เกิดอะไรขึ้นบ้างกับ เรือหลวง "ชื่อเมืองหลวง" ของไทย

สังคม
22 ธ.ค. 65
13:48
2,365
Logo Thai PBS
เกิดอะไรขึ้นบ้างกับ เรือหลวง "ชื่อเมืองหลวง" ของไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
จากเหตุการณ์การอับปางของเรืองหลวงสุโขทัย ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2565 ที่ผ่านมา ความคืบหน้าที่ทางกองทัพเรือจัดการอยู่นั้น ยังคงดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น แต่ในอดีตนั้น ไทยเองก็เคยสูญเสียเรือหลวง ที่มีชื่อเมืองหลวง ในเหตุการณ์ใหญ่ๆ ถึง 2 เหตุการณ์

ยุทธนาวีเกาะช้าง

เป็นเหตุการณ์รบทางเรือที่เกิดขึ้นใน กรณีพิพาทอินโดจีน เนื่องจากไทยเรียกร้องให้ฝรั่งเศส ปรับปรุงเส้นแบ่งเขตแดน ไทย-อินโดจีนฝรั่งเศส เสียใหม่ ที่บริเวณเกาะช้าง จ.ตราด และเรียกร้องให้ฝรั่งเศสคืนดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงของไทยที่ฝรั่งเศสยึดไปจากเหตุการณ์ ร.ศ.112 เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 ม.ค.2484 (81 ปีก่อน) ที่บริเวณทางใต้ของเกาะช้าง จ.ตราด

ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 17 ม.ค. กองกำลังทางเรือของฝรั่งเศสทั้งหมด 7 ลำ ได้อาศัยความมืดและความเร็ว รุกล้ำเข้ามาทางทิศใต้ของเกาะช้าง โดยมี เรือลาม็อต-ปีเก เป็นเรือลำเดียวในแผนการโจมตี ส่วนอีก 6 ลำเป็นเรือสนับสนุนและคอยคุ้มกัน จากนั้นฝรั่งเศสสั่งการให้เครื่องบินตรวจการบินจากฐานทัพกัมพูชา บินเข้ามายืนยันตำแหน่งเรือตอร์ปิโดของไทย ซึ่งขณะนั้นมี เรือหลวงสงขลา และ เรือหลวงชลบุรี ประจำการอยู่

ฝรั่งเศสเปิดการรบ ด้วยการสั่งให้เครื่องบินทะเลทิ้งระเบิดใส่เรือตอร์ปิโดของไทย แต่ถูกทางไทยยิงสกัดกั้นเอาไว้ได้ทัน จากนั้นทั้ง 2 ฝ่ายเริ่มยิงต่อสู้กัน จนกระทั่ง เรือหลวงสงขลา เกิดความเสียหายอย่างหนัก จนต้องสั่งสละเรือใหญ่ ในเวลานั้น เรือหลวงสงขลา ยืดหยัดต่อสู้ป้องกันการรุกรานของฝรั่งเศสได้นานถึง 35 นาที ส่วน เรือหลวงชลบุรี ก็ยืนหยัดต่อสู้ได้นานถึง 40 นาที และจำเป็นต้องสั่งสละเรือใหญ่ในเวลาต่อมาเช่นกัน

จากเหตุการณ์นี้ ฝรั่งเศสถูกกล่าวหาว่าได้กระทำการผิดธรรมเนียมการรบทางทะเล โดยใช้ปืนกลกราดยิงทหารเรือไทยที่ลอยคออยู่ในทะเลอีกด้วย

10 นาทีหลังจากการรบเกิดขึ้น นาวาโท หลวงพร้อม วีระพันธ์ ผู้บังคับการเรือหลวงธนบุรี มีคำสั่งถอนสมอ และเคลื่อนลำไปประจำสถานีรบ เพื่อเข้าช่วยเรือหลวงทั้ง 2 ลำทันที ใช้เวลาไม่เกิน 20 นาที ก็ถึงสถานีรบและเริ่มเปิดฉากยิงตอบโต้กับเรือรบฝรั่งเศสทันที

การต่อสู้ดำเนินไปเรื่อยๆ จน เรือลาม็อต-ปีเก ของฝรั่งเศสต้องเรียกกำลังเสริมเข้าช่วย เรือหลวงธนบุรีถูกรุมยิงจนกระทั่งผู้บังคับการ เรือหลวงธนบุรี และทหารเรืออีกหลายนายเสียชีวิตในการรบ

เรือหลวงธนบุรีเหมือนเสียศูนย์กลางการบัญชาการ และได้รับความเสียหายอย่างหนัก

แต่ทหารเรือของไทยยังคงพยายามต่อสู้ให้ถึงที่สุด จนสามารถสร้างความเสียหายให้แก่เรือลาม็อต-ปีเก ได้ในที่สุด จากนั้น เรือหลวงธนบุรี ได้แล่นลำเข้าสู่บริเวณน้ำตื้นแต่ก็ยังพยายามยิงสกัดกั้นอยู่ตลอดเวลา จนกองเรือรบฝรั่งเศสส่งสัญญาณถอนตัวจากการรบ

หลังจากการยิงตอบโต้กันกว่า 2 ชั่วโมง ฝรั่งเศสสั่งการให้กองทัพฝรั่งเศสถอนกำลังทั้งหมด เนื่องจากไทยสั่งการรบเต็มกำลัง เรือดำน้ำของไทยกำลังเคลื่อนลำเข้าสู่สถานีรบ และกองทัพอากาศของไทยทิ้งระเบิดใส่เรือของฝรั่งเศส สร้างความเสียหายแก่ฝรั่งเศสเป็นวงกว้าง

เมื่อยุติการรบ เรือหลวงธนบุรี ถูก เรือหลวงช้าง ลากมาเกยตื้นที่บริเวณแหลมงอบ เรือหลวงธนบุรี มีไฟไหม้หลายจุด ทั้งทหารเรือและชาวบ้านในละแวกนั้นพยายามช่วยดับไฟ เพื่อไม่ให้ เรือหลวงธนบุรี เสียหายเพิ่ม แต่ก็ไม่ได้ผล จน เรือหลวงธนบุรี จมลงในที่สุด

เหตุการณ์นี้ ไทยสูญเสียเรือหลวงไปทั้งสิ้น 3 ลำ คือ เรือหลวงสงขลา เรือหลวงชลบุรี และเรือหลวงธนบุรี และเพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติของเหล่าทหารเรือที่ปกป้องอธิปไตยของไทย การรบครั้งนี้ถูกตั้งเป็นคำขวัญของ จ.ตราดดังปรากฏ

เมืองเกาะครึ่งร้อย พลอยแดงค่าล้ำ
ระกำแสนหวาน หลังอานหมาดี
ยุทธนาวีเกาะช้าง สุดทางบูรพา

กบฏแมนฮัตตัน หรือ กบฏ 29 มิถุนา

เกิดขึ้นในวันที่ 29 มิ.ย. 2494 เป็นเหตุการณ์ที่ทหารเรือกลุ่ม “ทหารกู้ชาติ” ไม่พอใจการทำงานของรัฐบาลในสมัยนั้น จึงจับ จอมพล. ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นตัวประกัน

เช้าวันที่ 29 มิ.ย.2494 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกฯ เป็นประธานในพิธีรับมอบเรือขุดสันดอนสัญชาติอเมริกัน ชื่อ "แมนฮัตตัน" ที่ท่าราชวรดิฐ ในจังหวะนั้นกลุ่มทหารกู้ชาติได้เข้าจับกุมตัว จอมพล ป. พิบูลสงคราม และนำไปกักขังไว้ใน เรือหลวงศรีอยุธยา ที่จอดรออยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา

หลังจากการเจรจาที่ไม่เป็นผลระหว่างกลุ่มกบฏและรัฐบาล เช้าตรู่วันที่ 30 มิ.ย.2494 จึงมีปฏิบัติการชิงตัว จอมพล ป. พิบูลสงคราม เกิดขึ้น

โดยกองทัพบกภายใต้การนำของ พล.ท. สฤษดิ์ ธนะรัชต์
กองทัพอากาศภายใต้การบัญชาของ พล.อ.อ. ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี
และกำลังตำรวจโดย พล.ต.ท. เผ่า ศรียานนท์

กองทัพอากาศส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดลง เรือหลวงศรีอยุธยา ซึ่งขณะนั้นมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกขังอยู่ในนั้น จนกระทั่ง เรือหลวงศรีอยุธยา เสียหายอย่างหนักและจมลงในที่สุด ทหารเรือตัดสินใจใส่เสื้อชูชีพให้ นายกฯ และพากระโดดลงน้ำ เพื่อหนีจากอันตราย ในที่สุดทั้ง 2 ฝ่ายเปิดการเจรจากันอีกครั้ง และกลุ่มทหารกู้ชาติได้ยอมส่งตัว นายกฯ กลับไป

การก่อกบฏครั้งนั้น สร้างเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย และนับเป็นเหตุการณ์สงครามกลางเมืองที่คนไทยฆ่าคนไทยด้วยกันเองมากที่สุดจนถึงปัจจุบัน ในขณะที่ทางกองทัพเรือก็ถูกย้ายฐานบัญชาการเรือรบไปอยู่ที่สัตหีบ และเปลี่ยนชื่อเป็น “กองเรือยุทธการ” และมีการปรับลดกำลังพลใหม่เนื่องจากถูกมองว่าเป็นกองกำลังที่เข้มแข็งมากเกินไป

ที่มา : Wikipedia 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง