ลงดาบ "ปลัดอำเภอ" เรียกรับเงิน ยกเลิกแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส.

อาชญากรรม
27 ต.ค. 65
13:50
269
Logo Thai PBS
ลงดาบ "ปลัดอำเภอ" เรียกรับเงิน ยกเลิกแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส.
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เลขาฯ ป.ป.ส. ลงดาบ "ปลัดอำเภอ" ใน จ.สงขลา ยกเลิกการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส.หลังพบเรียกรับผลประโยชน์จากขบวนการค้ายาเสพติด พบสถิติปีงบประมาณ 65 มีเรื่องร้องเรียนเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องกับยาเสพติด 323 เรื่อง

วันนี้ (27 ต.ค.2565) นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กล่าวถึงกรณี ปลัดอำเภอและทีม อส. รวม 6 นาย ซึ่งเป็นชุดปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติดจังหวัดสงขลา เรียกรับผลประโยชน์จากขบวนการค้ายาเสพติดซึ่งปลัดอำเภอหรือเจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ ผู้กระทำความผิดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส.

กรณีดังกล่าว พบว่าปลัดอำเภอ หัวหน้าชุด เป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส.จริง แต่มีการปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้เลขาธิการ ป.ป.ส.จึงได้มีคำสั่งยกเลิกการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส.ซึ่งหน่วยงานต้นสังกัดจะได้ดำเนินการทางวินัยและคดีอาญาต่อไป

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2564 กำหนดให้เลขาธิการ ป.ป.ส.จัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี โดยให้รายงานข้อเท็จจริง ปัญหาอุปสรรค ผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงาน เพื่อรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อเป็นการกำกับติดตามการใช้อำนาจไม่ให้เกิดการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน

สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส.จะต้องปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กฎหมายและระเบียบที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด อาทิ ก่อนการปฏิบัติหน้าที่จะต้องแสดงบัตรประจำตัวทุกครั้งก่อนปฏิบัติหน้าที่ การจับบุคคลจะต้องแจ้งข้อกล่าวหาและรายละเอียดแห่งการจับให้ผู้ถูกจับทราบโดยไม่ชักช้า และจะต้องเอาตัวผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส.หรือส่งตัวผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนโดยทันที

หากจะใช้อำนาจควบคุมตัวผู้ถูกจับเพื่อสืบสวนสอบสวนก็สามารถดำเนินการได้โดยผู้ใช้อำนาจควบคุมตัวจะต้องเป็นผู้เดียวกับที่ใช้อำนาจจับกุมโดยสามารถควบคุมตัวเพื่อขยายผลไม่เกิน 3 วันและต้องแจ้งผู้บังคับบัญชารับทราบ ภายหลังจากมีการใช้อำนาจดังกล่าวแล้วจะต้องรายงานให้ เลขาธิการ ป.ป.ส.ทราบภายในระยะเวลา 15 วัน

ในปีงบประมาณ 2565 (1 ต.ค.2564-30 ก.ย.2565) ที่ผ่านมาพบเรื่องร้องเรียนเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด จำนวน 323 เรื่อง ตรวจสอบแล้วจำนวน 249 เรื่อง จับกุมผู้ต้องหาที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดรวม 27 คน ยึดทรัพย์สินรวมมูลค่า 33 ล้านบาท

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง