รู้จัก "แพชูชีพ" อุปกรณ์ช่วยชีวิตคนเมื่อเรืออับปาง

สังคม
21 ธ.ค. 65
14:49
8,228
Logo Thai PBS
รู้จัก "แพชูชีพ" อุปกรณ์ช่วยชีวิตคนเมื่อเรืออับปาง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รู้หรือไม่? "บนเรือก็มีแพ" นอกจาก เสื้อชูชีพ ที่คนทั่วไปรู้จักกันนั้น บนเรือหรือเครื่องบิน ยังมีอุปกรณ์ช่วยชีวิตอีกอย่างที่ชื่อ "แพชูชีพ" ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถช่วยชีวิตผู้ประสบภัยและช่วยประวิงเวลาจนกว่า "ความช่วยเหลือ" จะมาถึงได้ดีที่สุด

“Safety first” เป็นคำพูดที่ทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดี และเป็นหลักปฏิบัติเบื้องต้นที่ทุกคน ทุกองค์กรต้องให้ความสำคัญกับทุกกิจกรรม บนเรือก็มีอุปกรณ์ความปลอดภัยเช่นกัน เช่น ทุ่นลอยน้ำ ห่วงยาง เสื้อชูชีพ แพชูชีพ เป็นต้น

ท่ามกลางกระแสสังคม กรณี “เรือหลวงสุโขทัยอับปาง” ที่พุ่งเป้าไปที่ “เสื้อชูชีพ” ที่มีไม่พอกับจำนวนของลูกเรือทุกคนที่อยู่บนเรือ อดีตนาวิกโยธินท่านหนึ่งได้ให้ความคิดเห็นว่า ในกรณีที่คลื่นในทะเลสูง และมีลมแรงมาก รวมถึงลักษณะการเอียงของเรือที่มากถึง 60 องศาขนาดนั้น

การใส่เสื้อชูชีพอาจไม่สามารถช่วยเหลือลูกเรือได้จริงๆ

เช่นเดียวกันกับการแถลงของ พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผบ.ทร. ช่วงเย็นวันที่ 20 ธ.ค.2565 ที่ว่า

การมีเสื้อชูชีพไม่ได้หมายความว่าทุกคน
จะสามารถรอดชีวิตและได้รับการช่วยเหลือขึ้นมาบนเรือ

แต่อุปกรณ์ความปลอดภัยเหล่านี้ ไม่ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายมากแค่ไหน ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมี เพราะจุดมุ่งหมายของเสื้อชูชีพ หรือแม้กระทั่ง แพชูชีพ คือ การลำเลียงผู้โดยสารลงไปอยู่ในที่ปลอดภัยเพื่อประวิงเวลาของผู้ประสบภัยเพื่อรอการช่วยเหลือ

ในตำรา “การเรือ” โดยกองวิชาการเรือและเดินเรือ ฝ่ายศึกษา โรงเรียนนายเรือ ฉบับ เดือนตุลาคม 2552 โดย น.ท.สุพจน์ สุระอารีย์ มีบทเรียนที่ใช้สอน นักเรียนนายเรือ ถึงเรื่อง “การสละเรือใหญ่” โดยให้หลักข้อควรจำคือ

ข้อควรจําในการสละเรือใหญ่
ให้ทุกคนลงแพชูชีพให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทําได้
ทั้งการไต่ลงไปในแพโดยใช้เชือกหรือสายสูบ
เพื่อให้ตัวเปียกน้ำน้อยที่สุด

เสื้อชูชีพ 1 ตัวจะสามารถช่วยผู้ประสบภัยเพียง 1-2 คน แต่ แพชูชีพ จะสามารถช่วยผู้ประสบภัยได้คราวละ 15 คน/หลัง การสละเรือใหญ่ นอกจากเสื้อชูชีพที่จำเป็นต้องใส่ทุกคนแล้ว การใช้ แพชูชีพ คือสิ่งจำเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ประสบภัยปลอดภัย และประวิงเวลาเพื่อรอความช่วยเหลือได้เช่นกัน

รู้จัก แพชูชีพ (Liferaft) 

หลักการทำงาน “แพชูชีพ”

1. เมื่อ แพชูชีพ หลุดจากที่เก็บ
2. เชือกปล่อยลม ซึ่งตั้งระหว่าง แพชูชีพ กับที่เก็บ จะกระตุกทํา ให้เครื่องกลไกที่ติดอยู่กับ แพชูชีพเป่าลมเข้า แพชูชีพ
3. แพชูชีพ จะพองตัวออก
4. แต่ถ้าเรือจมเสียก่อนที่จะปลด แพชูชีพ ได้ทัน
5. กําลังดันของน้ำจะดันห่อ แพชูชีพ มีกําลังดันลอยตัวขึ้น พอที่จะปลดขอรัดห่อเครื่องชูชีพให้หลุดจากเรือใหญ่ได้เอง
6. เชือกปล่อยลม จะดึงและกระตุกปล่อยลมเข้า แพชูชีพ
7. กําลังลอยของ แพชูชีพ จะเพิ่มขึ้น ทําให้เชือกปล่อยลมขาด
8. แพชูชีพ จะลอยขึ้นบนผิวน้ำ

ขอบคุณภาพ : Walter Cooper

ขอบคุณภาพ : Walter Cooper

ขอบคุณภาพ : Walter Cooper

ความสำคัญ “แพชูชีพ”

ภายใน แพชูชีพ จะมีอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะใช้สำหรับการยังชีพในทะเล ผู้ที่เข้าไปอยู่ใน แพชูชีพ จะต้องทำการกางผ้าใบคลุม แพชูชีพ เพื่อสร้าง “ที่กำบัง” และสามารถนำไปรอง “น้ำฝน” เพื่อเก็บเป็นแหล่งน้ำจืด ให้กับผู้ประสบภัยได้

โดยจะต้องไม่ลืมว่าหลักสำคัญของการเอาตัวรอดในทะเลคือ
การรักษาอุณหภูมิร่างกายให้ใกล้เคียงปกติให้มากที่สุด

เพื่อป้องกันภาวะอันตรายที่จะเกิดกับร่างกาย “Hypothermia” หรือภาวะอุณหภูมิร่างกายลดลงกว่า 35 องศาเซลเซียส ซึ่งจะทำให้การทำงานของอวัยวะในร่างกายค่อยๆ ล้มเหลวลง

จากนั้นต้องทำการปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บ ซึ่งใน แพชูชีพ ก็จะมีถุงเครื่องมือปฐมพยาบาลไว้ให้ และมีเสบียงเป็นลูกกวาดกลูโคส เพื่อให้พลังงานแก่ผู้ประสบภัยในขณะที่รอคอยความช่วยเหลือ

ขอบคุณภาพ : edLiferaft

ขอบคุณภาพ : edLiferaft

ขอบคุณภาพ : edLiferaft

แพชูชีพ กับ กฎ Must Have Must Carry

ในเรือหรือเครื่องบิน จะต้องมี แพชูชีพ ติดไว้เสมอ ถือว่าเป็นข้อบังคับตามกฎหมายการเดินทะเล หรือ การเดินอากาศ และจำนวนของ แพชูชีพ จะต้องมีมากกว่าจำนวนลูกเรือทั้งหมดที่อยู่บนเรือเสมอ

หากความจุคนเต็มอัตราของเรือลำหนึ่ง บรรจุได้ 80 คน
และ แพชูชีพ หลังหนึ่งสามารถบรรจุคนได้มากที่สุด 15 คน
นั่นหมายถึง บนเรือลำนี้จะต้องมีแพชูชีพอย่างน้อยที่สุด 6 หลัง

และจำนวนคนที่ขึ้นเรือ อาจจะมีมากถึง 90 คนได้ แต่ต้องไม่เกินอย่างเด็ดขาด เพราะจำนวนที่เกินมา จะกลายเป็นความเสี่ยงต่อ แพชูชีพ ในกรณีที่ต้องอพยพคนเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินทันที

Well Plan gets Plan well - วางแผนดีย่อมได้แผนที่ดี 

สิ่งที่สำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือ “ความรู้ในการใช้ แพชูชีพ” ผู้ประสบภัยที่ต้องลงไปอยู่ในแพชูชีพ จะต้องได้รับการฝึกใช้ แพชูชีพ มาก่อน หรือ ต้องได้รับข้อมูลการใช้จากลูกเรือที่ได้รับการฝึกมา

ยกตัวอย่าง กรณีที่มีการอพยพผู้โดยสารจากเครื่องบินตกลงในน้ำ ให้ลงไปที่ แพชูชีพ แม้ว่าผู้โดยสารส่วนใหญ่จะไม่มีความรู้เรื่องการใช้ แพชูชีพ มาก่อน หรือแม้กระทั่งหลายคนอาจจะไม่เคยรู้จักอุปกรณ์ความปลอดภัยนี้เลยด้วยซ้ำ แต่ลูกเรือที่อยู่บนเครื่องบินจะต้องลงไปอยู่ใน แพชูชีพ ด้วยเสมอ เพื่อเป็นคนคอยกำกับผู้ประสบภัยทุกคนให้ช่วยเหลือกัน เพื่อผ่านอันตรายตรงหน้า และประวิงเวลาจนกว่าความช่วยเหลือจะมาถึงให้ได้

ขอบคุณภาพ : people.com

ขอบคุณภาพ : people.com

ขอบคุณภาพ : people.com

สิ่งที่ลืมไม่ได้ในการทำกิจกรรมทุกอย่างคือ "Safety first" แต่อีกคำหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาดอีกคำคือ

Safety is not compromised
ไม่ควรมีการต่อรองใดๆ ในเรื่องของความปลอดภัย 

นอกจาก เสื้อชูชีพ ที่ทุกคนจำเป็นต้องใส่ลงไปในเรือแล้ว
การสละเรือโดยการใช้ แพชูชีพ เพื่อรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยของชีวิต ก็สำคัญไม่แพ้กัน

ขอบคุณภาพ : James Mitchell

ขอบคุณภาพ : James Mitchell

ขอบคุณภาพ : James Mitchell

 ที่มา : 
- ตำรา “การเรือ” โดยกองวิชาการเรือและเดินเรือ ฝ่ายศึกษา โรงเรียนนายเรือ ฉบับ เดือนตุลาคม 2552 โดย น.ท.สุพจน์ สุระอารีย์ 
- คู่มือ "การอพยพคนเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน" สายการบินพาณิชย์ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง