เรื่องเล่าของ "มัจฉาณุ-วิรุณ-สินสมุทร-พลายชุมพล"

ไลฟ์สไตล์
4 ก.ย. 66
20:05
1,676
Logo Thai PBS
เรื่องเล่าของ "มัจฉาณุ-วิรุณ-สินสมุทร-พลายชุมพล"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แนวความคิดในการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทยมีมานาน จนกระทั่งปลายปี 2477 สส.ได้อนุมัติ พ.ร.บ.บำรุงกำลังทางเรือ 2478 ให้กองทัพเรือจัดหาเรือดำน้ำ จนกระทั่งไทยสั่งสร้าง "เรือดำน้ำ" 4 ลำแรกของไทย "มัจฉาณุ-วิรุณ-สินสมุทร-พลายชุมพล"

ร.6 ทรงสนพระราชหฤทัยในเรื่องเรือดำน้ำ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงสนพระราชหฤทัยในเรื่องเรือดำน้ำ เห็นได้จากพระราชนิพนธ์เรื่อง ร.ต.ล.นนทรีและมหาตมะ พระองค์ทรงเรียกเรือประเภทนี้ในหนังสือพิมพ์รายเดือนสมุทรสาร ฉบับเดือน มิ.ย.2459 ว่า "เรือใต้น้ำ" ต่อมาในสมัยต้นรัชกาลที่ 7 พล.ร.อ.สินธุ์กมลนาวิน ได้ให้ชื่อเรือว่า "เรือดำน้ำ"

บทละครพูดเรื่อง ร.ต.ล.นนทรีและมหาตมะ พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.6

บทละครพูดเรื่อง ร.ต.ล.นนทรีและมหาตมะ พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.6

บทละครพูดเรื่อง ร.ต.ล.นนทรีและมหาตมะ พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.6

ต่อมาในเดือน ธ.ค.2460 ร.6 ทรงติดต่อกับกองทัพเรืออังกฤษ ขออนุญาตให้นายทหารเรือไทยได้เข้าศึกษาการใช้เรือดำน้ำในกองทัพเรืออังกฤษ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ น.ต.หลวงหาญสมุทร เข้าศึกษาจนสำเร็จเป็นคนแรก และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้ไปประจำการในกองเรือดำน้ำแห่งกองทัพเรืออังกฤษ ในสงครามโลกครั้งที่ 1

ต่อมา กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ทรงกลับเข้ารับราชการดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ หลังสงครามโลก ครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง ได้ทรงมีรายงานกราบบังคมทูล ร.6 ความบางตอนว่า 

... ถ้ากรุงสยามมีเรือดำน้ำจะเป็นเครื่องป้องกันสำคัญมาก
หรือจะนับว่าเป็นเครื่องป้องกันอย่างดีที่สุดก็ว่าได้ ... 

กองทัพเรือตกลงใจสร้างเรือดำน้ำ

ความคิดที่จะมีเรือดำน้ำในกองทัพเรือได้กลายเป็นความจริง หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยช่วงปลายปี 2478 สภาผู้แทนราษฎรได้อนุมัติ พ.ร.บ.บำรุงกำลังทางเรือ 2478 ให้กองทัพเรือจัดการบำรุงกำลังทางเรือให้เสร็จภายในเวลา 6 ปี ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 18 ล้านบาท 

กองทัพเรือได้เรียกประกวดราคาสร้างเรือดำน้ำในเดือน ต.ค.2478 และได้ตกลงว่าจ้าง บ.มิตซูบิชิ ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาต่ำที่สุด และเมื่อวันที่ 5 พ.ย.2478 กองทัพเรือไทยลงนามเซ็นสัญญากับ บ.มิตซูบิชิ สร้างเรือดำน้ำชนิดรักษาชายฝั่งทะเลทั้งหมด 4 ลำ ราคาลำละ 820,000 บาท โดยเงื่อนไขคือ สร้างที่ญี่ปุ่น ส่งนายทหารสัญญาบัตรและประทวน ไปศึกษาการใช้เรือดำน้ำในญี่ปุ่น โดยจักรพรรดินาวีญี่ปุ่นจัดครูและเรือฝึกให้ เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ ได้รับพระราชทานชื่อภายหลังว่า

  1. ร.ล. (เรือหลวง) มัจฉาณุ หมายเลข 1 
  2. ร.ล.วิรุณ หมายเลข 2
  3. ร.ล.สินสมุทร หมายเลข 3
  4. ร.ล.พลายชุมพล หมายเลข 4
แปลนการสร้างเรือดำน้ำทั้ง 4

แปลนการสร้างเรือดำน้ำทั้ง 4

แปลนการสร้างเรือดำน้ำทั้ง 4

การเดินทางกลับประเทศไทยของเรือดำน้ำ

5 มิ.ย.2481 เรือดำน้ำแห่งราชนาวีไทยถอนสมอ เคลื่อนที่ออกจากน่านน้ำแห่งประเทศญี่ปุ่นสู่ประเทศไทย พร้อมกันทั้ง 4 ลำ โดยไม่มีเรือพี่เลี้ยง ความประหลาดใจแก่ชาวญี่ปุ่นและชาวอเมริกัน ที่ได้พบปะกันที่ฟิลิปปินส์ เป็นอย่างมาก เพราะเรือดำน้ำขนาดเล็กเช่นนี้ต่างย่อมมีเรือพี่เลี้ยงทั้งสิ้น

นี่เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงสมรรถภาพและความสามารถของลูกนาวีไทย

เรือหลวงทั้ง 4 ถึงกรุงเทพฯ เมื่อ 29 มิ.ย.2481 รวมระยะทางทั้งสิ้นกว่า 3,000  ไมล์ ได้รับการต้อนรับจากประชาชนและทางราชการอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง 

หลังจากขึ้นระวางประจำการแล้ว ก็ได้ออกฝึกปฏิบัติการดำน้ำในทะเลไทยต่างๆ กระทั่งเข้าร่วมในสงคราม

การปฏิบัติงานระหว่างสงคราม

สงครามอินโดจีน ภายหลังการยุทธเกาะช้าง ช่วงหลังจาก ร.ล.ธนบุรี และ เรือตอร์ปิโด ถูกเรือฝรั่งเศสยิงจมแล้ว เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ ไปการลาดตระเวน 4 แนว อยู่บริเวณหน้าฐานทัพเรือเรียมของอินโดจีนฝรั่งเศส ใช้เวลาอยู่ใต้น้ำทั้งสิ้นลำละ 12 ชั่วโมงในเวลากลางวัน นับเป็นปฏิบัติการดำที่นานที่สุด นับแต่เริ่มตั้งหมวดเรือดำน้ำมา มีหลักฐานปรากฏจากฝ่ายฝรั่งเศสถึงความหวั่นเกรงเรือดำน้ำทั้ง 4 ลำของไทยมาก 

ผรั่งเศสตัดสินใจเสี่ยงเข้ามาปฏิบัติการในอ่าวไทยในช่วงระยะเวลาที่สั้นมาก
เมื่อปฏิบัติการเสร็จก็รีบถอนตัวกลับทันที เพราะเกรงว่าจะถูกโจมตีด้วยเรือดำน้ำ

ปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดโจมตีกรุงเทพฯ และ ชานเมือง ทำให้เรือรบทุกลำไม่สามารถแล่นต่อได้ ร.ล.พลายชุมพล และ ร.ล.สินสมุทร ที่ออกปฏิบัติราชการและจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ต้องเปลี่ยนเส้นทางไปที่เกาะสีชัง กวาดทุ่นระเบิดแม่เหล็กให้เสร็จเรียบร้อย 

เรือหลวงพลายชุมพล

เรือหลวงพลายชุมพล

เรือหลวงพลายชุมพล

เรือหลวงสินสมุทร

เรือหลวงสินสมุทร

เรือหลวงสินสมุทร

ขณะที่โรงไฟฟ้าสามเสนและวัดเลียบที่จ่ายกระแสไฟประจำวันถูกระเบิดเรียบ ทำให้กรุงเทพฯ ยามราตรีมีแต่ความมืดมิด กองทัพเรืออนุมัติให้ ร.ล.มัจฉาณุ และ ร.ล.วิรุณ ทำการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้รถรางสายหลักเมือง-ถนนตก วิ่งได้ โดยขณะที่เรือหลวงทั้ง 2 ลำจ่ายกระแสไฟฟ้าอยู่นั้น ทหารบนเรือต้องทำงานเสี่ยงอันตรายอย่างหนัก และคอยหลบภัยทางอากาศอยู่ตลอดเวลา

เรือหลวงมัจฉาณุ และ เรือหลวงวิรุณ

เรือหลวงมัจฉาณุ และ เรือหลวงวิรุณ

เรือหลวงมัจฉาณุ และ เรือหลวงวิรุณ

เรือดำน้ำทั้ง 4 นี้ ได้รับใช้ชาติอย่างสมบูรณ์ในกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส และ ในสงครามมหาเอเซียบูรพา จนตลอดสงครามสงบ จนเริ่มชำรุดทรุดโทรมไปตามอายุขัย ขาดแคลนชิ้นส่วนที่จะใช้ในการซ่อม การสั่งซื้ออะไหล่จาก ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้สร้าง ไม่อาจทำได้ เพราะญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม

กองทัพเรือพยายามซ่อมแซมเรือเหล่านี้เองอยู่หลายปี แต่ก็ไม่บรรลุผลสำเร็จ 

ปลดประจำการ 4 เรือหลวงไทย

ภายหลังเหตุการณ์กบฏแมนฮัดตัน 29 มิ.ย.2494 ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในกองทัพเรืออย่างมาก กระทรวงกลาโหม มีคำสั่งยุบเลิกหมวดเรือดำน้ำ แล้วโอนไปรวมในหมวดเรือตรวจฝั่งที่ตั้งขึ้นใหม่

30 พ.ย.2494 เรือดำน้ำทั้งหมดได้ปลดระวางประจำการไป รวมเวลารับใช้กองทัพเรือ 12 ปีเศษ

หลังจากนั้นเรือทั้ง 4 ลำ ได้จอดคู่เทียบติดกันลอยอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณ รพ.ศิริราช กระทั่งมีการขายเรือดังกล่าวไปให้บริษัทปูนซีเมนต์ คงเหลือแต่หอเรือดำน้ำและอาวุธบางชิ้น เช่น ปืน และ กล้องส่อง ทางกองทัพเรือจึงได้สร้างสะพานเดินเรือจำลองขึ้น และนำอาวุธมาติดตั้งไว้เป็นอนุสรณ์จัดแสดงไว้ที่หน้าพิพิธภัณฑ์ทหารเรือ หน้าโรงเรียนนายเรือ  จ.สมุทรปราการ

เรือหลวงมัจฉาณุในปัจจุบัน ที่พิพิธภัณฑ์กองทัพเรือ โรงเรียนนายเรือ

เรือหลวงมัจฉาณุในปัจจุบัน ที่พิพิธภัณฑ์กองทัพเรือ โรงเรียนนายเรือ

เรือหลวงมัจฉาณุในปัจจุบัน ที่พิพิธภัณฑ์กองทัพเรือ โรงเรียนนายเรือ

ที่มา : นาวิกาธิปัตย์สาร โดย ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ทหารเรือ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง