เยือน "เชียงตุง" เส้นทางเศรษฐกิจเชื่อมเมียนมา เปิดโลกวัฒนธรรม-ล้านนา

ภูมิภาค
22 ส.ค. 66
15:03
2,588
Logo Thai PBS
เยือน "เชียงตุง" เส้นทางเศรษฐกิจเชื่อมเมียนมา เปิดโลกวัฒนธรรม-ล้านนา
การเดินทางไป จ.เชียงตุง ประเทศเมียนมา หัวเมืองรัฐฉานตะวันออก เส้นทางเชื่อมโยงการค้า-เศรษฐกิจ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ระยะทางเพียง 160 กิโลเมตร

เมื่อต้นเดือนสิงหาคม ทีมข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคเหนือ เดินทางไปเชียงตุง กับนักศึกษาปริญญาเอก มจร.วิทยาเขตเชียงใหม่ เพื่อแลกเปลี่ยนด้านการศึกษา วัฒนธรรม และประเพณี

การเดินทางเข้าประเทศเมียนมาไปเมืองเชียงตุง ใช้เพียงหนังสือผ่านแดนชั่วคราว ผ่านพรมแดนแม่สาย-เชียงตุง และต้องไปกับบริษัททัวร์ ที่มีไกด์เท่านั้น ที่รัฐบาลทหารเมียนมา อนุญาตในตอนนี้

การเดินทางระยะทาง 160 กม. เท่า ๆ กับเส้นทาง เชียงใหม่-เชียงราย แต่การเดินทางไป จ.เชียงตุง ใช้เวลาเดินทางราว 5-6 ชั่วโมง แม้ถนนดีขึ้นมากแล้ว แต่ด่านในชุมชนและด่านเข้าแต่ละเมืองมีหลายจุด

ในช่วงที่รัฐบาล นางอองซาน ซูจี บริหารประเทศ ได้สั่งยกเลิกด่านท้องถิ่นทั้งหมด และเริ่มกลับมามีอีกครั้ง หลังรัฐบาลทหารเมียนมากลับมาบริหารประเทศ และการเดินทางภายในประเทศยังมีประกาศเคอร์ฟิว ให้เดินทางได้เฉพาะช่วงเวลา 06.00-22.00 น.เท่านั้น การเดินทางเข้า-ออก แต่ละเมือง จะมีด่านตรวจ แม้จะเป็นรัฐเดียวกัน โดยให้ไกด์เป็นคนติดต่อทั้งหมด

หลังการเดินทางเกือบ 3 ชั่วโมงก็มาถึงเมืองพยาก จุดนี้เป็นจุดกึ่งกลางเชื่อมไประหว่าง เชียงตุง- เมืองพยาก เมืองยอง มีเมืองพยากเป็นจุดจอดรถ พักกินข้าว

อาหารของที่นี่จะคล้ายกับอาหารในภาคเหนือของไทย โดยเฉพาะข้าวซอย หรือก๋วยเตี๋ยวของคนรัฐฉาน เหมือนก๋วยเตี๋ยวหมูก๋วยเตี๋ยวไก่ในบ้านเราด้วยเงิน 10,000 จ๊าต สามารถซื้อข้าวซอยได้ 4 ชาม เฉลี่ยชามละ 20 กว่าบาท

เมื่อสังเกตพบว่า ชาวรัฐฉานชอบกินผงชูรสเป็นเครื่องปรุงสำคัญ ที่ขาดไม่ได้ในชุดเครื่องปรุงรสบนโต๊ะ

ส่วนสินค้าในตลาดเกือบทั้งหมด เป็นสินค้าที่นำเข้าไปจากประเทศไทย ยกเว้นอาหารป่าและอาหารท้องถิ่น เช่น เขียด แมลงต่างๆ

เมื่อผู้สื่อข่าวชื้อชาเย็นใส่ถุง ก็พบว่าถุงเป็นภาษาไทย เพราะในรัฐฉานมีการใช้ภาษาไทย พม่า ไทยใหญ่ และอังกฤษ ดังนั้นไม่ต้องห่วงว่าจะสื่อสารกันไม่เข้าใจ

สินค้าเกือบทั้งหมดนำเข้าจากไทย ละคร และเพลงไทย ก็เป็นสิ่งบันเทิงที่ชาวบ้านดูทุกวัน

ผู้สื่อข่าวคุยกับคนพยากทำให้ทราบว่า ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยใหญ่ และสอบถามทำไมจึงพูดไทยชัด ได้รับคำตอบว่า หลายคนเคยเดินทางมาประเทศไทย หรือเคยทำงานในประเทศไทย แต่สิ่งที่ทำให้พูดภาษาไทยได้ น่าจะเป็นอิทธิพลของสื่อในประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะละครไทย เป็นสิ่งที่ชื่นชอบของชาวพยาก

หลังจากนั้นก็ขึ้นรถตู้ ผ่านถนนเลียบแม่น้ำแห่งหนึ่ง เรียกว่าแม่น้ำขึน เป็นแม่น้ำสายหลักของคนเชียงตุง ตลอดเส้นทางมีบ้านเรือนชาวบ้าน ส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์ กลุ่มต่างๆ ที่มากหน่อย คือชาวอาข่า ที่พูดภาษาเดียวกัน และเป็นเครือญาติ กับชาวอาข่าในฝั่งไทยชาวอาข่า นับถือพุทธ และคริสต์

สังเกตได้จากวัด และโบสถ์ มีคริสตจักรมาเผยแพร่ ส่วนศาสนาพุทธ ที่ทำงานเข้มข้น มีกลุ่มพระในภาคเหนือ ที่ทำงานเชื่อมโยงกันและมีโรงเรียนสอนหนังสือรูปแบบ โรงเรียนพระปริยัติธรรม ซึ่งเรื่องการจัดการศึกษา

เดินทางมาเกือบ 5 ชั่วโมง เมื่อใกล้ถึงเมืองเชียงตุง จะพบบ้านเก่าๆ หลังคามุงกระเบื้องดินแทรกตัวอยู่ตามอาคารสมัยใหม่ บ้านหลังคากระเบื้องดิน ตอนนี้เริ่มลดลงเรื่อยๆ เปลี่ยนเป็นบ้านสมัยใหม่ คาดว่า อีกไม่นานก็คงหายไปเหมือนกับเมืองต่างๆ ในภาคเหนือของไทย ลาวและจีนตอนใต้

น่าเสียดาย อาคารเก่าๆ หลังคามุงกระเบื้องดินขอ ในเมืองเชียงตุง ได้เปลี่ยนผ่าน ตามยุดสมัยเปลี่ยนเป็นอาคารแบบสมัยใหม่

เมื่อเข้ามาเชียงตุงจะพบด่าน แต่สิ่งที่เห็นสิ่งแรกที่บอกว่าจริงๆ คือ กำแพงเมือง และ "ต้นไม้หมายเมือง" คือต้นยางนา ขนาดใหญ่บอกว่ามาถึงเขตเมืองแล้ว เหมือนไม้หมายเมือง ที่เชียงใหม่ คือ ต้นยางนา เพราะความเชื่อ วิถีของคนเชียงตุง ต้องบอกว่า หลายๆอย่าง คือ รากร่วมเดียวกัน

รอติดตามตอนต่อไป ผมจะมาเล่าว่าเชื่อมโยงกันอย่างไรกับเชียงใหม่ และจังหวัดในภาคเหนือ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง