ภารกิจสุดหินกู้ "ไททัน" เมื่อแผนที่มหาสมุทรลึกลับกว่าแผนที่ดวงจันทร์

ต่างประเทศ
22 มิ.ย. 66
15:59
4,196
Logo Thai PBS
ภารกิจสุดหินกู้ "ไททัน" เมื่อแผนที่มหาสมุทรลึกลับกว่าแผนที่ดวงจันทร์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ขณะที่ทั่วโลกเฝ้ารอและลุ้น "ไททันกับลูกเรือทั้ง 5" ที่ดำน้ำไปสำรวจไททานิกและขาดการติดต่อกับเรือแม่ตั้งแต่เย็นวันอาทิตย์ที่ผ่านมา คำถามคือ "มหาสมุทร" นั้นยังคงน่าค้นหาและคุ้มค่าแก่การสำรวจหรือไม่ เมื่อ 300 กว่าปีที่ผ่านมา โลกทำแผนที่มหาสมุทรได้เพียง 20%

เรือดำน้ำ "ไททัน" พร้อมคนขับและผู้โดยสารรวมทั้งหมด 5 คน ที่หายไประหว่างการพาสำรวจซากเรือไททานิก ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งเคปคอด รัฐแมสซาชูเซตส์ประมาณ 1,450 กิโลเมตร (900 ไมล์) และลึกลงไปใต้น้ำประมาณ 3,800 เมตร (12,500 ฟุต) เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 มิ.ย.2566 ที่ผ่านมา

และขณะนี้ทีมค้นหาต้องแข่งกับเวลา เร่งเข้าช่วยเหลือ เพราะออกซิเจนที่อยู่ในเรือ คาดว่าจะหมดช่วงเวลา 17.00 น. ของวันที่ 22 มิ.ย.2566 (ตามเวลาประเทศไทย) 

ซากเรือไททานิก

ซากเรือไททานิก

ซากเรือไททานิก

มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ "ไททัน" ยากต่อการค้นหาและกู้คืน เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากการสำรวจพื้นมหาสมุทรทั้งหมดยังทำได้ยาก

การค้นหาในน้ำค่อนข้างยุ่งยาก เนื่องจากพื้นมหาสมุทรมีความขรุขระมากกว่าบนบก

ดร.เจมี พริงเกิล ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติธรณีศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยคีล ประเทศอังกฤษ กล่าวถึงสาเหตุที่ไททัน ไม่สามารถลอยสู่พื้นผิวน้ำได้ ทีมค้นหาและกู้ภัยต้องพึ่ง "โซนาร์" ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้คลื่นเสียงในการสำรวจความลึกและทึบแสงของมหาสมุทร และต้องใช้คลื่นเสียงที่มีความถี่สูงให้มากพอเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดให้ได้ว่า ไททัน อยู่ที่ไหน

การทำแผนที่มหาสมุทรคือเรื่องท้าทาย

ดร.ยีน เฟลด์แมน นักสมุทรศาสตร์กิตติมศักดิ์ องค์การนาซา ระบุว่า มนุษย์สำรวจความลึกมหาสมุทร "ได้ลึกเพียงเล็กน้อย" และเป็นส่วนมหาสมุทรตอนกลางวัน หรือส่วนที่แสงอาทิตย์ส่องถึง และมนุษย์มองเห็นด้วยตาเปล่าเพียงเท่านั้น

จึงทำให้การทำแผนที่มหาสมุทรนั้นยังมีจำนวนน้อยมาก และแม้มนุษย์จะชอบสิ่งที่เหนือกว่า ต้องการไปให้สูงที่สุด หรือลึกที่สุด และนานที่สุด

แต่เรามีแผนที่ดวงจันทร์และดาวอังคารที่ดีกว่าแผนที่โลกของเรา โดยเฉพาะมหาสมุทรที่เราแทบไม่รู้อะไรเลย

เฟลด์แมน ตั้งข้อสังเกตถึงขีดจำกัดการศึกษาทางทะเลและมหาสมุทรว่า ส่วนใหญ่มาจากต้นทุน เรือต้องติดตั้งเทคโนโลยีโซนาร์ ทำให้เพิ่มค่าใช้จ่ายสูงเกินไป แค่เชื้อเพลิงอย่างเดียวก็มีต้นทุนสูงถึงวันละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณวันละ 1,280,000 บาท)

สอดคล้องกับข้อมูลของ Ocean Census ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มบันทึกและค้นพบสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล ที่พยายามสร้างแผนที่พื้นมหาสมุทร "Seabed 2030" พบว่า ยังมีพื้นที่ว่างอีกขนาดใหญ่ที่ยังไม่ถูกสำรวจ

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า มีสิ่งมีชีวิตใต้ท้องมหาสมุทรมากถึง 2,200,000 ชนิด แต่ค้นพบเพียง 240,000 ชนิดเท่านั้น หรือเพียงร้อยละ 10 จากที่คาดการณ์

ท้องมหาสมุทร

ท้องมหาสมุทร

ท้องมหาสมุทร

ศ.อเล็กซ์ โรเจอร์ส นักนิเวศวิทยาทางทะเล ด้านชีววิทยาการอนุรักษ์แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ในสหราชอาณาจักร กล่าวถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสำรวจโลกใต้ทะเล เช่น การใช้หุ่นยนต์ การถ่ายภาพความละเอียดสูงใต้น้ำ การจัดลำดับ DNA ในน้ำทะเล ช่วยเร่งขีดความสามารถการค้นพบสิ่งมีชีวิตรูปแบบใหม่ๆ ภายใต้ท้องมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ได้

เรามีแผนที่พื้นผิวดวงจันทร์ที่ดีกว่าพื้นทะเล เพราะน้ำทะเลทึบแสงสำหรับเรดาร์ แต่ช่วง 150 ปีของการสำรวจสมุทรศาสตร์สมัยใหม่ เราเข้าใจได้มากขึ้น ในหลายแง่มุมของมหาสมุทร เช่น สิ่งมีชีวิต สารเคมี และบทบาทมหาสมุทรต่อโลก

การทำแผนที่มหาสมุทรช่วยให้เราเข้าใจว่า รูปร่างของก้นมหาสมุทรส่งผลต่อกระแสน้ำอย่างไร และสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรเกิดขึ้นได้อย่างไร โรเจอร์สกล่าวเสริม และมันยังช่วยให้เราเข้าใจอันตรายจากแผ่นดินไหว มันจึงเป็นศาสตร์พื้นฐานที่มีความสำคัญอย่างท่วมท้นต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์

แม้ว่าผู้คนจะสำรวจพื้นผิวมหาสมุทรมาหลายร้อยปี แต่มีเพียงประมาณร้อยละ 20 ของมหาสมุทรเท่านั้นที่ทำออกมาเป็นแผนที่ได้ ข้อมูลตามตัวเลขปี 2022 จาก National Oceanic and Atmospheric Administration นักวิจัยกล่าวว่าการเดินทางไปอวกาศนั้นง่ายกว่าการจมดิ่งลงสู่ก้นมหาสมุทร 

นักบินอวกาศ 12 คน ใช้เวลารวมกันทั้งหมด 300 ชั่วโมงบนพื้นผิวดวงจันทร์ แต่มีนักเดินเรือเพียง 3 คนเท่านั้นที่ใช้เวลาถึง 3 ชั่วโมงในการสำรวจ แชลเลนเจอร์ดีป ซึ่งเป็นจุดที่ลึกที่สุดของก้นทะเลโลก

ข้อมูลจาก Woods Hole Oceanographic Institution

นั่นเพราะมีเหตุผลบางประการที่ทำให้การสำรวจโลกใต้มหาสมุทรโดยมนุษย์มีข้อจำกัดมาก การเดินทางไปยังส่วนที่ลึกของมหาสมุทร หมายถึงการเข้าสู่ดินแดนที่มีแรงกดดันมหาศาล ยิ่งลงไปลึกเท่าไหร่ ยิ่งมีความเสี่ยงสูง ทั้งสภาพแวดล้อมที่มืดจนแทบมองไม่เห็น และอุณหภูมิที่หนาวเย็นจัด

ประวัติศาสตร์การสำรวจมหาสมุทร

เรือดำน้ำลำแรกสร้างโดยวิศวกรชาวดัตช์ คอร์เนลิส เดร็บเบล ในปี 1620 ต่อมาความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการสำรวจท้องทะเลของมนุษย์เกิดขึ้นในปี 1960 ด้วยการดำน้ำครั้งประวัติศาสตร์ของ "ตรีเอสต์" ไปยัง "แชลเลนเจอร์ดีป" ซึ่งอยู่ใต้น้ำกว่า 10,916 เมตร หรือ 35,800 ฟุต ซึ่งเป็นการเดินทางที่อันตรายและความเสี่ยงสูงต่อชีวิตผู้เดินทางมาก 

แชลเลนเจอร์ดีป จาก oceanexplorer.noaa.org

แชลเลนเจอร์ดีป จาก oceanexplorer.noaa.org

แชลเลนเจอร์ดีป จาก oceanexplorer.noaa.org

ทุกๆ ความลึก 10 เมตร (33 ฟุต) ของมหาสมุทร ความดันจะเพิ่มขึ้น 1 ชั้นบรรยากาศ ตามข้อมูลของ NOAA องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ บรรยากาศเป็นหน่วยวัดที่ 14.7 ปอนด์/ตารางนิ้ว

นั่นหมายความว่า การเดินทางไปยังแชลเลนเจอร์ดีป ทำให้เรือดำน้ำอยู่ภายใต้แรงดันที่ "เทียบเท่ากับเครื่องบินไอพ่นขนาดจัมโบ้ 50 ลำ" ความคิดเห็นจาก ดร.ยีน เฟลด์แมน

ด้วยแรงดันขนาดนั้น จะเกิดหายนะต่อโครงสร้างขนาดเล็กได้

แชลเลนเจอร์ดีป คือจุดที่ลึกที่สุดในมหาสมุทรของโลกเท่าที่มนุษย์รู้จัก โดยมีระดับความลึก 10,911 เมตร ตั้งอยู่ทางปลายด้านใต้สุดของร่องลึกมาเรียนา ใกล้กับหมู่เกาะมาเรียนา แชลเลนเจอร์ดีป มีลักษณะเป็นแอ่งขนาดเล็กที่ก้นของร่องลึกใต้มหาสมุทรรูปดวงจันทร์เสี้ยวขนาดใหญ่

การดำลงไปในแชลเลนเจอร์ดีปมีการจดบันทึกไว้เพียง 3 ครั้ง

  1. ดำสำรวจโดยยานสำรวจน้ำลึก "ตรีเอสต์" ในปี 1960 ซึ่งมีมนุษย์ลงไปด้วย
  2. ยานสำรวจใต้น้ำควบคุมจากระยะไกล "ไคโก" ในปี 1995 ไม่มีมนุษย์เดินทางไป วัดค่าความลึกได้ 10,902 เมตร
  3. "ยานเนเรซัส" ลงไปสำรวจ ในปี 2009 วัดค่าความลึกได้ 10,916 เมตร

ในเดือนมกราคม 2010 ซึ่งเป็นปีครบรอบ 50 ปีการดำสำรวจมหาสมุทรของ "ตรีเอสต์" มูลนิธิเอกซ์ไพรซ์ประกาศว่า จะให้รางวัล 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับยานพาหนะของเอกชนรายแรกที่สามารถดำลงไปถึงแชลเลนเจอร์ดีปตามรอยตรีเอสต์ แต่จนปัจจุบันก็ยังไม่มีใครได้รับเงินรางวัลจำนวนนั้น

ที่มา : CNN

อ่านข่าวเพิ่ม :

"ธรณ์" เผยภารกิจค้นหาและช่วยชีวิตลูกเรือ "ไททัน" ยิ่งกว่าปาฏิหาริย์

วิเคราะห์ : "เรือไททัน" ปลอดภัยแค่ไหน?

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง