bully busters และ ไอคิโด้ กลไกป้องกันความรุนแรงในโรงเรียนสันผักหวาน

ภูมิภาค
22 ก.ค. 66
17:51
402
Logo Thai PBS
bully busters และ ไอคิโด้ กลไกป้องกันความรุนแรงในโรงเรียนสันผักหวาน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน ก่อตัวขึ้นได้จากจุดเล็กๆ เช่น การแกล้งกัน หรือ กล่าวร้ายกัน กลไกการป้องกันจึงเป็นสำคัญที่ทุกโรงเรียนควรต้องมี

โรงเรียนสันผักหวาน อ.หางดง จ.เชียงใหม่ เป็นตัวอย่างการขับเคลื่อนแก้ปัญหาการบูลลี่ และทำร้ายกัน ด้วยการนำศิลปะป้องกันตัว ไอคิโด้ มาเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร เพื่อลดการใช้ความรุนแรง และให้เด็กรู้วิธีการป้องกันตัวเอง รวมทั้งการตั้งอาสาสมัครป้องกันการรังแกกันในโรงเรียน หรือ bully busters ช่วยครูสอดส่องเพื่อนนักเรียน เพื่อระงับเหตุความขัดแย้งก่อนจะบานปลาย

เข็มกลัด bully busters คือ สัญลักษณ์ของอาสาสมัครป้องกันการรังแกกันในโรงเรียนสันผักหวาน เพื่อทำหน้าที่คอยดูแลเพื่อนๆ น้องๆ ที่กำลังทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าเรียน หรือ เล่น ไม่ให้เกิดความเสี่ยงที่ก่อความรุนแรงขึ้น

ด.ญ.เมียะอู่ หนึ่งใน bully busters เล่าว่า bully busters จะคอยช่วยเหลือคนที่ถูกรังแก หรือ ให้คำปรึกษา คนที่ถูกรังแกให้คิดในเชิงบวก เมื่อมีความขัดแย้งลุกลามก็จะพยายามช่วยแก้ปัญหา แต่หากไม่ได้ผลก็จะแจ้งครูให้เข้าระงับเหตุ

ครูในโรงเรียนมีแค่ประมาณ 10 ท่าน แต่นักเรียนมี 200 กว่าคน เมื่อนักเรียนเยอะ จึงมักเกิดการบูลลี่ ทางวาจา ทางร่างกาย แล้วก็ทางอินเทอร์เน็ต

สุทธิชัย อัมโรสถ ผอ.ร.ร.บ้านสันผักหวาน บอกว่า ระบบการป้องกันการรังแกกัน ทางโรงเรียนได้ร่วมขับเคลื่อนกับมูลนิธิศานติวัฒนธรรม โดยดำเนินการควบคู่กับระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของ สพฐ. ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน คือ 1.การรู้จักนักเรียนรายบุคคล 2.การคัดกรอง คัดนักเรียนที่มีแนวโน้มว่าจะมีปัญหา 3.กิจกรรมส่งเสริม 4.กิจกรรมป้องกัน และ แก้ไขปัญหา และ 5.คือ การส่งต่อ เป็นขั้นตอนสุดท้าย

สิ่งสำคัญคือ การสร้างความเข้าใจในเรื่องการบูลลี่ว่าการใช้ลักษณะคำพูดแบบไหน หรือ กิริยามารยาทแบบไหน ซึ่งถือว่าเป็นการบูลลี่ เพราะบางครั้ง นักเรียน มองว่าสิ่งที่ทำเป็นเรื่องปกติ เช่น การเย้าแหย่ เพื่อความสนุกสนาน แต่คนที่ถูกกระทำ เขาไม่ได้รู้สึกดีด้วย

นอกจากการตั้งกลุ่ม bully busters เป็นกลไกป้องกันการรังแกกันแล้ว เด็กนักเรียนหลายคนยังมีโอกาสได้เรียนรู้ศิลปะป้องกันตัว ไอคิโด้ เพื่อนำไปใช้ในการป้องกันตัวเอง

นฤมล ธรรมพฤกษา ผู้ฝึกสอนอาคิโด บอกว่า ไอคิโด คือ ศิลปะป้องกันตัวเพื่อสันติภาพจากประเทศญี่ปุ่น เป็นการต่อสู่ที่หลีกเลี่ยงการปะทะ แต่เน้นการรับแรง เหนี่ยวนำแรง และ สลายแรง หลักการสำคัญ คือ การไม่ทำร้ายกัน และ หาทางแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติวิธี

การฝึก จะผลัดกันเป็นฝ่ายรุก อีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายรับ ฉะนั้นจะไม่มีผู้แพ้ ผู้ชนะ และ ครึ่งหนึ่งของการฝึกไอคิโด คือ การล้มเราต้องล้มให้เก่ง ล้มให้เป็น หากเราล้มได้ดี เพื่อนเราก็จะทำท่าได้สวยด้วย และ การล้ม ไม่ใช่ความน่าอาย ไม่ใช่การพ่ายแพ้ แต่คือการฝึกที่จะลุกกลับขึ้นมาอีกครั้ง ยิ่งล้มบ่อย ยิ่งเก่ง การล้มก็จะปลอดภัย

หลักคิดของไอคิโด นำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตได้ เช่น การทะเลาะกัน หากเราสวนกลับทันที ก็จะเถียงกันไป-มาไม่จบ แต่ถ้ารู้จักฟัง ให้เขาระบายออกมา และรับฟังอย่างตั้งใจ เราจะเห็นโลกในทางเดียวกันกับเขา และ เข้าใจว่าเหตุใดเขาจึงโมโห หลังจากนั้น จึงค่อยเสนอแนะวิธีแก้ไขอื่นๆแทน

กว่า 3 ปี ที่โรงเรียนบ้านสันผักหวาน ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน ไม่เพียงมาปรับใช้ในกลุ่มนักเรียน และ ครู แต่ยังให้ความรู้แก่ผู้ปกครอง และ ครอบครัวของนักเรียน ส่งผลให้ระบบป้องกัน และ แก้ปัญหามีความเข้มแข็ง และ ทำให้ความรุนแรงในโรงเรียนลดน้อยลงเรื่อยๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง