ประจักษ์จับประเด็น : ลือหนัก 2 พรรคถอยคนละก้าว “วัน นอร์” นั่งประธานสภาฯ คนกลาง

การเมือง
3 ก.ค. 66
15:26
259
Logo Thai PBS
ประจักษ์จับประเด็น : ลือหนัก 2 พรรคถอยคนละก้าว “วัน นอร์” นั่งประธานสภาฯ คนกลาง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
จบ-ไม่จบ หรือถ้าจบ จะจบแบบไหน คือคำถามสำคัญที่คนทั้งประเทศรอคอย เพราะหากนับตั้งแต่การประชุมครั้งแรก 8 พรรคการเมือง เมื่อ 30 พฤษภาคม 66 ถึงวันนี้ (3 ก.ค.) ปาเข้าไป 34 วันแล้ว แต่ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นสารตั้งต้นการตั้งรัฐบาล ยังตกลงกันไม่ได้

เยื้อแล้วยื้ออีก พรรคเพื่อไทยอ้างต้องขอความเห็นชอบ จากทั้งกรรมการบริหารพรรค และที่ประชุม ส.ส.พรรคก่อน

ทั้งที่รู้ว่าเป็นเรื่องสำคัญ แต่กลับปล่อยให้ยืดเยื้อจนวันสุกดิบก่อนประชุมสภาฯ ทั้งที่หากคุยกันจริง ๆ ไม่กี่ชั่วโมงก็จบ เพราะเป็นเรื่องภายในและขึ้นอยู่กับเพียง 2 พรรคเท่านั้น

จึงมีคำถามง่ายๆ คือ คุยกันกันจริง ๆ เพื่อหวังเร่งรีบจัดตั้งรัฐบาล ตามที่ประชาชนต้องการจริงหรือเปล่า หรือเล่นเอาเถิดเจ้าล่อ ดึงเกมการเมืองเข้ามาเอี่ยว หวังให้บรรลุเป้าหมายของตนเอง

กับอีก 1 คำถาม หากวันนี้ (3 ก.ค.) ยังตกลงกันไม่ได้ หรือเสียง ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยที่จะยกตำแหน่งประธานสภาฯให้พรรคก้าวไกล แล้วจะทำอย่างไร จะคุยกันใหม่ ทั้งที่ไม่เหลือเวลาแล้ว หรือต้องฟรีโหวตในสภา หรือแยกย้าย เป็นจุดจบของขั้ว 8 พรรคการเมือง

เพราะคำถามง่ายๆ แต่ไม่มีคำตอบ ทำให้สอดคล้องกับกูรูทางการเมือง ทั้งคนวงในและนักวิชาการส่วนหนึ่ง ที่ฟันธงมาแต่ตั้งต้นว่าเป็นเกมการเมือง 8 พรรคตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะได้เป็นเพียงนายกฯ ทิพย์ เพราะในทางการเมือง จะให้มองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากต่างฝ่ายหรือบางฝ่ายมีวาระแอบแฝง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า พรรคเพื่อไทยตกเป็นเป้าถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด เพราะถูกมองว่ามีทางเลือกมากกว่า 1 ทาง คือ ไม่จำเป็นต้องไปต่อกับพรรคก้าวไกลก็ได้ หรือไปต่อแต่นี้ในฐานะพระอันดับ หรืออาจสลับไพ่ล้างขั้ว ไปดึงพรรคร่วมรัฐบาลเดิมมาสร้างสูตรใหม่

แนวทางเหล่านี้ สามารถเป็นไปได้ แม้นายพิธาจะพยายามปรามว่า อย่าสร้างประเด็นใหม่ แต่ไม่อาจปฏิเสธความเป็นไปได้

จึงเป็นที่มาของข่าวล่าสุดว่า นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ได้รับการสนับสนุนให้เป็นประธานสภาผู้แทนฯ เนื่องจาก 2 พรรคใหญ่ตกลงกันไม่ได้ แต่เพื่อรักษาความเป็นเอกภาพของ 8 พรรคการเมืองให้คงอยู่ และสกัดขั้วรัฐบาลเดิมจะส่งผู้สมัครชิงเก้าอี้ประธานสภาฯด้วย จึงเลือกจะถอยกันพรรคละ 1 ก้าว เปิดทางให้นายวันมูหะมัดนอร์ มารับตำแหน่งนี้แทน

นายวันมูหะมัดนอร์ เคยเป็นประธานสภาผู้แทนฯ และประธานรัฐสภามาแล้วครั้งหนึ่ง สมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ เป็นนายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้งปลายปี 2539 ครั้งนั้น สังกัดพรรคความหวังใหม่

และสามารถนำพา ส.ส.กลุ่มวาดะห์ ปักธง ส.ส.ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ได้หลายคน ยุคเดียวกันกับที่ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล ตท.12 เพื่อนร่วมรุ่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็น ส.ส.สงขลา ครั้งแรก ในสังกัดพรรคความหวังใหม่ เช่นกัน

นายวันมูหะมัดนอร์ เป็นคนที่นักการเมืองทั่วไปให้การนับถือ และยอมรับในการทำหน้าที่อย่างเป็นกลางและเป็นธรรม ทั้งยังเคยมีปรากฏในข่าวว่า ถูกทาบทามให้เป็นประธานสภาผู้แทนฯมาแล้วช่วงหนึ่ง หลังการรวมตัวของ 8 พรรคการเมืองเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

แต่ทั้งหมด จะเป็นจริงและเป็นทางการได้ ก็ต้องรอการแถลงข่าวร่วมกันของ 2 พรรคใหญ่ ค่ำวันที่ 3 ก.ค.66 เวลา 19.00 น.

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

"ธนกร" ไม่ติด หาก "วันนอร์" ได้ถูกเสนอชื่อชิง "ประธานสภาฯ"

ที่ประชุมพรรคเพื่อไทยได้ข้อสรุป "ปธ.สภาฯ" เชื่อประชาชนไม่ผิดหวัง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง