โซเชียลร่วมอาลัย "ภาคินัย" นักเขียนนิยายสยองขวัญชื่อดังเสียชีวิต

ศิลปะ-บันเทิง
19 มี.ค. 66
12:13
474
Logo Thai PBS
โซเชียลร่วมอาลัย "ภาคินัย" นักเขียนนิยายสยองขวัญชื่อดังเสียชีวิต
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
วงการนักเขียนและแฟนหนังสือร่วมไว้อาลัย "ภาคินัย" นักเขียนนวนิยายไทยแนวสยองขวัญชื่อดัง หลังมีการแจ้งข่าวบนโซเชียลถึงการจากไปของนักเขียนวัย 40 ปี ผู้ฝากผลงานไว้ทั้งบนหน้าหนังสือและหน้าจอโทรทัศน์

เมื่อวันที่ 18 มี.ค.2566 เฟซบุ๊ก Tongta Tungchuwong ของ ต้องตา ตั้งชูวงษ์ บรรณาธิการ ผู้ดูแลนายภาคินัย กสิรักษ์ นักเขียนนวนิยายไทยแนวสยองชื่อดัง โพสต์ข้อความระบุว่า "ขออนุญาตแจ้งข่าวเศร้านะคะ พี่ต้องตาได้รับมอบหมายจากคุณแม่ ให้มาแจ้งข่าวทุกคนทราบว่าตอนนี้แอมป์ ภาคินัย กสิรักษ์ ได้เสียชีวิตแล้วอย่างสงบ"

กราบขอบพระคุณทุกคนที่เป็นห่วงและให้กำลังใจน้องตลอดเวลาที่ผ่านมา ตอนนี้น้องแอมป์คนเก่งของพี่ต้องตา ไม่เจ็บ ไม่ป่วย ไม่ทรมานอีกต่อไปแล้วค่ะ

ทั้งนี้ ข้อมูลเบื้องต้น ครอบครัวจะจัดพิธีทางศาสนาที่วัดมกุฏกษัตริยาราม ศาลา 2 และรดน้ำศพในวันอังคารที่ 21 มี.ค. เวลา 16.00 น.
โดยงานพิธีฌาปนกิจมีกำหนดวันอาทิตย์ที่ 26 มี.ค.นี้

ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ต้องตา ตั้งชูวงษ์ เคยบอกเล่าเรื่องราวของ "ภาคินัย" ไว้ผ่านเฟซบุ๊กว่า เขาล้มหมดสติ และเข้าโรงพยาบาล แพทย์พยายามหาสาเหตุเพื่อวินิจฉัยอาการให้แน่ชัด โดยหลังจากนั้นประมาณ 5 วัน ภาคินัยก็ได้เข้ารับการผ่าตัดหัวใจ ซึ่งทีมแพทย์ดำเนินการผ่าตัดผ่านพ้นไปได้ด้วยดี หลังจากนั้นภาคินัยยังอยู่ในห้องไอซียูเพื่อพักฟื้นร่างกายทำให้ห่างหายจากหน้าเฟซบุ๊กไป

อย่างไรก็ตาม หลังมีข่าวการเสียชีวิตของนักเขียนดัง ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะแฟนหนังสือของภาคินัยต่างร่วมแสดงความอาลัยผ่านแฮชแท็ก #ภาคินัย จนติดเทรนด์ทวิตเตอร์ตั้งแต่ช่วงเช้า 

ขณะเดียวกันวงการนักเขียนก็ร่วมไว้อาลัยผ่านโซเชียล ทั้ง  "วรรธนวรรณ จันทรจนา" เจ้าของนามปากกา วรรณวรรธน์ หรือนักเขียนนิยายวัยรุ่น แสตมป์ เบอรี่ เช่นเดียวกับเฟซบุ๊กของ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ก็ได้ร่วมอาลัยต่อการจากไปของนักเขียนมากฝีมือคนนี้ด้วย

สำหรับ "ภาคินัย กสิรักษ์" นักเขียนนิยายแนวสยองขวัญชื่อดัง เจ้าของบทประพันธ์ชื่อดังอย่าง ปมรักรอยอดีต, นางชฎา, โรงมหรศพ, นางครวญ, นางแค้น, นางคุก, บ่วงสไบ, ชฎานาง, 9 คืนจองเวร และผลงานเด่นอีกมากมายที่ถูกนำไปสร้างเป็นละครบนโทรทัศน์ ครองใจนักอ่านมานานหลายสิบปี

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง