กระทั่งเกิดการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มคณะราษฎร 2563 ในเดือน ต.ค. ที่มวลชนปักหลักที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปล้อมทำเนียบรัฐบาลเพื่อ 3 ข้อเรียกร้อง หนึ่งในนั้นคือการยื่นคำขาดให้ นายกรัฐมนตรีลาออก


การชุมนุมในครั้งนั้นเกิดเผชิญหน้าและจับกุมแกนนำอย่าง ไผ่ ดาวดิน และผู้ชุมนุมอื่นอีกกว่า 20 คน  กระทั่งนำไปสู่การตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ กับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงใน กทม.เปิดทางเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมช่วงเช้ามืด จับกุมผู้ชุมนุม 23 คน รวมถึง นายอานนท์ นำภา, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง

ในเดือนเดียวกัน กลุ่มราษฎรนัดรวมตัวที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เคลื่อนขบวนไปทำเนียบ นำจดหมายลาออกไปยื่นถึงนายกรัฐมนตรี พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุม

ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะแถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ขอให้ถอยคนละก้าว พร้อมยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขต กทม. 


จากนั้นยังมีการชุมนุมจากหลายกลุ่มอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงปี 2564 กลุ่มทะลุฟ้า เคลื่อนขบวนใหญ่อีกครั้งจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปทางดินแดง ก่อนจะประกาศบุกบ้านนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม การชุมนุมในครั้งนั้นยุติลงหลังการเผชิญหน้ากันระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะสลายการชุมนุมและยึดคืนพื้นที่


มรสุมนับไม่ถ้วนที่พัดเข้ามาแต่ก็ไม่อาจสั่นคลอนเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ อย่างไรก็ตามในวันนี้กับมรสุมลูกใหม่ ประเด็นนายกรัฐมนตรีครบวาระ 8 ปี จะเป็นอย่างไร ต้องจับตากันต่อไปว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

มติเอกฉันท์ "พล.อ.ประยุทธ์" ไม่เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

ที่มา "ปมถวายสัตย์ฯ"

อยู่ต่อได้ "ไม่ผิด" พล.อ.ประยุทธ์ ยังเป็นนายกฯ เหมือนเดิม

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง