ทักษิณกลับไทย : ส่องเครื่องบินส่วนตัว "พาทักษิณกลับบ้าน"

การเมือง
22 ส.ค. 66
09:19
38,381
Logo Thai PBS
ทักษิณกลับไทย : ส่องเครื่องบินส่วนตัว "พาทักษิณกลับบ้าน"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ทักกี้ แอร์ไลน์" คือ Private Jet ลำแรกของ "ทักษิณ ชินวัตร" ที่เดินทางไปจอดที่นิการากัวในฐานะทูตกิตติมศักดิ์ ต่อมาเมื่อได้พาสปอร์ตของ UAE ช่วงเวลาเดียวกับการถูกถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณก็ถอยลำใหม่ G650-ER ซึ่งคาดว่าจะเป็นลำที่พาเขากลับบ้านในวันที่ 10 ส.ค.นี้

ตามคำยืนยันของ อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวคนสุดท้องที่อวยพรคุณพ่อในวันคล้ายวันเกิดปีที่ 74 "ทักษิณ ชินวัตร" ที่จะเดินทางกลับไทยในวันที่ 10 ส.ค.2566 ด้วยเครื่องบินส่วนตัวแลนด์ดิ้งที่สนามบินดอนเมือง

ไทยพีบีเอสออนไลน์รวบรวมข้อมูลของเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวที่คาดว่าจะเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของครอบครัวชินวัตรเอาไว้ทั้งหมด 2 ลำ

GLOBAL EXPRESS ทักกี้ แอร์ไลน์

อ้างอิงจากหนังสือ "ทักษิณ Are you ok? การเมือง ความแค้น ความรัก" ตีพิมพ์ในปี 2552 โดย ร.ท.หญิง สุณิศา เลิศภควัต หรือ หมวดเจี๊ยบ เขียนเล่าเรื่องราวความหรูหราบนเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศในขณะนั้น) อดีตนายกฯ

ทักษิณบนเครื่องบินส่วนตัว

ทักษิณบนเครื่องบินส่วนตัว

ทักษิณบนเครื่องบินส่วนตัว "ทักกี้ แอร์ไลน์"

เครื่องบินส่วนตัวลำนี้ เพื่อนสนิทคนเดิมที่ชื่อ ชาญชัย (รวยรุ่งเรือง หรือ เหยียน ปิน) ที่ดูแลเขามาตลอดหลังการปฏิวัติ โดยให้ที่พักพิง ให้คำปรึกษาในเวลาที่ท้อแท้ พ.ต.ท.ทักษิณ บอกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เขาได้รู้ซึ้งว่าใครคือเพื่อนแท้ยามยาก

เงินร้อยล้านสองร้อยล้าน กลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไปแล้ว
เมื่อเทียบกับคำว่าเพื่อน

เครื่องบินส่วนตัวที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้เป็นพาหนะเดินทางไปนิการากัวครั้งนี้ เป็นเครื่องบินเจ็ต รุ่น GLOBAL EXPRESS สีขาว ราคา 1,500 ล้านบาท มีเลขทะเบียนเป็นเบอร์ตองแปด ด้วยตัวอักษรขนาดใหญ่ตรงหางเครื่องบิน ซึ่งฉันขอเรียกว่า "ทักกี้ แอร์ไลน์"

ร.ท.หญิง สุณิศา เลิศภควัต ผู้เขียนที่ระบุว่า เป็นนักข่าวไทยคนแรกที่ได้สัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ หลังเหตุการณ์ 19 ก.ย.2549 ได้เขียนไว้

อ่าน : 

“ทักษิณ”กลับ-ดีลตั้งรัฐบาลจบ

“ทักษิณ” กลับไทยเรื่อง “ได้” มากกว่า “เสีย”

"ทักษิณ" คืนกลับแผ่นดินเกิดในรอบ 17 ปี

Gulf stream G650-ER

ต่อมาในปี 2558 สื่อสังคมออนไลน์อ้างอิงแหล่งข่าวใกล้ชิด แชร์ข่าวเครื่องบินเจ็ทลำใหม่ที่นายทักษิณซื้อเพื่อทดแทน Global Express ทักกี้ แอร์ไลน์ ลำเก่า นั่นคือ Gulf stream รุ่น G650-ER สนนราคาเริ่มต้นที่ 65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,200 ล้านบาท (ราคา ณ ปี 2566)

ทักษิณ ขณะอยู่บนเครื่องบินส่วนตัวลำใหม่ล่าสุด

ทักษิณ ขณะอยู่บนเครื่องบินส่วนตัวลำใหม่ล่าสุด

ทักษิณ ขณะอยู่บนเครื่องบินส่วนตัวลำใหม่ล่าสุด

เครื่องบินเจ็ทรุ่นนี้ เป็นรุ่นที่มหาเศรษฐี นักธุรกิจ ผู้บริหารระดับสูงนิยมซื้อไว้เป็นพาหนะส่วนตัว อาทิ นายวิชัย ศรีวัฒนประภา อดีตเจ้าของกลุ่มกิจการ คิง เพาเวอร์ และประธานสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ กับบุคคลในธุรกิจเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นต้น 

อ่าน : "ทักษิณ" ขอบคุณ "เสก โลโซ" ร้องเพลง นานเท่าไหร่ก็รอ

10 เหตุผลของ G650-ER ที่ดึงดูดเงินมหาเศรษฐี

  1. บินได้เร็วเกือบเท่าความเร็วเสียง โดยที่ความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 1140 กม./ชม. ทำให้ประหยัดเวลาเดินทางได้ดี
  2. บินได้ระยะทางไกลถึง 9,600-13,800 กม. ยกตัวอย่าง สามารถบินตรงจากกรุงเทพฯ ถึง ลอสแองเจลลิส ได้ โดยไม่ต้องแวะเติมน้ำมัน 
  3. เพดานบินสูงถึง 51,000 ฟุต เหนือระดับน้ำทะเล นั่นคือ ยิ่งบินสูง ยิ่งนิ่ม และประหยัดน้ำมันอีกด้วย
  4. ประหยัดพื้นที่รันเวย์ในการนำเครื่องขึ้น-ลง
  5. มีเครื่องควบคุมความดังเสียงให้ต่ำกว่า 50 เดซิเบล ทำให้ห้องโดยสารเงียบ
  6. มีเครื่องปรับความกดอากาศภายในห้องโดยสาร ให้อยู่ที่ระดับ 3,000-4,850 ฟุต ช่วยให้ผู้โดยสาร อ่อนเพลียจากการเดินทางน้อยกว่าการโดยสารด้วยเครื่องบินพาณิชย์
  7. มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ทั้งห้องนอก ห้องน้ำ ครัว รองรับผู้โดยสารสูงสุด 19 คน 
  8. ห้องโดยสารกว้างและสูงเกือบ 2 เมตร สะดวกต่อการเดินไปมาให้ห้องโดยสารโดยไม่ต้องก้มศีรษะ
  9. ได้รับการยอมรับจากวงการการบิน ทั้งเรื่องเป็นที่ต้องการในตลาดสูง ขายต่อมือสองได้ราคาดี คิวการรับเครื่องต้องรอนานเป็นปี
  10. เป็นเครื่องบินที่มีความปลอดภัยสูงมาก

ซื้อแล้วต้องจ่ายอีก

ถ้าคิดว่ามีเงินราว 2,000 ล้านบาท แล้วซื้อเครื่องบินเจ็ทลำหนึ่ง มานั่งบินโฉบไปมา แล้วก็จบนั้น ความจริงคือไม่จบ บริษัท เมจิค ลากูน เจ้าของเว็บไซต์ compareprivateplanes ของสหราชอาณาจักร ระบุว่า

ราคา 2,000 ล้านบาทนี้ คือราคาของตัวเครื่องบินเท่านั้นและไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น ซึ่งก็คือหลักการเดียวกันกับการซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือ พาหนะอื่นๆ

ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะตามมาตลอดอายุการใช้งาน แบ่งเป็น 2 ประเภทที่ต้องพิจารณา (หากอยากจะมีไว้ในครอบครองสักลำ)

  1. ต้นทุนคงที่ ได้แก่ เงินเดือนของลูกเรือประจำเครื่อง (นักบินและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน), การฝึกอบรมของลูกเรือ, โรงเก็บเครื่องบิน, ประกันภัย, เบ็ดเตล็ดคงที่ รวมแล้วกว่า 773,810 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี (27 ล้านบาท/ปี)
  2. ต้นทุนผันแปร ได้แก่ ค่าน้ำมัน, ค่าซ่อมบำรุง, ค่ายกเครื่องยนต์, ค่าธรรมเนียมการจอดจากสนามบิน, ค่าเบ็ดเสร็จผันแปรอื่นๆ รวมแล้วกว่า 826,200 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี (28 ล้านบาท/ปี)

รวมแล้วนอกจากค่าตัวเครื่องบินเปล่าๆ 2,200 ล้านบาท ต้องรวมค่าใช้จ่ายต่อปีอีกกว่า 55 ล้านบาท และต้องจ่ายไปอีกจนกว่าจะขายเครื่องบินส่วนตัวไป

อ่าน : ผู้ตรวจการฯ ย้ำสอบมติรัฐสภาครบองค์ประกอบ ยันใช้อำนาจเป็นกลาง

ใครบ้างที่มี Private Jet

ข้อมูลจากนิตยสาร Forbes Thailand ปี 2561 ระบุว่า ผู้ครอบครองไพรเวทเจ็ทในไทยส่วนหนึ่งนั้นสอดคล้องกับรายชื่อทำเนียบอภิมหาเศรษฐีไทยที่จัดอันดับโดย Forbes อาทิ

  • ตระกูลเจียรวนนท์ รายงานข่าวเปิดเผยว่า มีเครื่องบินส่วนตัวอยู่ในครอบครองมากที่สุดด้วยจำนวน 7 ลำ
  • วิชัย ศรีวัฒนประภา อดีตนายใหญ่แห่ง คิง เพาเวอร์ ผู้ล่วงลับ เคยครอบครองเครื่องบินส่วนตัว 5 ลำ
  • William Heinecke และครอบครัว Shah ภายใต้บริษัท Mjets ทั้ง 2 ร่วมกันถือหุ้น มีฝูงเครื่องบินส่วนตัว 5 ลำเช่นกัน
  • อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นเจ้าของไพรเวทเจ็ท 2 ลำ

นอกจากนี้ Forbes Thailand ยังระบุว่า ตระกูลอยู่วิทยาแห่งค่ายกระทิงแดง, นายเปรมชัย กรรณสูต ซีอีโอ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา ครอบครองเครื่องบินส่วนตัวอย่างน้อย 1 ลำ

แต่ยังมีข้อมูลเชิงลึก พบว่าเศรษฐีไทยหลายคน เลือกที่จะจดทะเบียนเครื่องบินส่วนตัวไว้ที่ประเทศอื่น ทำให้ข้อมูลการครอบครองไพรเวทเจ็ทในไทย ไม่เป็นที่เปิดเผยมากนัก เช่น ไม่มีการยืนยันว่า นายเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าสัวใหญ่ แห่งค่ายไทยเบฟเวอเรจ มีไว้ในครอบครองหรือไม่

รวมถึง นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ผู้บริหาร Gulf อีกท่านหนึ่ง ที่ปฏิเสธที่จะยืนยันข่าวนี้ แม้จะมีข่าวว่าได้ใช้ G650 บินไปเซ็นปิดดีลร่วมทุนสร้างโรงไฟฟ้ามูลค่า 483 ล้านเหรียญที่โอมาน

ที่มา : Compareprivateplanes, Forbes Thailand

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง