"ยิงปืนป้องกันตัวเอง" ความผิดที่ไทย เสรีภาพที่อเมริกา

ต่างประเทศ
30 ส.ค. 66
15:03
2,734
Logo Thai PBS
"ยิงปืนป้องกันตัวเอง" ความผิดที่ไทย เสรีภาพที่อเมริกา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ชายเจ้าของห้อง ในสหรัฐฯ ใช้ปืนยิงขู่ชาย 2 คนที่อ้างตัวเป็นช่างซ่อมแอร์ เพื่อป้องกันตนเองจากการพยายามบุกเข้าห้อง เหตุการณ์นี้ไม่ถือเป็นความผิดในสหรัฐฯ แต่หากเกิดที่ไทย ตามกฎหมายนับเป็นความผิดและต้องพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาล

เมื่อวันที่ 29 ส.ค.2566 สำนักข่าว BBC รายงาน เหตุการณ์ชายเจ้าของห้องในอะพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่ง รัฐเท็กซัส สหรัฐฯ ใช้ปืนยิงขู่ชาย 2 คนที่อ้างว่าเป็นช่างซ่อมแอร์ เพื่อป้องกันตัวเองจากการพยายามบุกเข้าห้อง คาดผู้ก่อเหตุประสงค์ต่อทรัพย์

เหตุดังกล่าวเริ่มจาก ชายผู้ก่อเหตุ 2 คนเดินมากดกริ่งพร้อมกล้องวงจรปิดหน้าห้องของ "อีธาน โรดริเกซ" เจ้าของห้อง พร้อมแนะนำตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ซ่อมบำรุง ได้รับคำสั่งให้มาตรวจเช็กเครื่องปรับอากาศในห้อง แต่ โรดริเกซ เห็นความผิดปกติจากเสื้อผ้าของชายทั้ง 2 คนว่าพวกเขาไม่ได้ใส่ชุดเครื่องแบบ จึงส่งเสียงปฏิเสธไป โดยบอกว่าไม่มีใครอยู่บ้าน ขอให้มาตรวจในวันอื่น ทางชายผู้ก่อเหตุ 2 คน จึงตอบขอบคุณไป

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

แต่หลังจากสิ้นเสียงขอบคุณ ชายทั้งคู่ชักปืนออกมา และเริ่มกระโดดถีบประตูห้องของ โรดริเกซ ทันที แต่เจ้าของห้องตกใจและรีบตั้งสติ ไปคว้าปืนจากกระเป๋าออกมาแล้วยิงขู่ผ่านประตูห้อง เฉียงไปทางกำแพงเพื่อป้องปราบเหตุ 

เหตุการณ์ดังกล่าวไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และผู้ก่อเหตุทั้ง 2 รีบหนีไป โรดริเกซ ให้สัมภาษณ์กับ BBC ว่าหลังจากเกิดเหตุการณ์นี้เขาย้ายที่อยู่ทันที ในขณะที่ รัฐเท็กซัสมีกฎหมายอนุญาตให้ประชาชนใช้กำลังหรืออาวุธปืนในการป้องกันตัวเองเพื่อปกป้องตนเองและทรัพย์สิน หากพวกเขาเชื่อว่ากำลังเกิดภัยซึ่งหน้า เพื่อต่อต้านการใช้กำลังที่ผิดกฎหมาย

อ่านข่าวอื่น : "เสรีพิศุทธ์" ลาออก สส. เปิดทาง "เลขาฯ เสรีรวมไทย" เสียบแทน

ปืน+คนอเมริกัน=เสรีภาพ 

โศกนาฏกรรมกราดยิงเกิดขึ้นในสหรัฐฯ หลายครั้ง สาเหตุหลักคือความเครียดสะสมของผู้ก่อเหตุ แต่ปัจจัยที่กระตุ้นให้ผู้ก่อเหตุสามารถลงมือได้ง่ายและเร็วขึ้นคือ "อาวุธปืน" 

รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา มาตรา 2 (Second Amendment) บัญญัติว่า อนุญาตให้ชาวอเมริกันที่อายุ 21 ปีขึ้นไป (หรือ 18 ปีในบางรัฐ) มีสิทธิครอบครองอาวุธปืนเพื่อป้องกันตนเองโดยชอบธรรม จึงทำให้สังคมอเมริกันมองว่า การมีปืน คือเรื่องปกติ และเป็นสิทธิเสรีภาพในการมีปืนไว้ป้องกันตัวเองและทรัพย์สิน 

ข้อมูลจาก Small Arms Survey ระบุว่าในปี 2561 มีการจำหน่ายอาวุธปืนสั้นทั่วโลกมากกว่า 1,000 ล้านกระบอก อยู่ในมือพลเรือนมากถึง 857 ล้านกระบอก และสหรัฐฯ คือประเทศที่มีผู้ครอบครองอาวุธปืนมากที่สุดในโลก โดยเฉลี่ยประชากร 100 คน จะมีปืน 120 กระบอก (นั่นหมายถึง คน 1 คนอาจมีปืนมากกว่า 1 กระบอก) 

ผู้คนร่วมไว้อาลัย 11 ผู้เสียชีวิต เหตุการณ์กราดยิงที่สมาคมเต้นบอลรูมในเขต มอนเทอเรย์ พาร์ค แคลิฟอร์เนีย

ผู้คนร่วมไว้อาลัย 11 ผู้เสียชีวิต เหตุการณ์กราดยิงที่สมาคมเต้นบอลรูมในเขต มอนเทอเรย์ พาร์ค แคลิฟอร์เนีย

ผู้คนร่วมไว้อาลัย 11 ผู้เสียชีวิต เหตุการณ์กราดยิงที่สมาคมเต้นบอลรูมในเขต มอนเทอเรย์ พาร์ค แคลิฟอร์เนีย

ทุกๆ ครั้งที่มีคดีกราดยิงในสหรัฐฯ กฎหมายการควบคุมการใช้ปืนก็จะถูกนำมาถกเถียงกันแทบทุกครั้ง แต่การจะปฏิรูปให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริงกลับเป็นเรื่องที่ยาก เพราะรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องพบอุปสรรคหลายประการ อาทิ

  1. การแบ่งเขตเลือกตั้งที่เอื้อประโยชน์ การแบ่งเขตเลือกตั้งในสหรัฐฯ ถูกกำหนดโดย สส.ฝ่ายรีพับลิกัน ซึ่งแบ่งเขตเพื่อเอาใจผู้ลงคะแนนเสียงที่เห็นด้วยกับการสนับสนุนให้คนมีปืน 
  2. การอภิปรายในสภาคองเกรส ที่ทำให้การเข้มงวดกฎหมายครอบครองปืนไม่ผ่านร่างกฎหมายสักที เพราะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา 60 จาก 100 คนขึ้นไป ซึ่งจำนวน สว.จากรัฐที่ต้องการควบคุมปืนนั้น มีจำนวนคนน้อยกว่า สว.จากรัฐที่สนับสนุนให้คนพกปืน
  3. ศาล ระบบตุลาการกลางของสหรัฐฯ ยังยึดแนวทางเดิม และมักอ้างว่า ตาม รธน.มาตรา 2 เป็นสิทธิเสรีภาพของชาวอเมริกันทุกคนที่สามารถครอบครองปืนได้

อ่านข่าวอื่น : ดินเนอร์กับ "เจ้าสัวแสนล้าน" อย่าลืมฝันคนจน 1 หมื่นบาท

ปืน+คนไทย=ผิดกฎหมาย

ประเทศไทยมีความคิดในการออกกฎหมายควบคุมการมีและใช้อาวุธปืนมานานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งใน พ.ศ.2294 ออก "กฎให้แก่ผู้รักษาเมือง ผู้รั้งกรมการเมือง จ.ศ.144" ต่อมามีข้อบังคับอยู่ในรูปของประกาศ จนกระทั่งได้มาออกเป็น พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน

แต่เดิมคนไทยมีสิทธิและเสรีภาพในการครอบครอง ซื้อขายอาวุธปืนได้อย่างเสรี ต่อมาตระหนักได้ว่า อาวุธปืนมีอันตรายมากและมีอำนาจทะลุทะลวงได้สูงเกิดกว่าที่มนุษย์จะคาดคิดได้ เช่น ยิงทะลุรถยนต์ ทะลุผนังบ้าน หรือแม้กระทั่งทะลุตัวมนุษย์เอง จึงได้เกิดการกำหนดข้อห้ามไม่ให้มีการยิงปืนโดยไม่มีเหตุอันควรขึ้น

ต่อมาได้มีการออกกฎเกณฑ์กำหนดไม่ให้พกพาอาวุธปืนเข้าไปในงานรื่นเริงหรืองานนักขัตฤกษ์ และเมื่ออาวุธปืนมีการครอบครองและใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น จึงได้มีการกำหนดให้มีการจดทะเบียนอาวุธปืนเฉกเช่นเดียวกับที่กำหนดในต่างประเทศ และออกข้อกำหนดในการซื้อขาย แลกเปลี่ยน และ การโอนอาวุธปีน โดยต้องได้รับความยินยอมหรือได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนด้วย

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

สำหรับการใช้อาวุธปืนยิงขู่ขโมยในบ้าน เพื่อป้องกันตัวเองได้หรือไม่นั้น สำนักงานกิจการยุติธรรม ให้ข้อมูลว่า 

เมื่อมีขโมยเข้าบ้านและมีท่าทีจะทำร้ายเรา แต่เราใช้ปืนยิงขู่เพื่อป้องกันตัวและให้โจรหยุดการกระทำ ถือว่าเป็นการกระทำโดยสมควรแก่เหตุและเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายจึงไม่มีความผิด แต่ถ้าขโมยวิ่งหนีแล้วเราวิ่งตามไปยิงเพื่อจะฆ่าด้วยความแค้น กฎหมายจะไม่คุ้มครองเพราะถือว่าทำเกินกว่าเหตุ 

การป้องกันตัวนั้นจะสิ้นสุดเมื่อ ภัยคุกคามนั้นไม่มีสภาพเป็นภัยคุกคาม สิทธิที่จะอ้างการป้องกันตัวย่อมหมดไปเช่นกัน

โดยอ้างอิงจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้าย อันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด

และ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 69 ในกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 67 และมาตรา 68 นั้น ถ้าผู้กระทำได้กระทำไปเกินสมควรแก่เหตุ หรือเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็นหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ แต่ถ้าการกระทำนั้นเกิดขึ้นจากความตื่นเต้น ความตกใจ หรือความกลัว ศาลจะไม่ลงโทษผู้กระทำก็ได้

อ่านข่าวอื่น : ไทยพบ 2 คนแรก "โอมิครอนกลายพันธุ์ HK.3" ยังไม่ชัดแพร่เชื้อเร็ว

ยิงกี่นัด? ยิงซ้ำได้หรือไม่?

กองปราบปราม ให้ข้อมูลเรื่องของ การใช้อาวุธปืนเพื่อปกป้องชีวิต นั้น ไม่มีกฎหมายข้อใดที่กำหนดไว้ว่า จะยิงได้ กี่นัด แต่ทั้งนี้ เมื่อมีภัยคุกคาม (ต้องเป็นภัยคุกคามที่อันตรายถึงชีวิตและใกล้จะถึง) เราสามารถใช้อาวุธปืนยิงได้ จนกว่าภัยคุกคามนั้นจะ "หมดสภาพ" ความเป็นภัยคุกคาม

หรือจำเป็นหลักง่ายๆ ว่า ยิงได้จนกว่าภัยคุกคามนั้นจะหมดไป และเมื่อภัยคุกคามนั้นหยุดแล้ว ห้ามยิงซ้ำ

แต่ต้องไม่ลืมว่า การพิจารณาคดีในประเทศไทย มีศาลเป็นผู้ตัดสิน โดยใช้ระบบไต่สวนและระบบกล่าวหา ดังนั้นหากก่อเหตุยิงจริง แม้จะมีเจตนาทำเพื่อป้องกันตัวหรือระงับเหตุ ผู้ยิงก็ยังคงต้องถูกตั้งข้อกล่าวหาฐานความผิดไว้ก่อน และค่อยไปพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาล ตามลำดับขั้นตอนกันไป 

อ่านข่าวอื่น : เร่งฟื้นฟู "ต้นไทร 150 ปี" จากไฟป่ารัฐฮาวาย

ที่มา : BBC, Small Arms Survey, กองปราบปราม, รัฐสภา, สำนักงานกิจการยุติธรรม 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง