จับกระแสการเมือง : วันที่ 15 ส.ค.2566 “คราฟต์เบียร์” สงครามน้ำลาย สงครามน้ำเมา

การเมือง
15 ส.ค. 66
17:46
866
Logo Thai PBS
จับกระแสการเมือง : วันที่ 15 ส.ค.2566 “คราฟต์เบียร์” สงครามน้ำลาย สงครามน้ำเมา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

กลายเป็นประเด็นเดือด “แอลกอฮอล์” ลามถึงกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อ พลพีร์ สุวรรณฉวี ส.ส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย ออกมาระบุกรณี “หมออ๋อง” ปดิพัทธ์ สันติภาดา สส.พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานสภาคที่ 1 โพสต์รูปตัวเองถ่ายคู่กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยี่ห้อหนึ่งเผยแพร่ทางเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุตอนหนึ่งว่า

“...พฤติกรรมที่กำลังเป็นดรามา เหมาะสมอย่างยิ่งที่ สสส. จะเข้าไปตรวจสอบ และใช้โอกาสที่สังคมกำลังให้ความสนใจให้เป็นประโยชน์ ชี้แจงโทษ ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่ารุนแรงแค่ไหน ใครบ้างที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ ไปจนถึงการสื่อสารเรื่องกฎหมายกับพฤติกรรมการโฆษณาเครื่องดื่มมึนเมา จะได้ไม่มีการเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ดีกว่า ปล่อยให้เกิดความเข้าใจผิด แล้วมีการโฆษณาเครื่องดื่มมึนเมาต่อไป ไม่จบสิ้น ซึ่งอาจจะเป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุ และความสูญเสียที่เกิดตามมาในอนาคต”

พลพีร์ ยังระบุอีกว่า พฤติกรรมความผิด ซึ่งหน้าขนาดนี้ สสส. ต้องทบทวนบทบาทของตัวเอง ว่าจะเข้าไปจัดการอย่างไรได้บ้าง อย่าปล่อยให้เขาเรียกหน่วยงานท่านว่าองค์กรเสือกระดาษอีกเลย เวลาที่ท่านจะได้แสดงออกถึงความจริงใจในการปฏิบัติหน้าที่มาถึงแล้ว

ตามมาติดๆ เมื่อ ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชา ธิปัตย์ ออกมาตอบโต้ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส.กทม. พรรคก้าวไกล ที่ให้สัมภาษณ์ว่าให้กลับไปดูพรรคให้เลือกหัวหน้าพรรคให้ได้ก่อนที่จะมาติงเรื่อง “หมออ๋อง” ปดิพัทธ์ โพสต์รูปภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ว่า เมื่อกฎหมายยังบังคับใช้อยู่ทุกคนก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย

และหากถ้าแน่จริงให้ เท่าพิภพลองโพสต์ข้อความในลักษณะเดียวกับปดิพัทธ์สักโพสต์จะได้ดูกันว่าผลจะ เป็นอย่างไร อย่าเอาความถูกใจมาละเมิดกฎหมาย ปากบอกจะเป็นผู้นำมาบริหารบ้านเมืองเรื่องแค่นี้ยังปฏิบัติตามกฎหมายไม่ได้ใครจะกล้าฝากความหวังไว้ที่พวกคุณ

ยังไม่จบแค่นี้ แต่โฆษก ปชป. ยังขยี้ต่อว่า ตาม พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควบคุมในเรื่องการโฆษณาไว้ มีเจตนารมณ์เพื่อปกป้องสังคมไม่ให้มีการโฆษณา

มาตรา 32 ระบุใจความสำคัญไว้ 2 กรณี คือ ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า คือการโฆษณาเสนอขายหรือส่งเสริมการขายกฎหมายห้าม และห้ามแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมกับการมีข้อความหรือพฤติการณ์ที่เป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้คนอื่นอยากจะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดังกล่าว

ส่วนมวยต่างรุ่น “ใหญ่” กับ “เล็ก” ก็ซัดกันไม่แผ่ว เมื่อ “อดิศร เพียงเกษ” ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ก็ฟาดฝีปากกับ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล” ผ่านการทวีตข้อความ

วิโรจน์ ว่า “ผมไม่รู้ ขึ้นมรึงกรู กับใคร หาตะกร้อครอบปากไว้ จะดีกว่า ระงับอารมณ์ ข่มจิต กิริยา มาแต่ตัว มาหาตรีนข้างหน้า…มันไม่ดี(นะ)….”

อดิศร ระบุว่า ให้กำลังใจพรรคก้าวไกลในการลงสนามเลือกตั้ง สส.จังหวัดระยอง และเตือนการปราศรัยของวิโรจน์ ที่ใช้ข้อความปราศรัยไม่สุภาพขึ้นมรึงกรู พร้อมพูดเหน็บแนมว่าให้เอาถ้าขึ้นกรูขึ้นมรึงอย่างนี้ ก็ไปเอาตะกร้อมาครอบปากดีกว่า

...ในฐานะที่ยังรักกันอยู่ก็ขอเตือนกันไว้ อวยพรให้ชนะการเลือกตั้งซ่อม และเตือนว่าครั้งหน้าอย่าเพลินกับอารมณ์ เพราะว่ามันโกรธนะ

สายน้ำไม่ไหลย้อนกลับฉันใด สส.ก้าวไกล ก็มีมติเอกฉันท์ ฉันนั้นว่า จะไม่โหวตให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลผสมข้ามขั้ว เพื่อแสดงจุดยืนว่า ไม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้

โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลผสมข้ามขั้วภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยนำพรรครัฐบาลขั้วเดิมเกือบทั้งหมดมาร่วมจัดตั้งรัฐบาล เท่ากับขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชนที่แสดงออกอย่างชัดเจนในวันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ว่า ต้องการพลิกขั้วรัฐบาล

และการที่พรรคก้าวไกลจะโหวตให้แคนดิเดตนายกรัฐบาลผสมข้ามขั้ว ไม่ใช่การปิดสวิตช์ สว. แต่เป็นการเดินตาม สว. เพื่อปิดสวิตช์ก้าวไกล

หากทุกพรรคการเมือง มีเจตนาที่จะปิดสวิตช์ สว. และเคารพเจตจำนงของประชาชนอย่างแท้จริง ก็ต้องแสดงออกโดยการโหวตให้รัฐบาลเสียงข้างมากที่จัดตั้งโดยก้าวไกลตั้งแต่แรก ไม่ใช่การจัดตั้งรัฐบาลตามความต้องการของ สว. และอ้างว่าปิดสวิตช์ สว.

แม้ขณะนี้จะยังไม่มีความชัดเจนเรื่ององค์ประกอบคณะรัฐมนตรี แต่ชัดแล้วว่าหน้าตาคณะรัฐมนตรีจะไม่แตกต่างจากรัฐบาลเดิม พรรคก้าวไกลไม่เชื่อว่าการจัดตั้งรัฐบาลโดยเกรงใจผู้มีอำนาจแต่ไม่เกรงใจประชาชน จะผลักดันวาระที่ก้าวหน้าและนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาให้ประชาชนอย่างแท้จริงได้

นอกจากนี้ยังทิ้งท้ายอีกว่า การไม่โหวตให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีผสมข้ามขั้ว ไม่ได้พิจารณาบนพื้นฐานของคุณสมบัติของตัวแคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย แต่ตัดสินใจบนจุดยืนทางการเมือง และคำสัญญา “มีเราไม่มีลุง มีลุงไม่มีเรา” ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง และไม่สามารถตระบัดสัตย์ต่อประชาชนได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง