เปิดใช้แล้ว "ทางเดินไบโอเมตริกซ์" ที่สถานีรถไฟในลอนดอน แห่งแรกในโลก

Logo Thai PBS
เปิดใช้แล้ว "ทางเดินไบโอเมตริกซ์" ที่สถานีรถไฟในลอนดอน แห่งแรกในโลก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
บริษัทเทคโนโลยีของอังกฤษได้เปิดตัวทางเดินไบโอเมตริกซ์ (Biometrics) แบบไร้สัมผัสแห่งแรกสำหรับผู้โดยสารที่เดินทางผ่านสถานีรถไฟในลอนดอน เพื่อการข้ามพรมแดนอัตโนมัติแบบไร้รอยต่อ

"ไบโอเมตริกซ์" (Biometrics) คือ เทคโนโลยีสำหรับยืนยันตัวบุคคล โดยผสมผสานเทคโนโลยีทางด้านชีวภาพและทางการแพทย์ กับเทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกัน โดยการตรวจวัดลักษณะทางกายภาพและลักษณะทางพฤติกรรม ที่เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละคนมาใช้ในการระบุตัวบุคคลนั้น ๆ ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ

บริษัทเทคโนโลยีของอังกฤษได้นำนวัตกรรมไบโอเมตริกซ์ (Biometrics) มาใช้งานในรูปแบบของ “ทางเดิน” แบบไร้สัมผัส ซึ่งเปิดใช้งานเต็มรูปแบบแห่งแรกที่สถานีรถไฟในลอนดอน โดยทางเดินแบบพิเศษนี้ถูกออกแบบมาเพื่อทดแทนการตรวจสอบการข้ามพรมแดนแบบเดิมที่ต้องแตะบัตร โชว์ตั๋ว หรือโชว์เอกสารต่าง ๆ ทางเดินไบโอเมตริกซ์ (Biometrics) จะช่วยให้ผู้โดยสารประหยัดเวลาขึ้น สามารถเดินผ่านทางเดินข้ามพรมแดนได้เลยโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการจดจำใบหน้าเพื่อระบุตัวนักท่องเที่ยว

ก่อนออกเดินทางผู้โดยสารจะต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันยืนยันตัวตน สแกนใบหน้า และเชื่อมโยงตั๋วเข้ากับระบบ เมื่อมาถึงสถานีรถไฟก็จะสามารถเดินผ่านช่องทางพิเศษซึ่งจะตรวจสอบและระบุตัวตนของผู้โดยสาร นวัตกรรมนี้ช่วยประหยัดเวลาในการดำเนินการของผู้โดยสารและป้องกันการแออัดจากการต่อคิวโดยไม่จำเป็น

ทางเดินไบโอเมตริกซ์ (Biometrics) สงวนสำหรับผู้โดยสารชั้นธุรกิจที่จะได้รับสิทธิ์เข้าถึงการคัดกรองใบหน้าด้วยอย่างรวดเร็วก่อนใคร และถึงแม้ว่าระบบนี้จะช่วยให้ผู้โดยสารสามารถข้ามจุดตรวจตั๋วและผ่านการควบคุมชายแดนของสหราชอาณาจักรได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องใช้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ แต่ผู้โดยสารยังคงต้องพกพาหนังสือเดินทางอยู่ตามข้อบังคับในการควบคุมชายแดน

การเปิดใช้งานทางเดินแบบใหม่ในลอนดอนครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีไบโอเมตริกซ์ (Biometrics) สามารถนำมาใช้เพื่อจัดการการควบคุมชายแดนอย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัดเวลาขึ้น สถานีรถไฟแออัดน้อยลง และยังมีแนวโน้มที่จะขยายการใช้งานในวงกว้างไปยังสถานีอื่น ๆ รวมถึงพันธมิตรในการควบคุมชายแดนต่อไป

ที่มาข้อมูล: thenextweb, identityweek, biometricupdate
ที่มาภาพ: iproov
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง