อาจารย์นิติศาสตร์ 19 สถาบัน ร้องยกเลิกมติ "ข้อบังคับ" ใหญ่กว่า "รธน."

การเมือง
24 ก.ค. 66
15:10
1,710
Logo Thai PBS
อาจารย์นิติศาสตร์ 19 สถาบัน ร้องยกเลิกมติ "ข้อบังคับ" ใหญ่กว่า "รธน."
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
คณาจารย์นิติศาสตร์ 19 สถาบันร่อนแถลงการณ์ ค้านมติรัฐสภายกเลิกมติให้ข้อบังคับ 41ประชุมรัฐสภาใหญ่กว่ารธน.ชี้กระทบสอนลำดับชั้นกฎหมาย

วันที่ ( 24 ก.ค.66 ) คณาจารย์นิติศาสตร์จาก 19 สถาบัน 115 รายชื่อ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ,คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์,คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ,สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงฯลฯ ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับการลงมติของรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 ก.ค.2566 ที่ผ่านมา

อ่านข่าว ผู้ตรวจฯ ถกพิจารณาคำร้องส่งศาล รธน. ตีความปมเสนอชื่อ "พิธา" ซ้ำ  

ในการตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ให้ “การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี” ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 159 เป็น “ญัตติ” ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 ซึ่งกำหนดว่า “ญัตติใดตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน” การเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่สองจึงทำไม่ได้ โดยระบุว่า มตินี้ไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมายใน 5 ประเด็น คือ

1. “ญัตติ” ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ 41 นั้น หมายถึง “ญัตติ” ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมรัฐสภาเท่านั้น ซึ่งข้อ 29 กำหนดว่า “ญัตติทั้งหลายต้องเสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือต่อประธานรัฐสภา และต้องมีสมาชิกรัฐสภารับรองไม่น้อยกว่า 10 คน” ดังนั้น “ญัตติ” ที่ตกไปแล้วที่เสนอซ้ำไม่ได้จึงหมายถึง “ญัตติ” ตามข้อ 29 ที่ต้องการ ส.ส.รับรองเพียง 10 คน เท่านั้น

อ่านข่าว โหวตนายกฯ รอบ 2 : ถก 7 ชั่วโมง โหวตซ้ำ "พิธา" นายกฯ รอบ 2 ไม่ได้ 

เหตุผลที่ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 ให้เสนอ “ญัตติ” ซ้ำไม่ได้ เพราะ “ญัตติ” ใช้เสียง ส.ส.สนับสนุนเพียง 10 คนเท่านั้น ถ้าเสนอซ้ำๆ ได้ แม้จะตกไปแล้ว จะทำให้มีญัตติซ้ำ ๆ มากเกินไป ซึ่งชอบด้วยเหตุผลที่ควรจะเสนอได้เพียงครั้งเดียวในสมัยประชุมหนึ่ง ๆ

ส่วนการเสนอชื่อนายกฯนั้น เป็นเรื่องที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นการเฉพาะ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 159 วรรคสอง บัญญัติว่า “ต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร” ซึ่งก็คือ 50 คน ไม่ใช่ต้องการ ส.ส.รับรองแค่ 10 คนดังเช่นการเสนอ “ญัตติ” ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 29 ดังนั้น การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจึงไม่ใช่ “ญัตติ” ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41

อ่านข่าว "บวรศักดิ์" แนะยื่นศาลรธน.วินิจฉัยมติรัฐสภาฯห้ามเสนอชื่อซ้ำขัด รธน.หรือไม่ 

2.ที่สำคัญคือรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 และมาตรา 272 ไม่ได้บัญญัติไว้แต่ประการใดว่าการเสนอชื่อนายกฯคนเดิมจะกระทำไม่ได้ ส่วนควรจะเสนอคนเดิมหรือไม่หรือจะเสนอกี่ครั้งเป็นอีกเรื่องหนึ่ง การที่รัฐสภาลงมติให้เสนอชื่อนายกฯคนเดิมได้เพียงครั้งเดียว เป็นการเอาข้อบังคับการประชุมรัฐสภามาอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่อาจที่จะกระทำได้

3.ตามลำดับชั้นของกฎหมายนั้น รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด กฎหมายในลำดับต่ำกว่าไม่ว่าจะเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติซึ่งออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติ กฎหมายลำดับรองที่ออกโดยฝ่ายบริหาร รวมถึงข้อบังคับการประชุมรัฐสภาซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ในการประชุมของรัฐสภาและใช้กับรัฐสภาเท่านั้น ต้องไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หาไม่แล้วย่อมใช้บังคับมิได้

อ่านข่าว "นักวิชาการ" เห็นพ้อง "รัฐธรรมนูญ" ใหญ่กว่า "ข้อบังคับ" 

ดังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 5 ว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้” ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาจึงจะอยู่เหนือกว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้

4.ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 ขัด หรือ แย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่เป็นปัญหาเรื่องรัฐสภาการตีความข้อบังคับของตนเองโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญ แม้รัฐสภาจะสามารถตีความข้อบังคับของตนเองได้ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 151 แต่ต้องเป็นการตีความข้อบังคับโดยไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะข้อบังคับการประชุมรัฐสภาอยู่ในลำดับชั้นกฎหมายที่ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ และแท้ที่จริงแล้วมติของรัฐสภาที่ตีความว่า การเสนอชื่อนายกฯ ตามมาตรา 159 และมาตรา 272 อยู่ในบังคับของข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 นั้นเป็นการ “ตีความรัฐธรรมนูญ” ว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 159 และมาตรา 272 อยู่ใต้ข้อบังคับของรัฐสภา ซึ่งรัฐสภาหาได้มีอำนาจที่จะทำเช่นนั้นไม่

อ่านข่าว "วันนอร์" แจงยิบยึดมติรัฐสภา ยันเป็นกลางไม่สนทัวร์ลง 

5. ผลของการลงมตินี้ไม่ใช่แค่เรื่องของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล แต่คือ บรรทัดฐานที่ผิดพลาดของรัฐสภาในการพิจารณาญัตติที่เป็นกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ ที่จากนี้ไปจะเสนอได้ครั้งเดียวทั้งหมด โดยไม่สนใจเรื่องลำดับชั้นของกฎหมาย และที่สำคัญที่สุด คือ บรรทัดฐานที่เสียงข้างมากของรัฐสภาสามารถตีความข้อบังคับการประชุมของตนเองให้ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดได้

อ่านข่าว โหวตนายกฯ รอบ 2 : ข้อบังคับที่ 41 คืออะไร หลัง สว.งัดปิดทางโหวต "พิธา" 

คณาจารย์นิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวม 115 รายชื่อ เห็นว่า มติของรัฐสภาในวันที่ 19 ก.ค.2566 ที่ให้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ เป็นการเอาการเมืองมาอยู่เหนือหลักกฎหมาย และขัดต่อรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด 

จึงขอเรียกร้องให้รัฐสภายกเลิกมตินี้ หาไม่แล้วการเรียนการสอนนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในเรื่องลำดับชั้นของกฎหมาย และหลักการปกครองโดยกฎหมายที่มีหลักรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ยากที่จะดำเนินโดยปกติในประเทศไทยต่อไปได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง