ผลงาน “กล้องฯ ฮับเบิล” ปี 2023 มีอะไรบ้าง ?

Logo Thai PBS
ผลงาน “กล้องฯ ฮับเบิล” ปี 2023 มีอะไรบ้าง ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ผลงานของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลจัดว่าเป็นรากฐานสำคัญของการศึกษาดาราศาสตร์ยุคใหม่ แม้จะมีกล้องโทรทรรศน์รุ่นใหม่มา แต่ผลงานของฮับเบิลในปี ค.ศ. 2023 ก็ยังคงสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับนักดาราศาสตร์

กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) ถือเป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่เก่าแก่ที่สุดซึ่งยังทำงานอยู่มาจนถึงปัจจุบัน และได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาจักรวาลแก่มนุษยชาติมานับไม่ถ้วน ในปัจจุบันกล้องฮับเบิลเน้นไปที่การสำรวจกาแล็กซีในช่วงคลื่นแสงที่มองเห็นได้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นวัตถุที่มีความสว่างสูง สามารถสำรวจได้ง่าย ต่างจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ที่สำรวจในช่วงคลื่นอินฟราเรดและมีความสามารถในการสำรวจวัตถุที่มีความสว่างน้อย และอยู่ไกลกว่า

ในบทความนี้ เราจะมาดูกันว่ากล้องฯ ฮับเบิลมีผลงานสำรวจกาแล็กซีอะไรแล้วบ้าง

กาแล็กซี UGC 11860 เป็นกาแล็กซีกังหัน คล้ายกับกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา อยู่ห่างออกไปจากโลกประมาณ 184 ล้านปีแสง ในกลุ่มดาวเพกาซัส ก่อนหน้านี้ นักดาราศาสตร์เคยตรวจพบการระเบิดซูเปอร์โนวาของดาวฤกษ์อย่างรุนแรงในกาแล็กซี UGC 11860 เมื่อปี ค.ศ. 2014 ซึ่งในขณะนั้น นักดาราศาสตร์ก็ได้ใช้กล้องฯ ฮับเบิล สำรวจซากที่เกิดจากการระเบิดนี้ เพื่อศึกษาการตายของดาวฤกษ์ผ่านการระเบิดเป็นซูเปอร์โนวา

กาแล็กซี ESO 174-1 เป็นกาแล็กซีที่มีรูปทรงไร้รูปร่าง อยู่ห่างออกไปจากโลกประมาณ 11 ล้านปีแสง ซึ่งถือได้ว่าเป็นเพื่อนบ้านของกาแล็กซีทางช้างเผือกที่เราอยู่ ตัวกาแล็กซีนี้ประกอบไปด้วยฝุ่นเมฆสีขาวปกคลุมไปทั่ว และมีกลุ่มก๊าซมืดรวมถึงฝุ่นจาง ๆ จำนวนหนึ่ง

ภาพของกาแล็กซี ESO 174-1 มาจากโครงการสำรวจกาแล็กซีเพื่อนบ้านของกล้องฮับเบิล ซึ่งมีเป้าหมายที่จะใช้เวลาที่เหลือจากการสำรวจหลักมาสำรวจกาแล็กซีเพื่อนบ้านในรัศมี 10 พาร์เซก หรือประมาณ 32 ล้านปีแสง เนื่องจากระหว่างการสำรวจแต่ละเป้าหมาย จะมีช่วงเวลาหนึ่งเสมอที่ตัวกล้องไม่ได้ใช้ทำอะไร แต่ค่อย ๆ หันไปหาเป้าหมายใหม่ วิศวกรจึงใช้ช่วงเวลาระหว่างที่กล้องฯ ฮับเบิลกำลังเตรียมหันไปสำรวจเป้าหมายใหม่ สำรวจกาแล็กซีเพื่อนบ้านไปด้วย เพื่อใช้เวลาการทำงานของกล้องให้คุ้มค่าที่สุด

กระจุกกาแล็กซี NGC 6544 อยู่ห่างออกไปจากโลกออกไปมากกว่า 8,000 ปีแสง ประกอบไปด้วยดาวฤกษ์หลายหมื่นดวง โดยที่ภาพนี้มาจากข้อมูลของกล้องสำรวจและกล้องมุมกว้างของกล้องฯ ฮับเบิล 2 ภาพ ประกอบกันเป็นภาพเดียว แต่ละภาพมีวัตถุประสงค์ต่างกัน ก่อนที่จะถูกนำมารวมกันเป็นภาพเดียว ภาพแรกนั้นใช้เพื่อค้นหาวัตถุพัลซาร์ ซึ่งเป็นซากดาวตายแล้วที่ยังหมุนรอบตัวเองอย่างรวดเร็วและปล่อยรังสีแม่เหล็กไฟฟ้าออกมาคล้ายกับประภาคาร ภาพที่สองนั้นใช้ในการตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของคลื่นเอกซเรย์เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของกระจุกกาแล็กซี NGC 6544 ตามกาลเวลา

กาแล็กซี NGC 7292 เป็นกาแล็กซีไร้รูปร่าง อยู่ห่างออกไปจากโลกประมาณ 44 ล้านปีแสง ในกลุ่มดาวเพกาซัส มันมีความสว่างน้อยจนไม่สามารถมองเห็นผ่านกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นโลกได้ ซึ่งหมายความว่ากาแล็กซีนั้นมีจำนวนดาวฤกษ์น้อย แต่อาจมีฝุ่นก๊าซ หรือสสารมืดมาก

ในปี ค.ศ. 1964 นักดาราศาสตร์ตรวจพบการระเบิดซูเปอร์โนวาของดาวฤกษ์ในกาแล็กซี NGC 7292 เรียกว่า “SN 1964H” ซึ่งโครงการสำรวจกาแล็กซีเพื่อนบ้านในภาพก่อนหน้านี้ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถคาดการณ์มวลของดาวที่นำไปสู่การเกิดระเบิดซูเปอร์โนวา SN1964H ได้

ที่มาข้อมูล: NASA
ที่มาภาพ: NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง