เปิดใจ "ทีมกู้ภัย" กับภารกิจพาลูกเรือ "ร.ล.สุโขทัย" กลับบ้าน

ภูมิภาค
27 ธ.ค. 65
13:33
388
Logo Thai PBS
เปิดใจ "ทีมกู้ภัย" กับภารกิจพาลูกเรือ "ร.ล.สุโขทัย" กลับบ้าน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เปิดใจภารกิจ "ทีมกู้ภัยเครือสว่าง" กับภารกิจพาลูกเรือหลวงสุโขทัยกลับบ้าน ให้กำลังใจทุกครอบครัวไม่เจอผู้สูญหายครบ ไม่ถอนทีม

วันนี้ (27 ธ.ค.2565) นายเอกพนธ์ บูชาพันธ์ อาสาสมัครมูลนิธิสว่างรุ่งเรืองธรรมสถาน รหัสรุ่งเรือง 8 บอกกับไทยพีบีเอสออนไลน์ถึงภารกิจในการร่วมค้นหาลูกเรือหลวงสุโขทัยที่สูญหายว่า มูลนิธิฯ เข้ามาช่วยในภารกิจนี้เป็นวันที่ 9 แล้ว

นายเอกพนธ์ สะท้อนถึงความยากของภารกิจนี้ถ้าเทียบกับเหตุการณ์สึนามิเมื่อ 18 ปีก่อน การค้นหาค่อนข้างลำบาก เพราะเป็นช่วงที่ทะเลมีคลื่นลม การเข้าประชิดเป้าหมายจะลำบากในการนำร่างผู้เสียชีวิตขึ้นบนเรือหลวงที่เข้าไปช่วยกู้ศพ และการลำเลียงแต่ละร่างเข้ามาฝั่ง

 

ถือเป็นภารกิจครั้งใหญ่ครั้งที่ 2 จากเหตุการณ์สึนามิทางภาคใต้ในเครือสว่างฯได้ไปช่วยในภารกิจ ซึ่งเหตุการณ์สึนามิเมื่อ 18 ปีก่อนกับเรือหลวงอับปางครั้งนี้ต่างกัน เนื่องจากผู้สูญหายจากสึนามิมาเจอร่างได้ง่ายกว่า แต่มีร่างผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน แต่ลูกเรือหลวงสุโขทัยที่หายกลางทะเลเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร

สึนามิเห็นศพชัด กู้ภัยเข้าไปเก็บศพเพื่อพากลับบ้านได้ แต่เคสเรือหลวงสุโขทัยต้องรอคอย

เอกพนธ์ บอกว่า ภารกิจของกู้ภัยกว่า 300 ชีวิต ที่มาประจำการ 15 ทีมต้องอยู่เกาะติดภารกิจตลอด 24 ชม. โดยสลับสับเปลี่ยนกันผลัดละ 12 ชม.เมื่อแจ้งว่าพบร่างผู้เสียชีวิตจะขนส่งมาทางอากาศหรือทางเรือหลวงที่เข้าค้นหา

ทีมกู้ภัยจะเข้าไปสนับสนุนในการเคลื่อนย้ายผู้เสียชีวิตที่ต้องเข้าไปตั้งแต่เฮลิคอปเตอร์ หรือ เรือนำผู้เสียชีวิตมาถึงท่าเรือ เข้าไปแพ็กร่างและนำรถไปเคลื่อนย้ายนำศพมาที่มูลนิธิเพื่อมาพิสูจน์อัตลักษณ์ของผู้เสียชีวิตว่าเป็นใครเป็นลูกเรือของกองทัพเรือหรือไม่และนำไปส่งให้ญาติ

พี่น้องทีมกู้ภัยอาสาจากใจทำเพื่อคนที่รอคอย

กู้ภัยยังทำงานอย่างเต็มที่ ขอให้ญาติผู้เสียชีวิตหรือญาติผู้สูญหายยังมีความหวังว่า เราอาจจะเจอผู้รอดชีวิต แต่ถ้าไม่เจอผู้รอดชีวิตก็จะนำร่างขึ้นมาและให้ญาติได้นำไปบำเพ็ญกุศล จากนั้นจึงจะถอนทีม ตราบใดที่ยังค้นหาและเคลื่อนย้ายศพไม่ครบก็จะยังหาต่อไปให้ครบ

ในแต่ละวันกู้ภัยจึงต้องใช้ชีวิตในรถกู้ภัย ทั้งเป็นที่กินข้าว นอน รอคอยจึงเห็นภาพของกู้ภัยบางส่วนพักสายตาบนรถกู้ภัย ซึ่งเปรียบเสมือนห้องทำงานเคลื่อนที่อย่างไม่เหน็ดเหนื่อย

 

อาสาส่วนใหญ่จะนอนที่รถกู้ภัยและภารกิจนอกพื้นที่กินนอนด้วยกัน ทำให้ลูกทีมที่มาด้วยใจ มาด้วยใจเพื่อให้ญาติผู้เสียชีวิตมีความหวังและใหเขาอุ่นใจว่าเราไม่ทิ้ง

แบ่งทำงาน 2 ทีม 24 ชม.

ไม่ต่างกับ นายพลเสฏฐ์ เลาหกรรณวนิช เลขาประธาน หน่วยกู้ภัยมูลนิธิสว่างเบญจธรรม ที่บอกว่า เดินทางมาจาก จ.สมุทรสงคราม เพื่อมาช่วยในระบบโครงสร้าง ฐานข้อมูลภัยพิบัติของกองอำนวยการกู้ภัยสว่างฯ เพื่อเตรียมความให้มูลนิธิต่าง ๆ และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่จะเดินทางมาช่วยในภารกิจครั้งนี้ โดยจะช่วยให้การแบ่งหน้าที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

 

ทั้งนี้ ได้ประสานงานเครือข่ายมูลนิธิในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ชุมพร จ.สุราษฎร์ธานี ทุกวันในช่วงเช้าและค่ำ ในกรณีเคลื่อนย้ายเคสผู้เสียชีวิต มาที่มูลนิธิสว่างราษฎร์ศรัทธาธรรมสถาน

เป็นเคสใหญ่ระดับประเทศ รองจากสึนามิที่ได้ทำมา

พลเสฏฐ์ อธิบายการทำงานว่า ทางทีมกู้ภัยต้องสแตนบาย 24 ชม. และสับเปลี่ยนเจ้าหน้าที่วันละ 2 กะ คือ กะเช้า เวลา 08.00 - 20.00 น. และกะดึก 20.00 - 08.00 น.

โดยทางกองทัพเรือจะแจ้งกรณีพบผู้เสียชีวิต ก่อนหน้าการเคลื่อนย้ายประมาณ 1 ชม. โดยจะมีทีมแพ็ก 4 - 5 คน และทีมรถเคลื่อนย้าย 4 คน ต่อผู้เสียชีวิต 1 คน

กรณีที่แพ็ก 5-6 ศพ จะต้องใช้เจ้าหน้าที่กู้ภัย 30 คน การลงทะเบียนในช่วงเช้าจึงมีความสำคัญในการเตรียมทีม

ทุกคนทำเต็มที่ ถ้าไม่จบภารกิจเราไม่ถอนทีม จะอยู่กับญาติผู้เสียชีวิตจนจบภารกิจ

วันพรุ่งนี้ (28 ธ.ค.2565) จึงยังคงมีหวังสำหรับครอบครัวลูกเรือหลวงที่ยังสูญหายรอพากลับอ้อมกอดของครอบครัว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง