ฟาร์มกังหันลมรังนกเทียม ที่อยู่ของนกใกล้สูญพันธุ์ ช่วยผลิตพลังงานไฟฟ้า

Logo Thai PBS
ฟาร์มกังหันลมรังนกเทียม ที่อยู่ของนกใกล้สูญพันธุ์ ช่วยผลิตพลังงานไฟฟ้า
บริษัทฟาร์มกังหันลมได้สร้างรังนกเทียมขนาดใหญ่บริเวณแนวชายฝั่งตะวันออกของอังกฤษ เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของนกทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์และช่วยผลิตพลังงานไฟฟ้าได้กว่า 2.85 กิกะวัตต์ ในคราวเดียวกัน

บริษัทผู้ผลิตฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งและวิศวกรทางทะเล ได้ร่วมมือกันติดตั้งรังนกเทียม 3 แห่ง ใกล้แนวชายฝั่งตะวันออกของอังกฤษ เพื่อเป็นที่อยู่ของนกคิตติเวก (Kittwakes) ที่อยู่ในรายชื่อนกที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการลดลงของจำนวนนก โดยมีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์สายพันธุ์ของนกที่มีจำนวนลดลง ในขณะเดียวกันการเข้ามาอยู่อาศัยของนกก็สามารถช่วยผลิตพลังงานไฟฟ้าสะอาด ซึ่งเป็นการสนับสนุนการใช้พลังงานสีเขียวและพลังงานหมุนเวียน

โครงสร้างของรังเทียมแต่ละหลังสามารถให้นกทำรังเพื่ออยู่อาศัยได้มากถึง 500 รัง โดยผนังของรังเทียมถูกสร้างเพื่อเลียนแบบที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของนกชนิดนี้ และยังตั้งใจทาสีขาวนวลเพื่อให้กลมกลืนกับทั้งมหาสมุทรและท้องฟ้า ในขณะที่ภายในตกแต่งด้วยโต๊ะ เก้าอี้ และกระดานไวท์บอร์ดสำหรับนักวิจัยที่มาเยี่ยมชมสถานที่

การให้นกเหล่านี้ย้ายไปสู่รังเทียมที่ใช้ระบบพลังงานสีเขียวสามารถช่วยอนุรักษ์สายพันธุ์นกในระยะยาว เพราะรังเทียมเหล่านี้จะช่วยให้นกมีพื้นที่ทำรังอย่างปลอดภัย รวมถึงแม่นกก็จะสามารถเลี้ยงดูลูกอ่อนให้เจริญเติบโตโดยห่างไกลจากผู้ล่า รวมถึงการเข้ามาอยู่อาศัยของนกยังเป็นการช่วยสร้างพลังงานไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทผู้ผลิตฟาร์มกังหันลมตั้งเป้าผลิตพลังงานไฟฟ้าสะอาดเพื่อตอบสนองความต้องการเฉลี่ยต่อวันของบ้านในสหราชอาณาจักร 3 ล้านหลัง และคาดว่ารังเทียมนี้จะช่วยให้มีกำลังการผลิตพลังงานสูงถึง 2.85 กิกะวัตต์

บริษัทเจ้าของโครงการนี้เชื่อว่า เทคโนโลยีนี้จะเข้ามามีส่วนช่วยให้สหราชอาณาจักร มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน เรียกได้ว่าทั้งเป็นการช่วยอนุรักษ์สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์และได้ผลิตพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืนในคราวเดียวกัน

ที่มาข้อมูล: popsci, designboom, electrek
ที่มาภาพ: orstedcdn

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง